การประสบกับอาการเบาหวานเป็นสิ่งที่ทำให้ใช้ชีวิตประจำวันได้ลำบากมากขึ้น อาการเหล่านั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับคนที่รู้และไม่รู้ตัวว่าตนเป็นเบาหวานแล้ว ซึ่งในประเทศไทยเรามีจำนวนผู้ป่วยเบาหวานจำนวนมาก ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น และไม่ว่าผู้ป่วยแต่ละคนจะป่วยโรคเบาหวานด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม การสังเกตอาการที่ผิดปกติมักเป็นจุดเริ่มต้นที่พาผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษา
6 สัญญาณอาการเบาหวานเริ่มต้น
ผู้ป่วยเบาหวานจะได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงโดยตรง ซึ่งอาการเบาหวานระยะแรกที่สามารถสังเกตได้มีดังต่อไปนี้
- ปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย เมื่อมีระดับน้ำตาลสูง ร่างกายจะพยายามขับน้ำตาลออกผ่านการปัสสาวะ ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำไปด้วย จึงมีอาการปัสสาวะบ่อย คอแห้ง หิวน้ำ
- หิวบ่อย อ่อนเพลีย น้ำหนักลด เมื่อฮอร์โมนอินซูลินไม่สามารถนำเอาน้ำตาลกลูโคสไปส่งให้อวัยวะต่าง ๆ ใช้เป็นพลังงานได้ ร่างกายจะพยายามสลายพลังงานออกมาจากไขมันและกล้ามเนื้อ จึงมีอาการอ่อนเพลีย หิวบ่อย และน้ำหนักลด
- แผลหายยาก มีการติดเชื้อตามผิวหนังง่าย เกิดฝีบ่อย ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้ประสิทธิภาพของเม็ดเลือดขาวในการกำจัดเชื้อโรคลดลง จึงติดเชื้อได้ง่าย
- คันตามผิวหนัง อาการนี้มีสาเหตุได้หลายอย่าง เช่น ผิวหนังแห้งเกินไป หรือการอักเสบของผิวหนังซึ่งพบได้บ่อยในผู้เป็นเบาหวาน
- ตาพร่ามัว มีสาเหตุหลายอย่าง เช่น สายตาสั้นลง ตามัวจากน้ำตาลในเลือดคั่งในตา ต้อกระจก หรือจอประสาทตาผิดปกติจากโรคเบาหวาน
- ชาปลายมือปลายเท้า หย่อนสมรรถภาพทางเพศ เนื่องจากมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงมาสักระยะ อาจทำให้เส้นประสาทเสื่อม การรับความรู้สึกลดลง จึงชาหรือไม่รู้สึกเจ็บปวด ทำให้เกิดแผลที่เท้าตามมา
พบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการเบาหวาน
เมื่อสังเกตอาการที่ผิดปกติได้ใกล้เคียงกับอาการเบาหวานแล้ว สิ่งที่จะยืนยันความผิดปกตินี้ได้คือการตรวจสุขภาพกับแพทย์โดยปกติผู้ที่ไม่มีโรคเบาหวานก่อนรับประทานอาหารเช้าจะมีระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ที่ 70-99 mg/dl และหลังรับประทานอาหารแล้ว 2 ชั่วโมง ระดับน้ำตาลมักจะไม่เกิน 140 mg/dl
แต่หากมีปัจจัยเสี่ยงหรือผลตรวจดังต่อไปนี้อาจแพทย์อาจวินิจฉัยว่าเสี่ยงหรือเป็นโรคเบาหวาน
- กรณีที่มีอาการของโรคเบาหวาน และมีระดับน้ำตาลในเลือด (ในขณะที่อดอาหารหรือไม่ก็ได้) ตั้งแต่ 200 mg/dl ขึ้นไป
- กรณีที่ไม่มีอาการ แต่ระดับน้ำตาลในเลือด ก่อนรับประทานอาหารเช้า ตั้งแต่ 126 mg/dl ขึ้นไปอย่างน้อย 2 ครั้ง
- กรณีสงสัยว่าเป็นเบาหวาน (มีอาการของเบาหวาน) แต่ระดับน้ำตาลในเลือด ก่อนรับประทานอาหารเช้าไม่ถึง 126 mg/dl ให้ตรวจเพิ่มเติมโดยการทดสอบดื่มสารละลายน้ำตาลกลูโคส
- ในกรณีที่ระดับน้ำตาลในเลือด ก่อนรับประทานอาหารเช้าอยู่ระหว่าง 100-125 mg/dl ถือว่ามีระดับน้ำตาลขณะอดอาหารผิดปกติ (Impaired Fasting Plasma Glucose หรือ IFG) ควรตรวจติดตามอาการทุกปี
หมายเหตุ ในการเจาะเลือดตรวจระดับพลาสม่ากลูโคสให้งดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลหรือรับประทานลูกอม (สามารถดื่มน้ำเปล่าได้)
ใครควรตรวจโรคเบาหวาน
ผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปี และผู้ที่มีอาการของโรคเบาหวาน ดังตัวอย่างที่ได้กล่าวไว้ในหัวข้อแรกควรได้รับการตรวจ
หากอายุไม่เกิน 40 และยังไม่มีอาการของโรคเบาหวาน แต่มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน (ค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 23 สำหรับชาวเอเชีย หรือ มากกว่า 25 สำหรับชาวตะวันตก) ร่วมกับปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวานดังต่อไปนี้อย่างน้อย 1 ข้อ ควรได้รับการตรวจโรคเบาหวาน
- มีญาติสายตรงเป็นโรคเบาหวาน เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง
- มีประวัติความทนต่อน้ำตาลบกพร่อง (IGT) หรือระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ (IFG)
- เคยคลอดบุตรทีน้ำหนักแรกคลอดมากกว่า 4 kg
- เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- มีความดันโลหิตสูงหรือรักษาความดันโลหิตสูงอยู่
- ระดับไขมันในเลือดผิดปกติ (ไขมันดี HDL น้อยกว่า 35 mg/dl และ/หรือ ไตรกลีเซอไรด์มากกว่า 250 mg/dl)
- มีโรคหลอดเลือดตีบแข็ง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคหลอดเลือดส่วนปลายที่เท้าตีบ
- มีโรคหรือลักษณะบ่งว่ามีภาวะดื้อต่ออินซูลิน เช่น กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome หรือ PCOS) ผิวหนังหนาและดำบริเวณต้นคอ หรือรักแร้ (Acanthosis nigricans)
- ไม่ได้ออกกำลังกาย
- มีเชื้อชาติที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคเบาหวาน เช่น ชาวอินเดีย ชาวหมู่เกาะแปซิฟิก
ในผู้ที่มีผลตรวจปกติ ควรมีการตรวจซ้ำทุก ๆ 3 ปี หรือตามความเหมาะสมที่แพทย์แนะนำ
โรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหากละเลยอาการเบาหวาน
หากกำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับโรคเบาหวานแล้วไม่ได้รับการตรวจ และการรักษาเบาหวานอย่างเหมาะสม ในระยะยาวอาจส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรงได้
โรคแทรกซ้อนฉับพลัน
หมายถึงอาการผิดปกติจะเกิดรวดเร็ว รุนแรง ต้องรักษาอย่างรีบด่วน ได้แก่
- ภาวะหมดสติจากน้ำตาลสูงมาก (อาจมีหรือไม่มีกรดคีโตนคั่งในเลือด )
- ภาวะหมดสติจากระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
- การติดเชื้อ
โรคแทรกซ้อนเรื้อรัง
โรคแทรกซ้อนมักเกิดหลังจากเป็นเบาหวานมานาน โดยมีการตีบแข็งและอุดตันของหลอดเลือดทั่วร่างกาย ซึ่งอาจทำไปสู่โรคอันตรายที่สำคัญได้แก่
- หลอดเลือดที่หัวใจตีบ โอกาสเป็นโรคหัวใจ 2-4 เท่าของคนทั่วไป
- หลอดเลือดที่สมองอุดตัน โอกาสเป็นโรคอัมพาต 5 เท่าของคนทั่วไป
- หลอดเลือดที่ไตเสื่อม โอกาสเกิดโรคไตวายขั้นสุดท้าย 20 เท่าของคนทั่วไป
- ตา เลนส์ตาและจอประสาทตาเสื่อม เบาหวานขึ้นตา โอกาสเกิดตาบอด 25 เท่าของคนทั่วไป
- โรคหลอดเลือดตีบที่เท้าและเส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม ทำให้การรับความรู้สึกผิดปกติซึ่งเป็นผลให้เกิดแผลที่เท้าได้ง่าย ในบางรายเป็นเหตุให้ต้องตัดขาในที่สุด
- ระบบประสาทอัตโนมัติเสื่อม เป็นเหตุให้มีอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด ระบบย่อยอาหารและขับถ่ายผิดปกติ สมรรถภาพทางเพศลดลง
หากใช้ชีวิตประจำวันอย่างปกติแล้วสังเกตถึงอาการแปลก ๆ และคล้ายคลึงกับอาการของผู้ป่วยเบาหวาน การตัดสินใจไปพบแพทย์เป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะช่วยเราคัดกรองและยืนยันว่าเป็นโรคเบาหวานหรือไม่
หากมีข้อสงสัยสามารถทำนัด สอบถามข้อมูลหรือปรึกษากับทีมศูนย์อายุรกรรมต่อมไร้ท่อและเมตรบอลิสม (เบาหวาน) ได้ที่ทุกช่องทางการติดต่อของโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา