Skip to content

รู้จักชนิดและสาเหตุโรคหลอดเลือดสมองตีบ แตก ตัน

หน้าแรก  >  บทความเกี่ยวกับสุขภาพ

โรคหลอดเลือดสมอง คืออะไร มีกี่ประเภท

โรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคร้ายแรงที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนทั้งโลก และมักแสดงอาการอย่างกะทันหัน เราถึงต้องรู้ทันสัญญาณอันตรายจากโรคนี้เพื่อพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินให้ดีที่สุด

โรคหลอดเลือดสมองคืออะไร ?

โรคหลอดเลือดสมอง สโตรก (Stroke) หรือคนไทยอาจคุ้นชินกับคำว่า อัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งเป็นอาการอย่างหนึ่งที่สังเกตได้ง่าย อัมพฤกษ์หมายถึงอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงปานกลาง ตามัวครึ่งตา เสียการทรงตัวชั่วขณะ แต่หากกล้ามเนื้อบางส่วนของร่างกายไม่สามารถขยับได้เลย สูญญเสียการทรงตัว พูดไม่ได้ กล้ามเนื้อใบหน้าทำงานไม่เท่ากัน อาการเหล่านี้เป็นอาการรุนแรงและนิยมเรียกว่า อัมพาต

ทั้งนี้ อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นหนึ่งในอาการของโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากหลาย ๆ ปัจจัย แต่สาเหตุหลัก ๆ มาจากทางเดินเลือดมีปัญหา เช่น หลอดเลือดในสมองตีบ อุดตัน หรือฉีกขาด เมื่อเลือดไม่สามารถมาเลี้ยงสมองได้ดีจะทำให้เนื้อเยื่อในสมองขาดเลือดและถูกทำลาย ส่งผลกระทบให้สูญเสียความสามารถในการควบคุมเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย

อันตรายจากโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดเฉียบพลัน

โรคหลอดเลือดสมองเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องเข้ารับการรักษาให้เร็วที่สุด เพราะอาการมักเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและกะทันหัน การสังเกตอาการโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดเฉียบพลันสามารถทำตามได้ง่าย ๆ ด้วยหลักการ BE FAST หมายถึง

  • B – Balance วิงเวียนศีรษะ ทรงตัวไม่ได้
  • E – Eyes มองเห็นภาพซ้อน ตาพร่ามัวข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง
  • F – Face ปากเบี้ยว หน้าเบี้ยวครึ่งหน้าด้านใดด้านหนึ่ง
  • A – Arm แขนขาอ่อนแรงด้านใดด้านหนึ่ง
  • S – Speech พูดติดขัด พูดไม่ชัด เปล่งเสียงลำบาก นึกคำพูดไม่ออก
  • T – Time รีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

หากคนใกล้ตัวมีอาการเหล่านี้หรือถ้าเกิดขึ้นกับเราเอง ควรรีบขอความช่วยเหลือและไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เนื่องจากเวลาที่ผ่านไปแต่ละนาทีคือช่วงเวลาที่เซลล์สมองค่อย ๆ เสียหายมากขึ้น

โรคหลอดเลือดในสมองเกิดจากอะไร ชนิดโรคหลอดเลือดสมอง

สาเหตุและชนิดของโรคหลอดเลือดสมอง

โดยทั่วไปมีการจำแนกชนิดของโรคหลอดเลือดสมองออกเป็น 2 ชนิด คือ หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (ischemic stroke) และหลอดเลือดสมองแตก (hemorrhagic stroke) และในผู้ป่วยบางอาจเกิดการอุดตันเพียงชั่วคราว (Transient ischemic attack) แต่ละชนิดมีสาเหตุที่แตกต่างกันดังนี้

หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Ischemic stroke)

เป็นชนิดโรคหลอดเลือดสมองที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากผนังหลอดเลือดหนา ตีบแคบ จนกั้นทางเดินเลือด ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดลดลงอย่างรวดเร็วหรือเกิดภาวะสมองขาดเลือด หลอดเลือดตีบหรืออุดตันมักมีสาเหตุคล้ายกับโรคหลอดเลือดหัวใจ คือการไขมันสะสมในเลือด ลิ่มเลือด หรือสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ ที่เดินทางไปกับเลือดจากหัวใจ และตกค้างอยู่ในหลอดเลือดสมอง หรืออาจเกิดจากลิ่มเลือดหลุดจากบริเวณใดบริเวณหนึ่ง ส่วนมากเป็นลิ่มเลือดจากหัวใจ หลุดมาอุดตันหลอดเลือดสมอง

หลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic stroke)

ภาวะเลือดออกในสมองจากหลอดเลือดในสมองแตก รั่ว หรือ ฉีกขาด เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยดังนี้

  • ความดันโลหิตสูงมากกว่าระดับที่ควบคุมได้
  • หลอดเลือดในสมองแตกจากการอุดตัน
  • ผลข้างเคียงการรักษาด้วยยาต้านการแข็งตัวของเลือด
  • เกิดเส้นเลือดโป่งพองในบริเวณผนังหลอดเลือดไม่แข็งแรง
  • การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรุนแรง
  • ผนังหลอดเลือดในสมองเปราะ (Cerebral amyloid angiopathy) จากการสะสมและตกตะกอนของโปรตีน
  • หลอดเลือดสมองแตกจากโรคหลอดเลือดสมองผิดปกติ AVM (Arteriovenous Malformations)

หลอดเลือดสมองตีบชั่วคราว TIA (Transient ischemic attack)

ภาวะหลอดเลือดสมองตีบชั่วคราว TIA (ที-ไอ-เอ) บางครั้งถูกเรียกว่า “Ministroke” มักส่งผลกระทบให้สมองขาดเลือดชั่วคราวและหายได้เองภายใน 24 ชม. TIA มีสาเหตุคล้ายกับหลอดเลือดสมองอุดตัน (Ischemic stroke) คือเกิดจากลิ่มเลือดหรือสิ่งแปลกปลอมในเลือดตกค้างในหลอดเลือดสมองจนทำให้ขวางทางไหลของเลือดแต่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวไม่ได้ส่งผลกระทบยาวนานหรือถาวร

อย่างไรก็ตามการที่เป็นหลอดเลือดสมองตีบเพียงชั่วคราวและอาการดีขึ้น ไม่ได้แปลปลอดภัยดีเสมอไป ที่สำคัญหากไม่ได้รับการรักษายังเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองอุดตันมากขึ้น ดังนั้นหากมีอาการคล้ายโรคหลอดเลือดสมองแม้จะเพียงชั่วคราว ยังต้องพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ

โรคหลอดเลือดในสมองมีอาการอย่างไร

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง

ความผิดปกติของระบบประสาทที่เกิดจากหลอดเลือดสมองอาจเป็นได้ทั้งหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างที่อาจทำให้เสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้นเช่น

  • อายุที่มากขึ้น
  • ความดันโลหิตสูง
  • โรคหัวใจ
  • การสูบบุหรี่
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • เบาหวาน
  • ความเครียด
  • โรคอ้วน

ดูแลตัวเองป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง

แม้โรคหลอดเลือดสมองจะพบบ่อยในคนอายุมาก (มากกว่า 55 ปี) แต่โรคสามารถเกิดขึ้นกับคนทุกเพศทุกวัย เราจึงควรเรียนรู้ที่จะป้องกันตัวเองด้วยการปรับพฤติกรรมและดูแลสุขภาพเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง

ปัจจุบันเราสามารถป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ได้โดยการหมั่นสังเกตปัจจัยเสี่ยง และควบคุมหรือรักษาปัจจัยเสี่ยงนั้นให้ดีขึ้น  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่จึงแนะนำให้หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี เพราะเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้รู้ว่าเรามีปัจจัยเสี่ยงโรคอะไร มีความผิดปกติอะไรในส่วนใดของร่างกาย

ไม่เพียงเท่านี้ การปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตยังช่วยลดความเสี่ยงโรคต่าง ๆ รวมถึง ควบคุมระดับความดันโลหิตสูงให้คงที่ด้วย เช่น

  • ออกกำลังกาย
  • งดกินเค็มเลี่ยงรสจัด
  • กินอาหารไขมันต่ำ
  • ลดการบริโภคแอลกอฮอล์

หากมีอาการผิดปกติ เช่น แขนอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดลำบาก ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด การตรวจวินิจฉัยอาจรวมไปถึงการตรวจโรคหัวใจ เพื่อตรวจหาความเสี่ยง เพราะอาจเกิดลิ่มเลือดในหัวใจหลุดเข้าไปอุดตันในหลอดเลือดสมองได้

หากมีข้อสงสัยสามารถทำนัด สอบถามข้อมูลหรือปรึกษากับทีมศูนย์สมองและระบบประสาท ได้ที่ทุกช่องทางการติดต่อของโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา

 


Reference,

Johns Hopkins Medicine. (n.d.). Effects of Stroke. Retrieved October 20, 2023, from https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/stroke/effects-of-stroke

Cleveland Clinic. (2022). Stroke. Retrieved October 20, 2023, from https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/5601-stroke

Mayo Clinic. (n.d.). Stroke: Symptoms & Causes. Retrieved October 20, 2023, from https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/stroke/symptoms-causes/syc-20350113

สุขภาพสมอง

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง