Skip to content

รู้ตัวก่อนเส้นเลือดในสมองแตกด้วย 10 สัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดสมอง

10 สัญญาณเตือน โรค หลอดเลือด สมอง

ในห้วงเวลาที่เสี่ยงต่อเส้นเลือดในสมองแตกหรืออุดตันน ผู้ป่วยต้องแข่งกับเวลาถ้าหากชักช้าอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ในบทความนี้โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยาได้แนะนำให้รู้จักสัญญาณ BE FAST และอาการอาจบ่งบอกว่าเรากำลังเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง

อาการของโรคหลอดเลือดสมองในสมองแต่ละตำแหน่ง

อาการของโรคหลอดเลือดสมองจะเกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่เกิดโรคด้วย ซึ่งสมองของคนเราแบ่งออกเป็น 4 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่ สมองซีกขวา (Right cerebral hemisphere) สมองซีกซ้าย (Left cerebral hemisphere) สมองน้อย (Cerebellum) และก้านสมอง (Brain stem) โดยสมองแต่ละส่วนจะทำหน้าที่ต่างกัน และไม่ว่าจะมีชนิดหรือสาเหตุมาจากการอุดตันในเส้นเลือด หลอดเลือดตีบ หรือหลอดเลือดฉีกขาด ตำแหน่งของโรคที่แตกต่างกันก็จะแสดงอาการแตกต่างกันไปตามการทำงานของสมองส่วนนั้น ๆ

ยกตัวอย่างเช่น หากเกิดความผิดปกติที่ส่วนสมองซีกขวา (Right cerebral hemisphere) ผู้ป่วยอาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงบนร่างกายซีกซ้าย มองเห็นภาพด้วยตาซ้ายไม่ชัด มีปัญหาเกี่ยวกับความจำ หากเกิดความผิดปกติที่สมองน้อย (Cerebellum) อาจมีอาการสูญเสียการทรงตัว เวียนหัว คลื่นใส้ อาเจียน เป็นต้น

10 สัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดสมองที่ควรสังเกต

โรคหลอดเลือดสมองมีอาการหลายอย่างที่ส่งผลต่อระบบประสาทและกล้ามเนื้อ แต่โดยทั่วไปเรามักจะเคยได้ยินอาการสัญญาณ BE FAST เพราะโรคหลอดเลือดสมอง เป็นวิกฤตอันตรายที่หากสังเกตได้ต้องรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

สัญญาณฉุกเฉินโรคหลอดเลือดสมอง BE FAST

สัญญาณ BE FAST เป็นหลักปฏิบัติเพื่อรับมือกับโรคหลอดเลือดสมองฉุกเฉิน ประกอบไปด้วย การสังเกตอาการ 6 อย่าง ดังนี้

1. สูญเสียการทรงตัว (B-Balance)

การสูญเสียการทรงตัวมักเกิดขึ้นจากผลกระทบของเส้นเลือดในสมองแตกหรืออุดตันในตำแหน่งสมองที่เกี่ยวกับทักษะการทรงตัวและการทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อและระบบประสาทต่าง ๆ คนที่มีอาการสูญเสียการทรงตัวสังเกตได้จาก การเดินเซ คล้ายกับว่าเดินสะดุดอะไรบางอย่างอยู่บ่อย ๆ นั่งหรือยืนไม่มั่นคง ลุกออกจากเก้าอี้หรือเตียงลำบาก ต้องพยายามจับราวหรือกำแพงตลอดเวลา

2. ตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด (E-Eyes)

การมองเห็นของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมักมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อาการที่พบบ่อยมักเป็นอาการตาพร่ามัวกะทันหัน แต่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองยังอาจมีอาการอื่น ๆ เกี่ยวกับดวงตาได้อีก เช่น

  • มองเห็นภาพด้านข้างไม่ชัดในตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง
  • การมองเห็นลดลงหรือสูญเสียการมองเห็นอย่างเฉียบพลัน
  • มองเห็นภาพซ้อน
  • มองเห็นภาพบิดเบี้ยว
  • มองเห็นภาพมืดหรือสว่างขึ้นอย่างเฉียบพลัน
  • ปวดตา

อาการเตือนโรคหลอดเลือดสมอง คือ อะไร

3. ใบหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว (F-Face)

ในหน้าเบี้ยวปากเบี้ยวเป็นอาการโรคหลอดเลือดสมองที่ชัดเจนมากอาการหนึ่ง เพราะมักเกิดขึ้นทันทีหลังเกิดเส้นเลือดในสมองแตกหรืออุดตัน อาการนี้เกิดจากผลกระทบที่สมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้า ทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าข้างใดข้างหนึ่งทำงานได้ไม่เต็มที่ส่งผลให้มุมปากตก ปากเบี้ยว ยิ้มไม่เท่ากัน ยักคิ้วไม่เท่ากันทั้งสองข้าง หรือข้างใดข้างหนึ่งยักคิ้วไม่ขึ้น หนังตาปิดได้ไม่สนิท น้ำลายไหลออกจากมุมปาก เป็นต้น

4. แขนขาอ่อนแรง (A-Arms)

อาการนี้มักมีสาเหตุเดียวกันกับอาการใบหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว แต่ปัญหาในการควบคุมลกล้ามเนื้อจะเกิดกับกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายส่วนใหญ่มักเกิดที่แขนหรือขา หากรู้สึกถึงอาการอ่อนแรงผิดปกติลองทดสอบด้วยการยกแขนทั้งสองข้างพร้อมกัน หากมีแขนใดข้างหนึ่งค่อย ๆ ตกลงมาเองอย่างผิดธรรมชาติ นี่อาจเป็นสัญญาณของเส้นเลือดในสมองแตกหรืออุดตัน

5. พูดติดขัด ออกเสียงลำบาก (S-Speech)

การพูดติดขัดหรือปัญหาในการออกเสียงมักเกิดขึ้นกะทันหันเช่นเดียวกับอาการอื่น แต่ปัญหาในการพูดของคนที่มีอาการโรคหลอดเลือดสมองสามารถเป็นอาการที่เกี่ยวกับการควบคุมกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการพูดทำให้มีอาการ พูดติดขัด เปล่งเสียงลำบากขึ้น ออกเสียงไม่ชัด พูดติดอ่าง พูดตะกุกตะกัก

เส้นเลือดในสมองตีบ อาการเริ่มแรก

6. อาการส่วนใหญ่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน (T-Time)

เมื่อเส้นเลือดในสมองแตกหรืออุดตัน เนื้อเยื่อสมองจะขาดเลือดกะทันหันส่งผลให้ระบบประสาทต่าง ๆ ได้รับผลกระทบอย่างฉับพลัน หากคนใกล้ตัวเรามีสัญญาณ BE FAST หรือเกิดขึ้นกับเราเอง ต้องรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพราะการรักษาภายใน 4.5 ชั่วโมงแรก หลังจากมีอาการมีความสำคัญต่อการรักษาชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก หากช้าไปกว่านั้นอาจส่งผลให้เซลล์สมองตายและฟื้นตัวยากขึ้น

อาการอื่น ๆ ของโรคหลอดเลือดสมอง

นอกจากสัญญาณ BE FAST ที่เป็นอาการที่กะทันหันและชัดเจนแล้ว ยังมีอาการอื่น ๆ ของโรคหลอดเลือดสมองที่เราหากเราสังเกตได้เร็ว จะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตจากความรุนแรงของโรคได้ เช่น

7. อาการชาในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองนอกจากอาการอ่อนแรงในกล้ามเนื้อต่าง ๆ และบนใบหน้าแล้ว อาจมีอาการชาในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้เหมือนกัน ซึ่งอาการชานั้นหมายถึงความรู้หน่วง ๆ รู้สึกว่าผิวหนังหนาขึ้น หรือรู้สึกซ่า ๆ คล้ายอาการคันจากเข็มทิ่ม จากไฟช็อต อาจเกิดขึ้นที่ใบหน้า มือ เท้า แขน เป็นต้น

โรคหลอดเลือดสมอง อาการ สาเหตุ

8. รู้สึกสับสน มึนงง และซึมเศร้า

จากผลกระทบของเส้นเลือดในสมองแตกหรืออุดตันที่สมองบริเวณที่เกี่ยวกับความคิด การตัดสินใจ อาจส่งผลให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง รู้สึกสับสน มึนงง ไม่สามารถคิด หรือทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้ตามปกติ เช่น สับสนสถานที่ สันสนวันเวลา จำคนใกล้ตัวไม่ได้ นอกจากนี้ยังอาจมีปัญหาทางอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล หงุดหงิด ก้าวร้าวหรือหลับไม่สนิท

9. มีปัญหาในการเข้าใจภาษา

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองนอกจากจะมีปัญหาในการควบคุมกล้ามเนื้อเพื่อพูดหรือออกเสียงแล้ว อาจมีอาการที่เกี่ยวกับการเรียบเรียงความคิดและความเข้าใจภาษาหรือตัวเลข เช่น อาการนึกคำพูดไม่ออก พูดวกวน เรียบเรียงคำพูดผิดธรรมชาติหรือผิดความหมาย เป็นต้น

ปวดหัวรุนแรง stroke

10. ปวดหัวอย่างรุนแรง

ปวดหัวเป็นอาการที่อาจมีสาเหตุได้จากหลายอย่าง สำหรับอาการปวดหัวจากโรคหลอดเลือดสมองมักเป็นการปวดหัวที่รุนแรงฉับพลัน โดยเฉพาะคนที่ปวดหัวฉับพลันโดยที่ไม่เคยมีประวัติการรักษาและหาสาเหตุไม่ได้ ควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อหาสาเหตุให้เร็วที่สุด

สรุป 10 สัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดสมอง

ความสำคัญของการรู้ทันอาการต่าง ๆ ของโรคหลอดเลือดสมองนั้นมาจากความวิกฤตของโรคโดยเฉพาะ หากเกิดภาวะสมองขาดเลือดเฉียบพลันจากการอุดตันของเส้นเลือดสมอง และภาวะเลือดคั่งในสมองจากเส้นเลือดในสมองแตก หากเราสามารถสังเกตอาการเด่น ๆ ของโรคนี้ได้เร็วและขอความช่วยเหลือ หรือรีบพาผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาลจะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษา เพิ่มโอกาสฟื้นตัวจากความพิการได้

หากมีข้อสงสัยสามารถทำนัด สอบถามข้อมูลหรือปรึกษากับทีมศูนย์สมองและระบบประสาท ได้ที่ทุกช่องทางการติดต่อของโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา


Reference,

Johns Hopkins Medicine. (n.d.). Effects of Stroke. Retrieved October 16, 2023, from https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/stroke/effects-of-stroke

Salmon Health. (2021). Signs of Stroke. Retrieved October 16, 2023, from https://salmonhealth.com/recognizing-stroke-signs/

สุขภาพสมอง

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง