Skip to content

ผู้หญิงข้ามเพศที่ผ่านการใช้ฮอร์โมนบำบัด เสี่ยงมะเร็งเต้านมมากแค่ไหน ?

มะเร็งเต้านมผู้หญิงข้ามเพศ

ฮอร์โมนเพศหญิงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งอาจเพิ่มหรือลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านมได้ โดยปกติมะเร็งเต้านมพบได้มากในผู้หญิงและพบไม่บ่อยในผู้ชาย แต่สำหรับผู้หญิงข้ามเพศอาจมีปัจจัยบางอย่างที่เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านมได้ ในบทความนี้โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยาจึงได้รวบรวมข้อมูลพร้อมยกงานวิจัยสำคัญที่อาจทำให้หญิงข้ามเพศหันมาดูแลสุขภาพเต้านมกันมากขึ้น

ก่อนอื่น เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจผู้เขียนขอนิยามคำสำคัญในบทความเอาไว้ดังนี้

  • หญิงตามเพศกำเนิด หมายถึง Cisgender woman / Cis woman หรือ ผู้มีอัตลักษณ์เป็นเพศหญิงตามเพศกำเนิดที่เป็นเพศหญิง
  • ชายตามเพศกำเนิด หมายถึง Cisgender man / Cis manหรือ ผู้มีอัตลักษณ์เป็นเพศชายตามเพศกำเนิดที่เป็นเพศชาย
  • หญิงข้ามเพศ หมายถึง Transgender woman / transwoman หรือ ผู้มีอัตลักษณ์เป็นเพศหญิงและมีเพศกำเนิด
  • ชายข้ามเพศ หมายถึง Transgender man / transman หรือ ผู้มีอัตลักษณ์เป็นเพศชายและมีเพศกำเนิดเป็นหญิง
  • ฮอร์โมนบำบัด หมายถึง Hormone Therapy เป็นการใช้ฮอร์โมนเพื่อการเปลี่ยนเพศหรือที่บางคนอาจเรียกว่า “เทคฮอร์โมน”

ลักษณะโรคมะเร็งเต้านมโดยทั่วไป

มะเร็งเต้านม คือ มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ในเต้านมมีการแบ่งตัวผิดปกติและลุกลามไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียงหรือแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย มะเร็งชนิดนี้พบได้บ่อยในผู้หญิงตามเพศกำเนิด สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกเชื้อชาติและทุกวัย แต่ส่วนใหญ่มักพบในผู้หญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป อาการเบื้องต้นมักสังเกตเองได้ เช่น คลำพบก้อนในเต้านม ก้อนในเต้านมไม่ยุบเอง หัวนมบุ๋มหรือผิดรูปไปจากปกติ มีน้ำเหลืองหรือเลือดไหลออกจากหัวนม เต้านมมีรอยบุ๋ม รอยย่น ผิวแดง ผิวเต้านมเป็นเนื้อแข็ง ๆ เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยมะเร็งเต้านมในผู้หญิงข้ามเพศ และผู้หญิงทั่วไป

ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านม

ปัจจุบันสาเหตุของมะเร็งเต้านมยังไม่ทราบอย่างแน่ชัด โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าเกิดจากปัจจัยหลายอย่างรวมกัน เช่น พันธุกรรม ฮอร์โมน สิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน

ซึ่งหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่หลายคนให้ความสนใจมากที่สุดคือปัจจัยทางพันธุกรรมและฮอร์โมน โดยผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เพราะประมาณ 5-10% ของมะเร็งเต้านมมักมีความเกี่ยวข้องพันธุกรรม และสำหรับปัจจัยเสี่ยงด้านฮอร์โมน เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนมีส่วนกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์เต้านม ทำให้ผู้หญิงที่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนเป็นเวลานานจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

ส่วนปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมในชีวิตประจำวันเป็นปัจจัยที่อาจที่อาจมีส่วนที่ทำให้เซลล์เจริญเติบโตผิดปกติเป็นเซลล์มะเร็ง เช่น ผู้ที่เคยฉายรังสี ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป การสูบบุหรี่ ภาวะอ้วน การขาดการออกกำลังกายเป็นต้น

อ่านบทความ 10 ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจเป็นสาเหตุมะเร็งเต้านม

งานวิจัยความเสี่ยงมะเร็งเต้านมในผู้หญิงข้ามเพศบอกอะไรบ้าง ?

เว็บไซต์ British Medical Journal ได้เผยแพร่งานวิจัยที่ศึกษาความเสี่ยงมะเร็งเต้านมในกลุ่มคนข้ามเพศที่ผ่านการเทคฮอร์โมนหรือใช้ฮอร์โมนบำบัด งานวิจัยนี้ได้มุ่งเน้นศึกษากลุ่มคนข้ามเพศในประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยใช้หญิงข้ามเพศ 2,260 คน และชายข้ามเพศจำนวน 1,229 คน ที่ได้รับฮอร์โมนบำบัดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1972-2016 ซึ่งจากการศึกษาให้ข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

ผู้หยิงข้ามเพศ ผู้ชายข้ามเพศ

ความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมในผู้หญิงข้ามเพศ

การศึกษาแสดงให้เห็นว่า ในกลุ่มตัวอย่าง หญิงข้ามเพศ 2,260 คน มีผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะลุกลามจำนวน 15 ราย และประมาณ 80% เกิดจากฮอร์โมนเอสโตรเจน และ/หรือ โปรเจสเตอโรน ซึ่งมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึง 47 เท่า หากเทียบกับผู้ชายตามเพศกำเนิด

ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างชายข้ามเพศ 1,229 คน พบว่ามีผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมชนิดลุกลาม 4 ราย ซึ่งความเสี่ยงน้อยกว่าผู้หญิงตามเพศกำเนิด

ในการศึกษาก่อนหน้าเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านมเรามักจะเห็นว่า ผู้หญิงตามเพศกำเนิดที่มีการใช้ฮอร์โมนบำบัดเพื่อรับมือกับการเข้าวัยหมดประจำเดือนจะมีความเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านมนมเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ในหญิงข้ามเพศที่มีการเทคฮอร์โมนหรือฮอร์โมนบำบัดเพื่อการเปลี่ยนเพศจึงอาจมีความเสี่ยงมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นจากเหตุผลนี้ ทั้งนี้ผู้ที่ศึกษางานวิจัยความเสี่ยงมะเร็งเต้านมในกลุ่มคนข้ามเพศยังได้ระบุเอาไว้ในรายงานว่าด้วยผลลัพธ์การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า หญิงข้ามเพศที่ผ่านการใช้ฮอร์โมนบำบัดเพื่อการข้ามเพศควรคัดกรองมะเร็งเต้านมเป็นการป้องกันโรค

การป้องกันมะเร็งเต้านมในผู้หญิงข้ามเพศ

คำแนะนำในการป้องกันมะเร็งเต้านมสำหรับผู้หญิงข้ามเพศ

เราได้เห็นแล้วว่าการคัดกรองมะเร็งเต้านมเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับหญิงข้ามเพศที่ใช้ฮอร์โมนบำบัด ความเสี่ยงมะเร็งเต้านมและการคัดกรองมักจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละบุคคล อย่างไรก็ตามคำแนะนำในการคัดกรองมะเร็งเต้านมสำหรับหญิงข้ามเพศโดยทั่วไปมีดังนี้

  • กรณีที่ผ่านการใช้ฮอร์โมนมาอย่างน้อย 5 ปี หญิงข้ามเพศในกรณีนี้ควรปฏิบัติตามคำแนะนำที่ผู้หญิงตามเพศกำเนิดนิยมปฏิบัติในแต่ละช่วงอายุ เช่น การสังเกตความเปลี่ยนแปลงเต้านม การคลำเต้านม การตรวจเมโมแกรมเมื่ออายุเพิ่มขึ้น เป็นต้น
  • กรณีที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไม่ ไม่ว่าจะใช้ฮอร์โมนบำบัดมามากหรือน้อยแค่ไหน แนะนำให้หญิงข้ามเพศตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเช่นเดียวกับที่ผู้หญิงตามเพศกำเนิดนิยมปฏิบัติ
  • กรณีที่คนในครอบครัวมีประวัติมะเร็งเต้านม หรือทราบว่าตนมีความเสี่ยงสูงต่อการกลายพันธุ์ของยีน BRCA ไม่ว่าจะผ่านการใช้ฮอร์โมนบำบัดมามากน้อยแค่ไหน ควรปฏิบัติการคัดกรองมะเร็งเต้านมเช่นเดียวกับที่ผู้ที่มีความเสี่ยงมะเร็งเต้านมสูง และปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

อีกหนึ่งวิธีที่สามารถทำเพื่อป้องกันมะเร็งเต้านมได้คือ การปรึกษาผู้ให้บริการทางการแพทย์ในสถานพยาบาลที่ใช้บริการฮอร์โมนบำบัดเพื่อการเปลี่ยนเพศ แพทย์อาจให้คำแนะนำที่เหมาะสมสำหรับหญิงข้ามเพศเฉพาะบุคคลได้ โดยเฉพาะคนที่มีความกังวลหรือมีปัจจัยเสี่ยงด้านพันธุกรรม

โดยสรุปแล้วหญิงข้ามเพศที่ผ่านการใช้ฮอร์โมนบำบัดนั้นมีแนวโน้มที่จะเสี่ยงมะเร็งเต้านมมากขึ้นถึง 47 เท่า ยิ่งหากเป็นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เสริมอีก ก็ควรได้รับคำแนะนำดูแลตัวเอง และคำแนะนำในการวินิจฉัยมะเร็งเต้านมไม่ต่างจากผู้หญิงตามเพศกำเนิด

New call-to-action

หากมีข้อสงสัยสามารถทำนัด ปรึกษาหรือสอบถามข้อมูลกับทีมศูนย์เต้านม ได้ที่ทุกช่องทางการติดต่อของโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา

 


Reference,

Breast Cancer Now. (2021). Transgender people and breast cancer. Retrieved from https://breastcancernow.org/about-us/blogs/transgender-people-breast-cancer

de Blok, C. J. M., Wiepjes, C. M., Nota, N. M., van Engelen, K., Adank, M. A., Dreijerink, K. M. A., … den Heijer, M. (2019). Breast cancer risk in transgender people receiving hormone treatment: nationwide cohort study in the Netherlands. BMJ, 365. doi:10.1136/bmj.l1652 https://www.bmj.com/content/365/bmj.l1652

Cancer Research UK. (2019, May 16). Transgender women have increased risk of breast cancer compared to cisgender men. Retrieved from https://news.cancerresearchuk.org/2019/05/16/transgender-women-have-increased-risk-of-breast-cancer-compared-to-cisgender-men/

University Hospitals. (2018). Transgender Breast Screenings. Retrieved from https://www.uhhospitals.org/services/cancer-services/breast-cancer/transgender-breast-screenings

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง