สาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านมนั้น ในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัด ทราบเพียงว่ามีปัจจัยเสี่ยงใดบ้างที่เพิ่มโอกาสการเกิดโรคมะเร็งเต้านม
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นสาเหตุมะเร็งเต้านม มีอะไรบ้าง ?
-
เพศ
เพศหญิงมีฮอร์โมนเพศ เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ซึ่งสามารถกระตุ้นการเจริญของเซลส์มะเร็งเต้านมได้ จึงมีโอกาสป่วยเป็นโรคได้มากกว่าเพศชาย แต่ผู้ชายก็สามารถป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมได้เช่นกันโดยมีอุบัติการณ์ของโรคนี้น้อยกว่าผู้หญิงเกือบ 100 เท่า
-
อายุ
เมื่ออายุมากขึ้น โอกาสเป็นมะเร็งเต้านมก็เพิ่มมากขึ้น โดยพบว่าประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ผู้ป่วยจะมีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
-
กรรมพันธุ์
ผู้หญิงที่มีญาติสายตรง ได้แก่ มารดา พี่สาว น้องสาว และลูกสาว เป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ โดยเฉพาะในกรณีที่ญาติเป็นมะเร็งตั้งแต่อายุน้อยหรือเป็นกันหลายคน จะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นหลายเท่า
-
ประวัติโรคมะเร็งในอดีต
ถ้าเคยเป็นโรคมะเร็งเต้านมมาก่อน ก็มีโอกาสที่จะเกิดมะเร็งขึ้นที่เต้านมอีกข้างหรือบริเวณรอบเต้านมข้างเดิมมากกว่าคนปกติที่ไม่เคยเป็นมะเร็งมาก่อน 3-4 เท่า
-
ประวัติโรคทางเต้านมในอดีต
ถ้าเคยผ่าตัดรักษาโรคทางเต้านมมาก่อน จะทราบผลชิ้นเนื้อของก้อนที่ผ่าตัดรักษาออกมา ซึ่งโรคบางโรคที่มีการเจริญของเซลส์ผิดปกติในเต้านมสามารถที่จะเพิ่มความเสี่ยงหรือพัฒนากลายเป็นมะเร็งเต้านมได้ในอนาคต เช่น Atypical ductal hyperplasia (ADH), Atypical lobular hyperplasia (ALH) และ Lobular carcinoma in situ (LCIS) เป็นต้น
-
ประวัติประจำเดือน
การมีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี หรือ หมดประจำเดือนช้ากว่าอายุ 55 ร่างกายของผู้หญิงจะมีช่วงเวลาสัมผัสกับฮอร์โมนเพศ เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนมากขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
-
ประวัติการรับรังสีบริเวณเต้านม
ไม่ว่าจะเป็นการรับรังสีจากการฉายแสงเพื่อรักษาโรคหรือจากสารกัมมันตภาพรังสี ในผู้หญิงอายุน้อยกว่า 40 ปี พบว่าเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม
-
การตั้งครรภ์และการให้นมบุตร
ผู้ป่วยที่ไม่เคยตั้งครรภ์ หรือมีบุตรคนแรกตอนอายุมากกว่า 30 ปีจะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะเดียวกันการตั้งครรภ์หลายครั้งและมีบุตรตั้งแต่อายุน้อยสามารถลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้ และการให้นมบุตรเป็นเวลามากกว่า 1 ปีขึ้นไปก็อาจจะช่วยลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งได้เช่นกัน
-
ยาคุมกำเนิดและการใช้ฮอร์โมน
ผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิดจะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมเล็กน้อยเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ใช้ แต่ความเสี่ยงที่ว่านี้จะหมดไปหากหยุดใช้ยาเกิน 10 ปี ส่วนการใช้ฮอร์โมนทดแทนเพื่อรักษาอาการของภาวะหมดประจำเดือนจะเพิ่มทั้งความเสี่ยงและอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม
-
ปัจจัยอื่น ๆ
เช่น การดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จะเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งได้ถ้าดื่มเป็นประจำทุกวัน ภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกินโดยเฉพาะในสตรีวัยหมดประจำเดือนจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมได้เนื่องจากไขมันส่วนเกินเปลี่ยนเป็นฮอร์โมนเพศทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงขึ้น
แต่ไม่จำเป็นว่าผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเต้านมเหล่านี้จะต้องป่วยเป็นมะเร็งเต้านมเสมอไป เพราะมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงเลยแต่กลับป่วยเป็นมะเร็งเต้านมได้เช่นเดียวกัน จึงสรุปว่าถึงแม้จะมีหรือไม่มีปัจจัยเสี่ยง ก็ควรเอาใจใส่ในสุขภาพเต้านมของตนเอง เพราะในการป้องกันและรักษามะเร็งเต้านมจะช่วยเพิ่ฒโอกาสให้รักษาหาย ถ้าผู้ป่วยมาพบแพทย์ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของโรคที่มักจะไม่แสดงอาการทางร่างกายใดๆ จะมีโอกาสรักษาให้หายขาดจากโรคได้สูงและสามารถมีอายุยืนยาวเหมือนคนปกติที่ไม่ได้เป็นมะเร็ง จึงมีการรณรงค์ของกระทรวงสาธารณสุขให้ผู้หญิงอายุมากกว่า 20 ปีทุกคนตรวจคลำเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน และเมื่ออายุครบ 35 ถึง 40 ปีก็ควรมาตรวจเต้านมกับแพทย์ที่โรงพยาบาล ทำแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวด์เต้านมเป็นประจำทุก 1-2 ปี
แต่ก็ยังมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจำนวนหนึ่งมาพบแพทย์ด้วยการคลำพบก้อนเนื้อขนาดใหญ่ในเต้านม โดยโรคระยะนี้มักจะเริ่มมีการกระจายของมะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลืองและอาจลุกลามไปยังอวัยวะอื่นของร่างกายซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต
source: สาเหตุมะเร็งเต้านม