สถานการณ์โรคมะเร็งเต้านมในประเทศไทย

มะเร็งเต้านมถือเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดจากสถิติผู้ป่วยมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาตินับแต่ปีพ.ศ.2553  เป็นต้นมา จากเดิมเป็นโรคที่พบมากเป็นอันดับที่ 2 ของมะเร็งในหญิงไทยรองจากโรคมะเร็งปากมดลูก แต่เนื่องจากแนวโน้มของอุบัติการณ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยจากอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งเต้านมในหญิงไทยอยู่ที่ 20.5 รายต่อประชากร 100,000 คนในปีพ.ศ. 2542 เพิ่มขึ้นเป็น 26.4 รายต่อประชากร 100,000 คนในปี พ.ศ. 2552

ปัจจุบันในไทยพบผู้ป่วยใหม่ประมาณ 50 คนต่อวัน

เฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน และเสียชีวิตถึง 13 คนต่อวัน จึงถือเป็นสาเหตุการป่วยและเสียชีวิตอันดับ 1 ของสตรีไทยและสตรีทั่วโลก โดยจังหวัดที่มีอุบัติการณ์สูงสุดตามลำดับ คือ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี และระยอง โดยอยู่ที่ประมาณ 34 ถึง 40 รายต่อประชากรเพศหญิง 100,000 คน สังเกตได้ว่าทั้งหมดล้วนเป็นจังหวัดที่มีการเจริญเติบโตทางสังคมและเศรษฐกิจ เป็นที่ตั้งของโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง

มะเร็งเต้านมพบได้ในคนอายุน้อยตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป โดยมีช่วงอายุพบได้สูงสุดในหญิงอายุ 45 – 55 ปี แต่ในระยะหลังพบว่ามีผู้หญิงวัยรุ่นอายุน้อยก็สามารถป่วยเป็นมะเร็งเต้านมได้และความรุนแรงของโรคยังมากกว่าผู้ป่วยที่อายุมาก อาจจะอธิบายได้จากรูปแบบชีวิตที่เปลี่ยนไปตามความเจริญของสังคมเมืองและอุตสาหกรรมจึงทำให้มีโอกาสสัมผัสสารก่อมะเร็งหรือปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งได้มากขึ้น

มะเร็งเต้านมเป็นปัญหาระดับโลก

ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่โรคมะเร็งเต้านมถือเป็นปัญหาสาธารณสุขของโลกที่ทำให้สูญเสียชีวิตของประชากรและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก ในปี ค.ศ. 2020 มีผู้ป่วยรายใหม่มากกว่า 2.3 ล้านคนทั่วโลกและเสียชีวิตเกือบ 7 แสนคน โดยในต่างประเทศเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศในทวีปยุโรป พบอุบัติการณ์สูงกว่าประเทศไทยหลายเท่า คือในผู้หญิงต่างชาติ 8 คนจะมีคนเป็นมะเร็งเต้านมอยู่ 1 คน

มะเร็งเต้านม คือ

10 ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดมะเร็งเต้านม 

สาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านมนั้น ในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัด ทราบเพียงว่ามีปัจจัยเสี่ยงใดบ้างที่เพิ่มโอกาสการเกิดโรคมะเร็งเต้านม ยกตัวอย่างเช่น

1. เพศ

เพศหญิงมีฮอร์โมนเพศ เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ซึ่งสามารถกระตุ้นการเจริญของเซลส์มะเร็งเต้านมได้ จึงมีโอกาสป่วยเป็นโรคได้มากกว่าเพศชาย แต่ผู้ชายก็สามารถป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมได้เช่นกันโดยมีอุบัติการณ์ของโรคนี้น้อยกว่าผู้หญิงเกือบ 100 เท่า

2. อายุ

เมื่ออายุมากขึ้น โอกาสเป็นมะเร็งเต้านมก็เพิ่มมากขึ้น โดยพบว่าประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ผู้ป่วยจะมีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป

3. กรรมพันธุ์

ผู้หญิงที่มีญาติสายตรง ได้แก่ มารดา พี่สาว น้องสาว และลูกสาว เป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ โดยเฉพาะในกรณีที่ญาติเป็นมะเร็งเต้านมตั้งแต่อายุน้อยกว่า 40 ปีหรือเป็นกันหลายคนมากกว่า 2 คนขึ้นไป เป็นมะเร็งเต้านมทั้ง 2 ข้างและเป็นมะเร็งรังไข่ จะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นหลายเท่า โดยเฉพาะถ้ามีตรวบพบว่าความผิดปกติทางพันธุกรรมเช่น การกลายพันธุ์ของยีนชื่อ BRCA จะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมสูงมาก

4. ประวัติโรคมะเร็งในอดีต

ถ้าเคยเป็นโรคมะเร็งเต้านมมาก่อน ก็มีโอกาสที่จะเกิดมะเร็งขึ้นที่เต้านมอีกข้างหรือบริเวณรอบเต้านมข้างเดิมมากกว่าคนปกติที่ไม่เคยเป็นมะเร็งมาก่อน 3-4 เท่า

5. ประวัติโรคทางเต้านมในอดีต

ถ้าเคยผ่าตัดรักษาโรคทางเต้านมมาก่อน จะทราบผลชิ้นเนื้อของก้อนที่ผ่าตัดรักษาออกมา ซึ่งโรคบางโรคที่มีการเจริญของเซลส์ผิดปกติในเต้านมสามารถที่จะเพิ่มความเสี่ยงหรือพัฒนากลายเป็นมะเร็งเต้านมได้ในอนาคต เช่น Atypical ductal hyperplasia (ADH), Atypical lobular hyperplasia (ALH) และ Lobular carcinoma in situ (LCIS) เป็นต้น

เสี่ยงมะเร็งเต้านม

6. ประวัติประจำเดือน

การมีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี หรือ หมดประจำเดือนช้ากว่าอายุ 55 ร่างกายของผู้หญิงจะมีช่วงเวลาสัมผัสกับฮอร์โมนเพศ เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนมากขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

7. ประวัติการรับรังสีบริเวณเต้านม

ไม่ว่าจะเป็นการรับรังสีจากการฉายแสงเพื่อรักษาโรคหรือจากสารกัมมันตภาพรังสี ในผู้หญิงอายุน้อยกว่า 40 ปี พบว่าเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม

8. การตั้งครรภ์และการให้นมบุตร

ผู้ป่วยที่ไม่เคยตั้งครรภ์หรือมีบุตรคนแรกตอนอายุมากกว่า 30 ปีจะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะเดียวกันการตั้งครรภ์หลายครั้งและมีบุตรตั้งแต่อายุน้อยสามารถลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้ และการให้นมบุตรเป็นเวลามากกว่า 1 ปีขึ้นไปก็อาจจะช่วยลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งได้เช่นกัน

9. ยาคุมกำเนิดและการใช้ฮอร์โมน

ผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิดจะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมเล็กน้อยเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ใช้ แต่ความเสี่ยงที่ว่านี้จะหมดไปหากหยุดใช้ยาเกิน 10 ปี ส่วนการใช้ฮอร์โมนทดแทนเพื่อรักษาอาการของภาวะหมดประจำเดือนจะเพิ่มทั้งความเสี่ยงและอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม

10. ปัจจัยอื่น ๆ

เช่น การดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จะเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งได้ถ้าดื่มเป็นประจำทุกวัน ภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกินโดยเฉพาะในสตรีวัยหมดประจำเดือนจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมได้เนื่องจากไขมันส่วนเกินเปลี่ยนเป็นฮอร์โมนเพศทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านมเป็นเพียงข้อสังเกตหนึ่งเท่านั้น

เพราะไม่จำเป็นว่าเมื่อพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเต้านมแล้ว ผู้หญิงรายนั้นจะต้องป่วยเป็นมะเร็งเต้านมเสมอไป เพราะมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงเลยแต่กลับป่วยเป็นมะเร็งเต้านมได้เช่นเดียวกัน

จึงสรุปว่าถึงแม้จะมีหรือไม่มีปัจจัยเสี่ยง ก็ควรเอาใจใส่ในสุขภาพเต้านมของตนเอง เพราะในการป้องกันและรักษามะเร็งเต้านมนั้น ถ้าผู้ป่วยมาพบแพทย์ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของโรคที่มักจะไม่แสดงอาการทางร่างกายใด ๆ จะมีโอกาสรักษาให้หายขาดจากโรคได้สูงและสามารถมีอายุยืนยาวเหมือนคนปกติที่ไม่ได้เป็นมะเร็ง จึงมีการรณรงค์ของกระทรวงสาธารณสุขให้ผู้หญิงอายุมากกว่า 20 ปีทุกคนตรวจคลำเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน และเมื่ออายุครบ 35 ถึง 40 ปีก็ควรมาตรวจเต้านมกับแพทย์ที่โรงพยาบาล และทำแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวด์เต้านมเป็นประจำทุกปี

แต่ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านมทางพันธุกรรมหรือครอบครัว ควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 25-30 ปีขึ้นไป แต่ก็ยังมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจำนวนหนึ่งมาพบแพทย์ด้วยคลำพบก้อนเนื้อขนาดใหญ่ในเต้านม โดยโรคระยะนี้มักจะเริ่มมีการกระจายของมะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลืองและอาจลุกลามไปยังอวัยวะอื่นของร่างกายซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต

หากมีข้อสงสัยสามารถทำนัด ปรึกษาหรือสอบถามข้อมูลกับทีมศูนย์เต้านม ได้ที่ทุกช่องทางการติดต่อของโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา


บทความโดย

นพ. ฐาปนัสม์ ลิขิตมาศกุล

ศัลยแพทย์เต้านม ศูนย์เต้านม โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา