Skip to content

รู้จักชนิด อาการ และ 6 สัญญาณเตือนมะเร็งเต้านม

ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม อายุน้อย

เป็นที่ทราบกันดีว่ามะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นในเซลส์ภายในท่อน้ำนมหรือเนื้อเต้านม จัดอยู่ในกลุ่มโรคร้ายที่อาจลุกลามจากไปยังอวัยวะไกล้เคียง หรือลุกลามไปทั่วร่างกาย การแพร่กระจายของเซลล์ที่ผิดปกตินี้จะทำให้อวัยวะที่โดนลุกลามเกิดผลกระทบสูญเสียหน้าที่การทำงานปกติไป ระบบต่าง ๆ ในร่างกายไม่เป็นปกติ การสังเกตตัวเองจึงเป็นด่านแรกของการรักษามะเร็งเต้านมให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มโอกาสหายขาดจากโรคได้มากขึ้น

เรารู้จักเต้านมและมะเร็งเต้านมดีหรือยัง ?

เต้านมของคนเราประกอบไปด้วยองค์ประกอบหลัก ๆ 3 ส่วน คือ ต่อมน้ำนม ท่อน้ำนม และเนื้อเยื้อหุ้มที่ประกอบไปด้วยเส้นใยและไขมัน ปกติแล้วเต้านมมีหน้าที่หลัก ๆ ในการผลิตและขับน้ำนมออกทางหัวนม กระบวนการนี้มักเกิดในช่วงให้นมบุตร

ส่วนมะเร็งเต้านมเป็นโรคที่เกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ภายในเต้านมที่เติบโตผิดปกติ และกลายเป็นเนื้องอก หากเนื้องอกเหล่านั้นไม่ได้รับการตรวจหาสาเหตุ หรือวิเคราะห์ความผิดปกติจนเมื่อเวลาผ่านไปอาจทำให้เนื้องอกในเต้านมนั้นแพร่กระจายไปส่วนอื่นของร่างกายจนเป็นเนื้อร้ายที่ทำลายอวัยวะอื่น ๆ ด้วย

มะเร็งเต้านมมีกี่ชนิด

ชนิดของมะเร็งเต้านม

หากตรวจเจอมะเร็งเต้านม แพทย์จะจำแนกชนิดของมะเร็งเพื่อเตรียมการรักษาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ให้มีผลข้างเคียงน้อยที่สุด ซึ่งมะเร็งเต้านมชนิดที่พบบ่อยมีดังนี้

1. มะเร็งเต้านมชนิดลุกลามออกนอกท่อน้ำนม (Invasive ductal carcinoma or IDC)

มะเร็งเต้านมชนิดนี้เริ่มต้นจากเซลล์ในท่อน้ำนมและแพร่กระจายทะลุผ่านผนังท่อน้ำนมทำให้มีการลุกลาไปยังเนื้อเยื่อเต้านมใกล้เคียง และอาจลุกลามโดยผ่านทางต่อมน้ำเหลืองหรือกระแสเลือดได้ มะเร็งเต้านมชนิดนี้เป็นชนิดที่พบได้มาก และในเพศชายที่เป็นมะเร็งเต้านมก็มักป่วยด้วยมะเร็งชนิดนี้

2. มะเร็งต่อมน้ำนมชนิดลุกลาม (Invasive lobular carcinoma or ILC)

เซลล์ในต่อมน้ำนมที่เจริญเติบโตผิดปกติจนเกิดเป็นเนื้อร้ายเป็นที่มาของมะเร็งเต้านมชนิดนี้ แน่นอนว่าเป็นชนิดที่สามารถลุกลามไปยังเนื้อเยื่อเต้านมใกล้เคียง และอาจแพร่กระจายไปตามต่อมน้ำเหลืองได้หากตรวจไม่เจอในระยะแรก ๆ

3. มะเร็งในท่อน้ำนมชนิดไม่ลุกลาม (Ductal carcinoma in situ or DCIS)

มะเร็งชนิดนี้คล้ายกับชนิด IDC คือ มีแหล่งกำเนิดในท่อน้ำนมเช่นเดียวกัน แต่ต่างกันตรงที่มะเร็งชนิดนี้จะไม่แพร่กระจายออกจากผนังท่อน้ำนม หรือเป็นมะเร็งในระยะก่อนแพร่กระจาย หากตรวจเจอก็มักรักษาได้ดีด้วยการผ่าตัดและการฉายรังสี

นอกจากนี้มะเร็งเต้านมยังมีอีก 3 ชนิดที่อาจไม่ได้พบบ่อยเท่าชนิดก่อนหน้านี้ แต่ก็เป็นชนิดที่ค่อนข้างอันตราย เช่น

4. มะเร็งเต้านมชนิดที่ขาดตัวรับฮอร์โมนและยีนส์ หรือ ทริปเปิลเนกาทีฟ (Triple-negative breast cancer or TNBC)

มะเร็งเต้านมชนิดที่ขาดตัวรับฮอร์โมนหรือยีนส์หมายถึง เซลล์มะเร็งที่ขาดลักษณะสำคัญที่เป็นกุญแจในการรักษา โดยปกติแล้วการรักษามะเร็งเต้านมจะมุ่งเน้นไปที่การกำจัดปัจจัยในการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเช่น ฮอร์โมน หรือยีนส์ แต่มะเร็งชนิด TNBC จะขาดตัวรับฮอร์โมนและยีนส์สำคัญ ซึ่งทำให้มะเร็งชนิดนี้แพร่กระจายเร็วและรักษายากกว่าชนิดอื่น ๆ

5. มะเร็งเต้านมอักเสบ (Inflammatory breast cancer or IBC)

มะเร็งเต้านมชนิดนี้หากเทียบกับมะเร็งเต้านมทุกชนิดอาจพบเพียง 1-3% แต่เป็นมะเร็งชนิดที่รุนแรงและอันตรายที่สุด ลักษณะของมะเร็งเต้านมอักเสบคือผิวนอกมีลักษณะบวมแดงและย่นเหมือนเปลือกส้ม ซึ่งเกิดจากการอุดตันของท่อน้ำเหลืองและลุกลามมาถึงผิวหนัง ในระยะแรก ๆ โรคนี้อาจคล้ายกับโรคเต้านมอักเสบ (Mastitis)

6. มะเร็งหัวนม (Paget’s disease of the breast)

มะเร็งหัวนมเป็นมะเร็งเต้านมชนิดหนึ่งที่พบไม่บ่อยนัก มะเร็งชนิดนี้จะให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของผิวบริเวณหัวนม คล้ายกับผื่นจากโรคผิวหนัง ผู้ที่เป็นโรคนี้อาจมีมะเร็งในท่อน้ำนมชนิดไม่ลุกลาม (DCIS) และชนิดลุกลาม (IDC) ร่วมด้วย

ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านม

6 อาการและสัญญาณเตือนมะเร็งเต้านมในระยะแรก

อาการจากโรคมะเร็งเต้าอาจแสดงออกได้หลายแบบ อาการบางอย่างอาจชัดเจนโดดเด่นสังเกตง่าย ในขณะที่บางอาการอาจต้องสังเกตดี ๆ ซึ่งมะเร็งเต้านมมีอาการที่สำคัญดังนี้

  1. รูปร่างหรือขนาดเต้านมเปลี่ยนไปจากเดิม
  2. รู้สึกเหมือนมีก้อนหรือถุงน้ำขนาดประมาณเม็ดถั่วในเต้านมได้ด้วยการสัมผัส
  3. รู้สึกถึงก้อนที่หนาขึ้นภายในเต้านมหรือใกล้ ๆ วงแขนและสัมผัสได้ว่าคงสภาพอยู่ตลอดรอบประจำเดือน
  4. สัมผัสได้ถึงก้อนหรือเนื้อแข็ง ๆ เป็นวงกว้างใต้ผิวเต้านม
  5. สังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงของผิวเต้านมหรือหัวนม เช่นเกิดรอยบุ๋ม ย่น ผิวเป็นสะเก็ด หรืออักเสบ ร่องรอยที่พบอาจมีสีแดง ม่วง หรือสีเข้มกว่าส่วนอื่น ๆ บนเต้านม
  6. มีเลือดหรือของเหลวใสไหลออกมาจากเต้านม

หากพบความผิดปกติเหล่านี้ควรพบแพทย์หาสาเหตุให้เร็วที่สุด เพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษาหากพบว่ามีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมจริง

สาเหตุของมะเร็งเต้านม

จุดเริ่มต้นของการเจริญเติบโตมักมาจากเซลล์ในท่อน้ำนมและต่อมน้ำนม แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุหลัก ๆ ของการเกิดเซลล์มะเร็งได้ ซึ่งส่วนใหญ่เชื่อว่ามีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดเซลล์มะเร็งเต้านมและในอวัยวะอื่น เช่น ปัจจัยด้านวิถีชีวิต สุขภาพโดยรวม พันธุกรรม สภาพแวดล้อม

เสี่ยงมะเร็งเต้านม

ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านม

ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าผู้หญิงทุกคนเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม โดยมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่ควรสังเกตเอาไว้ดังนี้

  • เป็นเพศหญิงโดยกำเนิด หรือหญิงข้ามเพศที่มีการใช้ฮอร์โมนบำบัด
  • อายุที่มากขึ้น (พบมากในคนที่อายุมากกว่า 50 ปี)
  • ตนหรือคนในครอบครัวมีประวัติโรคเกี่ยวกับเต้านม
  • ตนหรือคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่
  • ในอดีตประจำเดือนมาครั้งแรกก่อนอายุ 12 หรือ หมดประจำเดือนหลังอายุ 55 ปี
  • มีการใช้ยาคุมกำเนิดและฮอร์โมนทดแทน
  • มีประวัติการรับรังสี
  • อื่น ๆ เช่น โรคอ้วน และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

อ่านบทความเพิ่มเติม 10 ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจเป็นสาเหตุมะเร็งเต้านม

มีผู้ป่วยไม่น้อยที่ตรวจพบมะเร็งเต้านมทั้ง ๆ ที่มีปัจจัยเสี่ยงน้อยหรือแทบจะไม่มีปัจจัยเสี่ยงเลย ดังนั้นการสังเกตตัวเองด้วยการคลำเต้านมทุกเดือนเพื่อหาความเปลี่ยนแปลงภายในเต้านมจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่อายุมากกว่า 35-40 ปีควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่โรงพยาบาลเป็นประจำทุกปี

สามารถทำนัด สอบถามข้อมูลหรือปรึกษากับศูนย์เต้านม ได้ทุกช่องทางการติดต่อของโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา

 


Reference,

Cleveland Clinic. (2023). Breast Cancer. Retrieved from https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/3986-breast-cancer

Mayo Clinic. (2022). Breast Cancer: Symptoms & Causes. Retrieved from https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/breast-cancer/symptoms-causes/syc-20352470

Centers for Disease Control and Prevention. (2023). What Is Breast Cancer? Retrieved from https://www.cdc.gov/cancer/breast/basic_info/what-is-breast-cancer.htm

World Health Organization. (2023). Breast cancer. Retrieved from https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/breast-cancer

New call-to-action

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง