การรักษาและเทคโนโลยี (แผนกโภชนบำบัด)

หน้าแรก  >  โรคและการรักษา  >  การรักษาและเทคโนโลยี (แผนกโภชนบำบัด)

การรักษา

เบาหวาน คือภาวะที่ร่างกายไม่สามารถเปลี่ยนอาหารที่รับประทานให้กลายเป็นพลังงานได้ มีผลทำให้น้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด การมองเห็น และโรคแทรกซ้อนต่างๆ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารเพื่อคุมระดับน้ำตาลในเลือดสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้

การดูแลด้านโภชนบำบัดสำหรับผู้เป็นเบาหวาน มีวัตถุประสงค์เพื่อ ให้ผู้ป่วยมีระดับน้าตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม มีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม รวมถึงมีระดับไขมันในเลือดและความดันเลือดอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมด้วย การดูแลโภชนบำบัดในผู้เป็นเบาหวาน เป็นวิธีการที่ช่วยป้องกันและดูรักษาเรื่องเบาหวานได้อย่างยั่งยืน โดยการเลือกรับประทานอาหารในแต่ละหมวดหมู่อย่างเหมาะสมและเพียงพอต่อร่างกาย เพื่อช่วยควบคุมระดับน้าตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เมื่อควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี โรคแทรกซ้อนต่างๆ ก็จะลดลงด้วย

ผู้ป่วยโรคหัวใจ ควรให้ความสำคัญกับการดูแลตนเองในทุกด้านรวมไปถึงด้านอาหารที่เลือกรับประทานที่ส่งผลโดยตรงกับระดับไขมันในเลือดและระดับความดันโลหิต แม้ว่าผู้ป่วยจะได้รับการรักษาแล้วแต่หากไม่ควบคุมอาหาร โรคดังกล่าวสามารถกลับมามีอาการกำเริบได้

เลือกรับประทานไขมันดี HDL เพิ่มขึ้นและหลีกเลี่ยงไขมันไม่ดี LDL เลี่ยงอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง และอาหารที่มีโซเดียมสูงต่างๆ รวมไปถึงอาหารรสหวานจัด เพิ่มการทานอาหารที่มีกากใย เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ และเลือกใช้น้ำมันประกอบอาหารอย่างเหมาะสม

โรคอ้วน คือ ภาวะที่มีไขมันสะสมในร่างกายเพิ่มมากขึ้น โดยไขมันสะสมอาจมาจากไขมันใต้ผิวหนังมากหรือจากไขมันในช่องท้องมาก โรคอ้วนลงพุงเป็นภาวะที่มีการสะสมของไขมันในช่องท้องมากเกินไป ทำให้เกิดเมตาบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) ซึ่งทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างมาก การป้องกันที่ดีที่สุดคือการควบคุมน้ำหนักและออกกำลังกายสม่ำเสมอ 

รูปแบบควบคุมอาหารมีหลากหลายและได้ผลไม่แตกต่างกัน จะเลือกใช้วิธีการใดแล้วแต่อุปนิสัยและความเหมาะสมของแต่ละคน โดยหลักการ คือ ลดอาหารที่รับประทานลงจากพลังงานที่ควรได้รับในแต่ละวัน 500 กิโลแคลอรี่ และออกกำลังกายวันละ 30 นาทีขึ้นไป 5 ครั้งต่อสัปดาห์

การเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม มีความสำคัญในผู้ที่ผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อการลดน้ำหนัก เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน และป้องกันน้ำหนักขึ้นในระยะยาว

แนวทางการเลือกรับประทานอาหารที่สำคัญ เช่น เลือกอาหารไขมันต่ำ อาหารที่ไม่มีน้ำตาล และไม่มีการเติมน้ำตาลเพิ่ม กินอาหารประเภทโปรตีนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงน้ำอัดลมหรือโซดา เคี้ยวอาหารให้ละเอียด ใช้เวลาในการรับประทานอาหารอย่างน้อย 20-30 นาที

โรคหลอดเลือดสมอง หรือ อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นโรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำได้ หากขาดการป้องกันและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลือกรับประทานอาหารเพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน 

การลดเกลือโซเดียมจากเครื่องปรุงรสต่างๆ อาหารแปรรูป ลดไขมันจากเนยเทียม กะทิ น้ำมันมะพร้าว และการเพิ่มใยอาหารจากผัก ผลไม้ เลือกโปรตีนไขมันต่ำ ถั่ว นมไขมันต่ำ ช่วยลดความดันโลหิตและช่วยลดน้ำหนักตัวได้

อาหารจัดเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยมะเร็ง การเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมและเพียงพอกับความต้องการของร่างกายเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรง ลดอาการข้างเคียงจากการรักษา และสามารถรับการรักษาได้ตามแผนการรักษาของแพทย์

แนวทางการเลือกอาหารที่มีส่วนช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง ชะลอการดำเนินโรคมะเร็ง และช่วยให้การรักษามะเร็งได้ประสิทธิภาพมากขึ้น มีดังนี้ 

  1. กินธัญพืชไม่ขัดสี ผัก ผลไม้ และถั่วชนิดต่างๆ เป็นหลัก โดยกินใยอาหารอย่างน้อย 30 กรัม/วัน และให้กินผัก ผลไม้รวม 400 กรัมต่อวัน (make wholegrains, vegetable, fruit and beans a major part of usual diet: eat at least 30 g of fiber and at least 400 g of fruit and vegetable each day)
  2. จำกัดอาหารจานด่วน อาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูปที่มีไขมัน แป้ง หรือน้ำตาลสูง (limit fast foods and other processed foods high in fat, starches or sugars)
  3. จำกัดเนื้อแดง และเนื้อแปรรูป (limit red and processed meat
  4. ลดเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล (cut down on sugary drinks)
  5. จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ (limit alcohol consumption)

ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง การคุมอาหารจะช่วยชะลอความเสื่อมของไตได้ อาหารที่ต้องควบคุมได้แก่ 

  • โปรตีน ซึ่งปริมาณโปรตีนที่เหมาะสมจะขึ้นอยู่กับระยะความเสื่อมของไต (ควรปรึกษานักกำหนดอาหารเพื่อทราบปริมาณโปรตีนที่เหมาะสมรายบุคคล) 
  • เกลือโซเดียม ให้ลดการใช้เครื่องปรุงเวลาทำอาหาร ลดการเติมเครื่องปรุงเพิ่มเวลากิน หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป
  • ฟอสฟอรัส หลีกเลี่ยงอาหารฟอสฟอรัสสูง เช่น นม เนย ไข่แดง ถั่ว และเมล็ดพืชต่างๆ รวมถึงเครื่องดื่ม เช่น โคล่า โกโก้ โอวัลติน ไมโล เบียร์ น้ำแร่
  • โปแตสเซียม หลีกเลี่ยงผัก ผลไม้ที่มีโปแตสเซียมสูง เช่น ผักสีเขียวเข้ม ดอกกะหล่ำ แครอท ฟักทอง มันชนิดต่างๆ มะละกอ กล้วย ส้ม มะม่วง ทุเรียน ผลไม้แห้ง น้ำผัก และน้ำผลไม้

ผู้ป่วยโรคไตที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ยังต้องคุมอาหารเหมือนผู้ป่วยไตเรื้อรัง แต่ต้องกินโปรตีนเพิ่มขึ้น เนื่องจากในการฟอกเลือดแต่ละครั้งจะมีการสูญเสียกรดอะมิโนซึ่งเป็นส่วนประกอบของโปรตีน นอกจากนี้การฟอกเลือดยังกระตุ้นให้มีการสลายกล้ามเนื้อในร่างกายเพิ่มขึ้น

กรดไหลย้อนป้องกันได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม คือ เคี้ยวอาหารให้ละเอียด เลี่ยงอาหารมื้อหนัก และควรเว้นระยะเวลา 3-4 ชั่วโมงก่อนเข้านอน

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง คือ

  1. อาหารไขมันสูง เช่น เนื้อติดมัน อาหารทอด กะทิ นม เนย ชีส ไอศกรีม
  2. อาหารที่ทำให้เกิดกรดและแก๊สในกระเพาะอาหาร เช่น อาหารเผ็ด อาหารหมักดอง อาหารรสเค็มจัด เปรี้ยวจัด และถั่วต่างๆ
  3. เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา โกโก้ ช็อกโกแลต น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง

โรคกระเพาะ การเลือกอาหารที่เหมาะสมอาจช่วยคุมอาการของโรคกระเพาะได้ ควรเลือกอาหารที่ส่งผลดีต่อการย่อย ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร เช่น อาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี และอาหารที่มีโพรไบโอติกส์ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น กิมจิ ชาหมัก โยเกิร์ต ควรหลีกเลี่ยงอาหารเช่นเดียวกับโรคกรดไหลย้อนด้วย

บทความสุขภาพ

อ่านบทความสุขภาพเพิ่มเติม

อ่านบทความสุขภาพเพิ่มเติม