ผมร่วง
ผมร่วง (Hair Loss) หมายถึง การสูญเสียเส้นผมบนศีรษะหรือกับทุกส่วนในร่างกาย ลักษณะความรุนแรงอาจแตกต่างกันการสังเกต
- เห็นผมจำนวนมากในท่อระบายน้ำหลังจากสระผม
- เห็นผมเป็นก้อนผมในแปรง บนหมอน
- สังเกตผมบางหรือศีรษะล้านเป็นหย่อมๆ ผมกลางศีรษะน้อยลง ไรผมสูงขึ้น
แสดงว่ามีผมร่วงมากกว่าปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการผมร่วงและแนะนำแผนการรักษาที่เหมาะสม
ผมร่วงมากแค่ไหนจึงจะเรียกว่าผิดปกติ ?
- ผมร่วงมากกว่าวันละ 70-100 เส้น ในคนที่สระผมเป็นประจำเกือบทุกวัน หรือผมร่วงมากกว่าวันละ 200 เส้น ในคนที่สระผมห่างกันครั้งละ 3-4 วัน
- ผมร่วงตอนสระผมหรือเป่าผมในปริมาณไม่มากจัดว่าเป็นผมร่วงปกติ แต่ผมหลุดร่วงระหว่างวัน ระหว่างทำกิจวัตรประจำวันมาก ๆ โดยรวมเกินวันละ 70-100 เส้น ถือว่าผิดปกติ เช่น บนหมอนหลังตื่นนอนตอนเช้า ทานข้าว ทำครัว นั่งทำงาน เป็นต้น
- ผมร่วงเป็นหย่อม ผมร่วงไปจนเปลี่ยนเป็นหย่อมขนาดเล็กเท่าเหรียญสิบ
สาเหตุ
- ลักษณะที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของผมร่วง คือ มีประวัติครอบครัวที่มีศีรษะล้าน มีการศึกษาเชื่อว่าสาเหตุทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม เช่น ความเครียด และมลภาวะ สามารถเป็นปัจจัยกระตุ้นการเกิดภาวะผมบางได้ โดยมีความสัมพันธ์กับกับฮอร์โมนเพศชายที่ชื่อ แอนโดรเจน เนื่องจากฮอร์โมนนี้เป็นตัวกําหนดวงจรและควบคุมการเติบโตของเส้นผม
- ความเครียด ความเจ็บป่วยหรือการผ่าตัด การมีไข้เป็นเวลานาน การคลอดบุตร ภาวะเครียดทางจิตใจ การลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น เป็นต้น
- ผลข้างเคียงจากยารักษาโรค เเช่น โรคมะเร็ง ความดันโลหิตสูง โรคข้ออักเสบ ภาวะซึมเศร้า
- อาการแพ้ยาบางชนิด
- การฉายรังสี
- การติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อรา ซิฟิลิส เอชไอวี เริม
- โรคทางผิวหนัง DLE และโรคทางภูมิคุ้มกัน SLE (Systemic and discoid lupus erythematosus)
- โรคบางชนิดที่อาจทำให้ผมร่วง เช่น ปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมน ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนสูงหรือต่ำเกินไป
- การติดเชื้อที่หนังศีรษะ และโรคที่ทำให้เกิดแผลเป็น เช่น ไลเคนพลานัสและโรคลูปัสบางชนิด อาจทำให้ผมร่วงถาวรได้เนื่องจากแผลเป็น ภาวะโลหิตจาง
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอาจทำให้ผมร่วงได้ชั่วคราว ได้แก่ การตั้งครรภ์ การคลอดบุตร การเลิกใช้ยาคุมกำเนิด วัยหมดประจำเดือน
- ภาวะเจ็บป่วย การผ่าตัด ความเครียดหรือเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ อาจส่งผลกระทบให้เกิดภาวะผมร่วงชั่วคราว ซึ่งผมจะเริ่มงอกใหม่โดยไม่ต้องรักษา
- ขาดสารอาหาร เช่น โปรตีน ธาตุเหล็ก และสารอาหารอื่นๆ อาจทำให้ผมบางได้
- เส้นผมถูกดึงรั้งแน่นเกินไป ด้วยการม้วนด้วยที่ม้วนผม การมัดผมหางม้า และการถักผมเปียติดหนังศีรษะ
- การบิดม้วนและดึงผมที่เกิดจากปัญหาทางจิตใจ
การวินิจฉัย
แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย สอบถามเกี่ยวกับประวัติการใช้ยาและประวัติการเจ็บป่วยของผู้ป่วยและครอบครัว รวมทั้งอาจวินิจฉัยเพิ่มเติมได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- ตรวจเลือด (Blood test) เพื่อช่วยในการหาสาเหตุอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดผมร่วง
- การดึงผม (Pull test) แพทย์จะทำการดึงผมเพื่อดูจำนวนผมที่หลุดติดมือมา
- ตรวจชิ้นเนื้อหนังศีรษะ (Scalp biopsy) โดยนำตัวอย่างผิวหนังบริเวณที่เกิดอาการไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อหาสาเหตุของอาการผมร่วง
การรักษา
- ใช้ยา ส่วนใหญ่การใช้ยาเป็นวิธีการรักษาผมร่วงเริ่มแรก ทั้งยาชนิดทาและยาสำหรับรับประทาน โดยคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากมีผลข้างเคียงจากยาที่ต้องระวัง
- ปรับฮอร์โมน ในกรณีผมร่วงจากภาวะฮอร์โมนบกพร่อง
- ฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น PRP (Platelet-rich Plasma) เพื่อกระตุ้นการทำงานของสเต็มเซลล์บริเวณรากผม
- ทำเลเซอร์ เพื่อแก้ปัญหาการเสื่อมสภาพของเส้นผม และช่วยกระตุ้นรากผมให้แข็งแรง
- การปลูกผม โดยวิธีผ่าตัดเจาะรากผมบริเวณท้ายทอย ซึ่งเป็นบริเวณไม่ค่อยโดนผลกระทบจากฮอร์โมน แล้วย้ายรากผมมาปลูกลงในบริเวณที่ต้องการ
การป้องกัน
การป้องกันภาวะผมร่วงสามารถทำได้หลายวิธี ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นการดูแลรักษาตัวเองในชีวิตประจำวัน และการใช้ผลิตภัณฑ์หรือการรักษาเฉพาะทางดังนี้:
การดูแลรักษาตัวเองในชีวิตประจำวัน
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นวิตามินที่ช่วยบำรุงเส้นผม เช่น ธาตุเหล็ก สังกะสี วิตามินดี วิตามินบี 1 3 7 (ไบโอติน) และ บี 12
- หลีกเลี่ยงความเครียด ความเครียดสามารถทำให้ผมร่วงมากขึ้นได้ การทำกิจกรรมที่ช่วยลดความเครียด เช่น การออกกำลังกาย, การฝึกสมาธิ หรือการพักผ่อนที่เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงการทำร้ายเส้นผมหลีกเลี่ยงการใช้ความร้อนสูงในการจัดแต่งทรงผม เช่น การใช้เครื่องเป่าผม, ที่หนีบผม, หรือการดัดผมบ่อยๆ
- หลีกเลี่ยงการทำสีผมบ่อยเกินไป หลีกเลี่ยงการทำเคมีหรือทำให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะการยืดหรือดัดผม ร่วมกับการย้อมผม การกัดสีผมจะทำให้ผมแห้งเสียได้
- ไม่สระผมด้วยน้ำร้อนจัด หรือหวีผมในขณะที่ผมเปียก
- รักษาความสะอาดของหนังศีรษะ สระผมให้สะอาดสม่ำเสมอ และใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับสภาพผมและหนังศีรษะ โดยแชมพูที่ใช้นั้นต้องไม่ก่อให้เกิดการแพ้ การคัน รังแค หรือผื่นบนหนังศีรษะ
- นวดหนังศีรษะ การนวดหนังศีรษะเบา ๆ จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและส่งเสริมการเจริญเติบโตของเส้นผม
- หลีกเลี่ยงการมัดผมแน่นเกินไป พยายามอย่าดึง บิด หรือขยี้ผมแรง
การใช้ผลิตภัณฑ์และการรักษาเฉพาะทาง
- แชมพูและครีมนวดใช้ผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันผมร่วงหรือส่งเสริมการเจริญเติบโตของเส้นผม
- ยาและวิตามินเสริม อาจมีการใช้ยาหรือวิตามินเสริม เช่น ไบโอติน, มินอกซิดิล (Minoxidil) สำหรับผู้ที่มีปัญหาผมร่วง
- การบำบัดด้วยเลเซอร์มีการใช้เลเซอร์แบบต่ำ (Low-Level Laser Therapy) เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผม
- การปลูกผมในกรณีที่มีผมร่วงมากหรือศีรษะล้าน อาจต้องพิจารณาการปลูกผม
การดูแลผมและหนังศีรษะให้ดีในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันผมร่วง นอกจากนี้หากพบว่าผมร่วงมากผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและวิธีการรักษาที่เหมาะสม
Post Views: 1,749