เมื่อคุณถ่ายเป็นเลือด หมายถึงเกิดความผิดปกติภายในระบบทางเดินอาหารแน่นอน การพยากรณ์ความรุนแรงของโรคที่จะตามมานั้น สามารถดูได้จากจำนวนครั้งที่ถ่ายเป็นเลือด หรือปริมาณเลือดที่ออกมา ซึ่งผู้ที่มีเลือดออกมากก็จะมีโอกาสเกิดโรคมากกว่า หรือการมีเลือดหยดหลังจากถ่ายอุจจาระ อาจเกิดจากบาดแผลที่เส้นเลือดดำส่วนปลายทวาร แต่หากอุจจาระมีเลือดปนหรือถ่ายออกมามีเลือดอย่างเดียว นั่นหมายถึงการมีเลือดออกมากในลำไส้ใหญ่จากความผิดปกติบางอย่าง โรคที่เกี่ยวข้องได้แก่
1. โรคริดสีดวงทวาร
ถ่ายเป็นเลือดเป็นอาการหลักของโรคริดสีดวงทวาร ซึ่งเกิดจากการเบ่งอุจจาระเป็นประจำเนื่องจากท้องผูก ท้องเสีย ทำให้เส้นเลือดดำที่ปลายทวารหนักบวมและไม่ยุบลงไป เกิดเป็นตุ่มริดสีดวง บางคนที่ริดสีดวงอักเสบมากๆ จนหลุดออกมาด้านนอก ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บเวลาเดินหรือนั่งอย่างมาก หลังจากนั้นเวลาขับถ่ายก็จะมีเลือดออกมาเป็นหยดหลังการถ่าย หรือมีเลือดเปื้อนทิชชู่ตอนเช็ดทำความสะอาด ส่วนอุจจาระเป็นสีปกติ บางคนไม่รู้สึกเจ็บปวด อาการจะเป็นแบบเป็นๆ หายๆ แต่บางคนก็รู้สึกเจ็บบริเวณทวารหนัก คันบริเวณก้น และขับถ่ายลำบากร่วมด้วย
2. ลำไส้ใหญ่อักเสบ
เกิดจากโรคติดเชื้อบางชนิด เช่น โรคบิดทั้งมีตัวและไม่มีตัว ซึ่งมีอาการโรคลำไส้ใหญ่อักเสบที่สำคัญคือถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายบ่อย ๆ มีไข้ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ถ่ายเป็นมูกร่วมกับมีเลือด หรือถ่ายเป็นเลือด ซึ่งต้องทำการรักษาต่อไป
3. ติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่
เป็นเนื้องอกที่เกิดจากกรรมพันธุ์ผิดปกติ มักพบในผู้ชายมากกว่าเพศหญิงที่อายุมากกว่า 50 ปี และสามารถพัฒนาเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ โดยติ่งเนื้องอกนี้เกิดได้ทุกส่วนของลำไส้ใหญ่ มีรูปร่างกลม สีออกชมพู อาจมีก้อนเดียวหรือหลายก้อน โดยผู้ป่วยไม่มีอาการแสดงให้เห็น แต่บางครั้งจะมีเลือดออกในลำไส้ใหญ่ ทำให้มีเลือดเคลือบผิวอุจจาระที่ขับถ่ายออกมา ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นๆ หายๆ โดยแพทย์มักแนะนำให้คนที่อายุมากกว่า 50 ปีตรวจลำไส้ใหญ่เพื่อตรวจหาติ่งเนื้อที่อาจเกิดขึ้น
4. มะเร็งลำไส้ใหญ่
มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งที่พบบ่อยทั้งในไทยและทั่วโลก ส่วนใหญ่พบในคนที่อายุมากกว่า 60 ปี โดยผู้ป่วยจะขับถ่ายผิดปกติ เช่น ท้องผูก ท้องเสีย อุจจาระมีเลือด เป็นต้น ผู้ป่วยบางคนมาหาหมอเพราะเสียเลือดจนเป็นโลหิตจาง ส่วนมากจะพบมะเร็งบริเวณลำไส้ใหญ่ในช่องท้องมากกว่าลำไส้ตรง มะเร็งชนิดนี้เกิดจากการรับประทานอาหารไขมันสูงเป็นประจำและส่วนหนึ่งเกิดจากกรรมพันธุ์ มักรักษาไม่หายขาด ต้องใช้การส่องกล้องหรือวิธีอื่นเพื่อตรวจหาโรค และตัดเนื้อร้ายออกเพื่อป้องกันการลุกลามของโรค
การถ่ายเป็นเลือด นอกจากจะเป็นสัญญาณอันตรายถึงโรคต่าง ๆ แล้ว แต่อาจมาจากสาเหตุอื่นได้เช่น จากการกินอาหารที่มีเลือดสัตว์เป็นส่วนประกอบ หรือกินยาบำรุงเลือดก็เป็นได้ ดังนั้นหากมีอาการถ่ายเป็นเลือด หรือสีคล้ายเลือดเล็กๆ น้อยๆ และไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ อาจลองทานผักผลไม้ให้มากขึ้น ดื่มน้ำให้มากขึ้น และออกกำลังกายสม่ำเสมอ อาจช่วยให้อาการดังกล่าวดีขึ้น แต่หากไม่แน่ใจ ให้มาพบแพทย์เพื่อ ตรวจอุจจาระเพื่อค้นหาภาวะเลือดออก หรือ ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ก็จะเป็นการดี ทั้งนี้เพื่อแพทย์จะได้ทำการรักษาได้อย่างเหมาะสม
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความผิดปกติของลำไส้หรือระบบทางเดินอาหารสามารถติดต่อปรึกษากับทีมศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ ได้ที่ทุกช่องการติดต่อของโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา