Skip to content

ปวดท้อง แสบท้อง เป็นแผลในกระเพาะอาหาร เกิดจากอะไร ?

แผลในกระเพาะอาหารเกิดจากอะไร

อาการปวดท้อง แสบร้อนในช่องท้องเป็นความทรมานที่หลายคนอาจเคยพบเจอ หรือเป็น ๆ หาย ๆ อาการลักษณะนี้อาจสงสัยว่าเป็นแผลในกระเพาะอาหาร ในบทความนี้โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยาได้นำเสนอสาเหตุสำคัญของการเกิดแผลในกระเพาะอาหารที่ควรรู้จักเอาไว้

ทำความรู้จักแผลในกระเพาะอาหาร

แผลในกระเพาะอาหาร (stomach ulcer) คือภาวะที่เกิดแผลบริเวณเยื่อบุกระเพาะอาหาร และอาจเกิดขึ้นกับบริเวณลำไส้เล็กส่วนต้น (ลำไส้เล็กส่วนที่ติดกับกระเพาะอาหาร) โดยปกติแล้วภายในกระเพาะอาหารของจะมีชั้นเมือกหนา ที่ช่วยปกป้องเยื่อบุกระเพาะอาหารจากการกัดกร่อนของน้ำย่อยในกระเพาะ แต่เมื่อเกิดความผิดปกติบางอย่างอาจทำให้ชั้นเมือกลดลงจนทำให้เกิดการเยื่อบุกระเพาะอาหารถูกกัดกร่อนและเกิดเป็นแผลในกระเพาะอาหาร

อ่านบทความเพิ่มเติม: อาการของแผลในกระเพาะอาหาร

แผลในกระเพาะอาหาร เกิดจากอะไร ?

2 สาเหตุหลัก ๆ ที่มีแนวโน้มทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารมากที่สุดคือ การติดเชื้อ H.pylori (เอชไพโลไร) และผลข้างเคียงจากการใช้ยาแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs (เอ็นเสด) มากเกินไป

การติดเชื้อ H. pylori

เชื้อ H. pylori (Helicobacter pylori) เป็นแบคทีเรียที่พบได้ทั่วไปที่พบได้ทั่วไปในประเทศเขตร้อน มักปนเปื้อนและเข้าสู่ร่างกายผ่านการรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด น้ำที่ไม่สะอาด อาหารที่ไม่ผ่านการปรุงด้วยความร้อน และอาหารที่สัมผัสกับช้อน ชาม หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ไม่สะอาด เมื่อแบคทีเรียตัวนี้เข้าสู่ร่างกายแล้วจะอาศัยอยู่ภายในกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดที่ป้องกันตัวเองจากน้ำย่อยในกระเพาะอาหารได้ ต่างจากแบคทีเรียชนิดอื่นที่จะถูกกำจัดภายในระบบย่อยอาหาร

อย่างไรก็ตามคนส่วนใหญ่อาจได้รับเชื้อ H. pylori และไม่แสดงอาการหรือไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลยเป็นเวลาหลายปีก็ได้ แต่คนที่มีแบคทีเรียเติบโตและเพิ่มจำนวนในกระเพาะอาหารมาก ๆ อาจถูกแบคทีเรียกัดกินเนื้อเยื่อในกระเพาะอาหารจนทำให้เกิดการอักเสบและเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้

จะรู้ได้ไงว่าเป็นแผลในกระเพาะอาหาร

การใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs มากเกินไป

ยากลุ่ม NSAIDs ย่อมาจาก non-steroidal anti-inflammatory drug หมายถึง ยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ คนทั่วไปมักเรียกว่า ยาแก้ปวดข้อ หรือยาแก้ข้ออักเสบ ยากลุ่มนี้เป็นยาที่ใช้รักษาอาการทั่วไป เช่น ปวด บวม อักเสบ ลดไข้ ปวดหัว ไมเกรน ปวดกล้ามเนื้อ เช่น แอสไพริน (Aspirin) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ไดโคลฟีแนค (Diclofenac) นาพรอกเซน (Naproxen) อินโดเมทาซิน (Indomethacin) อีโตริคอกซิบ (Etoricoxib) เซเลโคซิบ (Celecoxib) เมเฟนามิค แอซิด (Mefenamic Acid) ไพร็อกซิแคม (Piroxicam) และมีลอกซิแคม (Meloxicam) เป็นต้น

พฤติกรรมการใช้ยากลุ่ม NSAIDs ที่เพิ่มโอกาสเป็นแผลในกระเพาะอาหารคือการใช้ยากลุ่มนี้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน หรือใช้เกินขนาดที่ฉลากยาแนะนำ โดยเฉพาะยาที่สามารถซื้อเองได้เช่น แอสไพริน และไอบูโพรเฟน เนื่องจากยาเหล่านี้จะส่งผลให้เกิดการระคายเคืองในเนื้อเยื่อกระเพาะอาหาร การใช้ยากลุ่มนี้จึงต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของเภสัชกรและอ่านข้อบ่งชี้และคำเตือนบนฉลากเสมอ

ยกตัวอย่างฉลากยาของไอบูโพรเฟน หากลองสังเกตที่ฉลากยาอาจมีข้อความเตือนว่า

“หากได้รับยานี้แล้วเกิดอาการผิดปกติ เช่น เกิดแผลหรือเลือดออกในทางเดินอาหาร (ปวดท้อง แสบท้อง อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดํา) หรือไตผิดปกติ (บวม ปัสสาวะออกน้อย) ควรหยุดยาและพบแพทย์ทันที”

สาเหตุการเกิดในกระเพาะอาหารที่พบได้ยาก

2 สาเหตุต่อไปนี้เป็นสาเหตุที่อาจส่งผลให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้แต่พบไม่มากนัก

  • กลุ่มอาการโซลลิงเจอร์-เอลลิสัน (Zollinger-Ellison Syndrome) กลุ่มอาการนี้เป็นความผิดปกติที่ทำให้กระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อยมากเกินไป ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหารมากขึ้น
  • ความเครียดจากการตอบสนองทางสรีระ (Physiological stress) เมื่อร่างกายเราเกิดการไม่สบายทางสรีระบางอย่างเช่น ป่วยไข้ แสบร้อนจากแผล การบาดเจ็บ ภายในร่างกายจะเกิดความเครียดทางสรีระและมันส่งผลต่อการหลั่งฮอร์โมน การหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ความสมดุลของค่าความเป็นกรดเป็นด่าง แม้จะพบได้ไม่บ่อยนักด้วยปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้

ป้องกันแผลในกระเพาะอาหาร รักษายังไง

การป้องกันเพื่อลดโอกาสเกิดแผลในกระเพาะอาหาร

แผลในกระเพาะอาหารเราสามารถป้องกันได้ด้วยการลดความเสี่ยงที่ส่งผลต่อการอักเสบการระคายเคืองภายในเยื่อบุกระเพาะอาหาร

  • ป้องกันการรับเชื้อ H. pylori ปัจจุบันอาจจะยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเชื้อ H. pylori แพร่กระจายผ่านทางใดบ้าง แต่ที่พบได้บ่อยคือการปนเปื้อนในน้ำและอาหาร ซึ่งสามารถป้องกันตัวเบื้องต้น้ด้วยการหมั่นล้างมือให้สะอาด รับประทานอาหารที่ปรุงสุกเป็นประจำ
  • ระมัดระวังคำเตือนในฉลากทุกครั้งที่ใช้ยาแก้ปวด โดยเฉพาะเมื่อใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ที่ส่งผลต่อการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร การปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากจะช่วยลดความเสี่ยงเป็นแผลในกระเพาะอาหารได้
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่เมื่อใช้ยา หากใช้ยากลุ่ม NSAIDs ควรเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่เพราะอาจทำให้เยื่อบุในกระเพาะอาหารอักเสบมากยิ่งขึ้น

เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์หากสงสัยว่าเป็นแผลในกระเพาะอาหาร

โดยทั่วไปคนที่มีแผลในกระเพาะอาหารอาจมีอาการปวดแสบร้อนภายในช่องท้อง ท้องอืด เพียงเล็กน้อย แต่หากมีอาการเหล่านั้นเป็นระยะเวลานาน ร่วมกับมีอาการอาหารไม่ย่อย น้ำหนักลดผิดปกติ หาสาเหตุไม่ได้ ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ

และในผู้ที่มีอาการแผลในกระเพาะอาหารรุนแรงดังต่อไปนี้ จำเป็นต้องได้รับการวางแผนรักษาที่เหมาะสมเพื่อลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อน

  • อาเจียนหรืออาเจียนมีเลือดปน
  • อุจจาระมีเลือด
  • อ่อนเพลีย หน้ามืด

แผลในกระเพาะอาหาร เลือดออก

สรุปสาเหตุของแผลในกระเพาะอาหาร

แผลในกระเพาะอาหารมีสาเหตุหลักที่สำคัญคือการติดเชื้อ H. pylori เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ส่งผลให้เยื่อบุกระเพาะอาหารของเราเสียหาย นอกจากนี้ยังอาจเป็นผลข้างเคียงของการใช้ยาแก้อักเสบบางชนิด หากพบอาการที่ไม่พึงประสงค์ หรือมีความรุนแรงมากควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุและเข้าสู่กระบวนการรักษา


Reference,

Cleveland Clinic. (2020). Peptic Ulcer Disease. Retrieved from https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/10350-peptic-ulcer-disease/

Cleveland Clinic. (2022). Stomach Peptic Ulcer. Retrieved from https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/22314-stomach-peptic-ulcer/

Mayo Clinic. (2022). Peptic ulcer: Symptoms & causes. Retrieved from https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/peptic-ulcer/symptoms-causes/syc-20354223

เอชไพโรไล

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง