Skip to content

7 สัญญาณเตือนมะเร็งลำไส้ รู้ไว้สังเกตได้ด้วยตัวเอง

หน้าแรก  >  บทความเกี่ยวกับสุขภาพ

สัญญาณอาการมะเร็งลำไส้

ขึ้นชื่อว่ามะเร็งไม่ว่าจะเป็นที่บริเวณไหนต่างก็ถูกนับว่าเป็นโรคร้ายที่หลายคนกังวล และแพทย์ก็แนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งประจำทุกปีเพื่อสังเกตความเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายที่อาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพและการใช้ชีวิต

ทำความรู้จักโรคมะเร็งลำไส้

มะเร็งลำไส้เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่เซลล์มะเร็งเริ่มลุกลามที่บริเวณลำไส้ใหญ่ที่เป็นอวัยวะลำดับสุดท้ายของระบบทางเดินอาหาร มะเร็งลำไส้พัฒนามาจากติ่งเนื้อหรือการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเยื่อบุลำไส้ ทางที่ดีในการรักษามะเร็งลำไส้ ควรได้รับการตรวจคัดกรองตั้งแต่เป็นติ่งเนื้อ เพราะหากปล่อยไว้ไม่ได้รักษาจนเชื้อพัฒนาเป็นเนื้องอกมะเร็งจะเกิดการลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ บนร่างกาย ซึ่งทำให้การรักษายากขึ้น

7 อาการและสัญญาณเตือนโรคมะเร็งลำไส้

ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้หลายท่านมักไม่ทันสังเกตว่าเป็นมะเร็งเนื่องจากมะเร็งลำไส้ไม่ได้มีอาการที่ชัดเจน หรือต่อให้มีอาการก็มีความคล้ายคลึงกับโรคที่ไม่ได้รุนแรง คนที่มีโรคมะเร็งลำไส้จึงอาจละเลยการคัดกรองมะเร็งจนโรคพัฒนาไปถึงระยะที่มีความรุนแรงมากขึ้น อาการทั่วไปที่อาจเป็นสัญญาณเตือนบ่งบอกว่ามีความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ได้แก่

  1. ถ่ายเป็นเลือด หากพบว่ามีเลือดปนกับอุจจาระควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษา ทั้งนี้อาการถ่ายเป็นเลือดอาจไม่ได้มีสาเหตุจากมะเร็งลำไส้เสมอไป อาจมีสาเหตุมาจากโรคอื่น ๆ ได้เช่น โรคริดสีดวงทวาร
  2. ระบบขับถ่ายเปลี่ยนแปลง เมื่อระบบขับถ่ายผิดปกติเช่น ท้องผูกหรือท้องเสียอย่างต่อเนื่องระยะเวลาหนึ่ง หาสาเหตุไม่ได้
  3. ปวดบริเวณหน้าท้องไม่ทราบสาเหตุ อาการปวดท้องเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่ควรพบแพทย์หากมีอาการปวดบริเวณหน้าท้องอย่างต่อเนื่องและหาสาเหตุไม่ได้
  4. ท้องอืดต่อเนื่อง ท้องอืดเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุเช่นเดียวกับอาการปวดท้อง ควรพบแพทย์เมื่อเกิดอาการท้องอืดอย่างต่อเนื่องและหาสาเหตุไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยเช่นอาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด
  5. น้ำหนักลดผิดปกติ อาการนี้เป็นสัญญาณเตือนที่ค่อนข้างเด่นชัดโดยเฉพาะเมื่อน้ำหนักลดลงโดยไม่ได้จงใจลดน้ำหนัก
  6. อาเจียนผิดปกติหาสาเหตุไม่ได้ อาการนี้มีความรุนแรงและอันตราย โดยเฉพาะเมื่ออาเจียนถี่ภายใน 24 ชม. และหาสาเหตุไม่ได้
  7. เหนื่อยหอบและหายใจถี่ อาการนี้เป็นอาการหนึ่งของโรคโลหิตจาง ซึ่งอาจเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคมะเร็งลำไส้

อย่างที่เห็นว่าอาการต่าง ๆ มีความคล้ายคลึงกับโรคทั่วไปจึงทำให้สังเกตได้ยาก เมื่อมีอาการอย่างต่อเนื่องผิดปกติและหาสาเหตุไม่ได้ แม้สาเหตุนั้นไม่ได้เกิดจากมะเร็งลำไส้ อาจมาจากภาวะหรือโรคบางอย่างก็ควรรีบพบแพทย์เพื่อรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งลำไส้

มะเร็งลำไส้เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ได้มีสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งอย่างชัดเจน อาจเป็นปัจจัยด้านสุขภาพและพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ทั้งสภาพแวดล้อม การรับการรับประทานอาหาร เช่น

  • การสูบบุหรี่ รวมถึงการเคี้ยวใบยาสูบและสูบบุหรี่ไฟฟ้า
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
  • การบริโภคอาหารไขมันสูง ใยอาหารต่ำ เนื้อแดงและผลิตภัณฑ์แปรรูปมากเกินไป
  • ขาดการออกกำลังกาย

สำหรับปัจจัยด้านสุขภาพบางอย่างก็อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าเรามีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้ ควรตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้เพื่อวางแผนรับมือตั้งแต่เนิ่น ๆ หากมีความเสี่ยงต่อไปนี้

  • อายุที่มากขึ้น ในความเป็นจริงมะเร็งลำไส้สามารถตรวจเจอได้ในคนทุกวัย แต่ในเชิงสถิติโดยส่วนใหญ่มักตรวจพบในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป
  • เคยตรวจเจอติ่งเนื้อหรือเคยรักษามะเร็งลำไส้มาก่อน ผู้ที่เคยรักษาโรคมะเร็งลำไส้มาแล้วเวลาผ่านไปนาน ๆ อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นอีกครั้ง ควรติดตามอาการและพบแพทย์ตามนัดเป็นประจำ
  • มีภาวะลำไส้อักเสบ เช่น โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ โรคโครห์น(โรคในกลุ่มลำไส้อักเสบชนิดหนึ่ง)
  • กลุ่มโรคทางพันธุกรรมที่เพิ่มโอกาสการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ การกลายพันธุ์ หรือ mutation ของยีนบางอย่างสามารถส่งต่อและเพิ่มโอกาสการเป็นโรคในรุ่นถัดไปได้ อย่างไรก็ตามกรณีนี้มีเปอร์เซ็นต์เพียงน้อยนิดเท่านั้นที่มะเร็งลำไส้จะส่งต่อทางยีนผ่านโรคทางพันธุกรรม ซึ่งกลุ่มอาการพี่พบบ่อยคือ กลุ่มอาการ Lynch syndrome หรือ HNPCC (Hereditary Nonpolyposis Colorectal Cancer) และ กลุ่มอาการ FAP (Familial Adenomatous Polyposis)
  • คนในครอบครัวมีประวัติหรือกำลังเป็นโรคมะเร็งลำไส้ บางปัจจัยอาจมาจากความเกี่ยวข้องทางสายเลือดยิ่งหากเครือญาติหรือคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้หรือมะเร็งทวารหนัก 2 คนหรือมากกว่า อาจเป็นข้อสังเกตว่ามีความเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้
  • โรคเบาหวาน ผู้ที่มีโรคเบาหวาน หรือภาวะดื้ออินซูลินจะมีโอกาสเสี่ยงมะเร็งลำไส้มากกว่าปกติ
  • โรคอ้วน มีปัจจัยหลายอย่างในแง่ของโภชนาการและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วนซึ่งเพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้มากกว่าปกติ

การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้

เนื่องจากมะเร็งลำไส้ไม่ได้มีอาการที่ชัดเจน ทำให้ยากต่อการสังเกตอาการผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ จึงควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ โดยแพทย์จะพูดคุยซักประวัติก่อนเพื่อใช้ในการพิจารณาโรคต่าง ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร ในกรณีมีความเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้แพทย์จะให้คำปรึกษาในการคัดกรองมะเร็งลำไส้ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ใช้คัดกรองหลากหลายแบบหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความเห็นของแพทย์ว่าจะพิจารณาผลตรวจจากเทคโนโลยีใดบ้าง

  • การตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ แพทย์จะนำตัวอย่างอุจจาระไปตรวจเพื่อหาเม็ดเลือดแดงที่แฝงมากับของเสีย ซึ่งเป็นความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร อย่างไรก็ตามแม้ผลตรวจอาจไม่พบเลือดปะปนก็ยังไม่สามารถฟันธงได้รอดจากมะเร็งลำไส้ 100% ดังนั้นการตรวจวิธีนี้จึงควรมีการตรวจทุก 1 ปี
  • การตรวจหาความผิดปกติของ DNA แพทย์จะพิจารณาการกลายพันธุ์หรือความปกติของยีนจากตัวอย่างที่ปกมากับอุจจาระ
  • การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย หรือ Flexible sigmoidoscopy เป็นการใช้กล้องส่องเพื่อตรวจหาความผิดปกติของลำไส้ตรงและลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย เพื่อให้แพทย์ได้ติดตามความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ด้วยวิธีนี้ควรทุก 3-5 ปี
  • การตรวจลำไส้ด้วย Virtual Colonoscopy / CT Colonoscopy การตรวจชนิดนี้จะตรวจด้วยผลเอกซเรย์ เพื่อดูตำแหน่งของติ่งเนื้อ แผล หรือเนื้องอกในลำไส้และทวารหนัก ซึ่งควรมีการตรวจ ทุก 3-5 ปี เช่นกัน
  • การตรวจลำไส้ด้วยการส่องกล้อง Colonoscopy เป็นการตรวจด้วยการสอดลำกล้องเพื่อแสดงภาพภายในลำไส้แบบ real-time เพื่อให้แพทย์สังเกตติ่งเนื้อและความผิดปกติต่าง ๆ ในลำไส้ ควรมีการตรวจทุก 5-10 ปี ซึ่งการตรวจชนิดนี้แพทย์สามารถตัดติ่งเนื้อที่พบในระหว่างการตรวจส่องกล้องในเวลาเดียวกัน

หากมีการตรวจพบติ่งเนื้อก่อนพัฒนาไปเป็นเนื้องอกมะเร็งตั้งแต่ระยะแรก ๆ แล้วเข้ารักษาได้ไวก็จะมีโอกาสหายจากโรคได้มากกว่าการรักษาเมื่อเป็นมะเร็งระยะที่รุนแรง อย่างไรมะเร็งเป็นโรคที่ต้องสังเกตกันระยะยาวไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลเสมอไปเพียงรักษาพฤติกรรมในชีวิตประจำวันให้สุขภาพดี และหมั่นตรวจสุขภาพทุกปีเป็นประจำ

หากมีข้อสงสัยสามารถทำนัด สอบถามข้อมูลหรือปรึกษากับทีมศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ ได้ที่ทุกช่องทางการติดต่อของโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา

ตรวจกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง