Skip to content

เรารู้จักสารต้านอนุมูลอิสระดีแค่ไหน ทำไมถึงดีต่อผิวและสุขภาพ

หน้าแรก  >  บทความเกี่ยวกับสุขภาพ

สารต้านอนุมูลอิสระคืออะไร

Antioxidant หรือสารต้านอนุมูลอิสระเป็นสิ่งที่รู้จักกันดีในด้านการรักษาสุขภาพผิวและความงาม แต่จริง ๆ แล้วสารนี้เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญในการช่วยลดความเสียหายในระดับเซลล์ และป้องกันโรค สารต้านอนุมูลอิสระจึงเป็นสิ่งสำคัญที่หลายคนหันมาให้ความสนใจศึกษา และนำไปปรับโภชนาการให้ได้ประโยชน์มากที่สุด

ความสำคัญของสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย

สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) เป็นสารที่ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ (Free radical) ไม่ให้ส่งผลร้ายกับร่างกาย ในกรณีที่ร่างกายมีระดับอนุมูลอิสระมากเกินไป จะทำให้เนื้อเยื่อและเซลล์เกิดความเสียหาย ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งของโรคหรือภาวะทางสุขภาพบางอย่าง 

โดยปกติแล้วร่างกายสามารถมีอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้นได้จากหลายสาเหตุทั้งจากอาชีพ ไลฟ์สไตล์ อาหารที่รับประทาน มลพิษต่าง ๆ รอบตัว เช่น

  • มลพิษทางอากาศ ควันรถ ควันบุหรี่
  • การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินปริมาณที่แนะนำ
  • สารพิษ ทั้งจากสารเคมีบางชนิด จากสัตว์หรือพืชบางชนิด
  • การมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง
  • การได้รับรังสีบางชนิด รวมถึงการตากแดดมากเกินไป
  • การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือไวรัส
  • มีปริมาณธาตุเหล็ก แมกนีเซียม ทองแดง หรือสังกะสีมากเกินไป
  • การได้รับออกซิเจนในร่างกายมากหรือน้อยเกินไป
  • การออกกำลังกายที่รุนแรงและยาวนานจนทำให้เนื้อเยื่อเสียหาย
  • การรับประทาน วิตามิน C และ E มากเกินไป

สารต้านอนุมูลอิสระ วิตามิน

รู้จักอนุมูลอิสระ สารต้านอนุมูลอิสระ และปฏิกิริยาออกซิเดชัน

ย้อนกลับไปห้องเรียนวิทยาศาสตร์มัธยมปลายกันสักนิด ปฏิกิริยาออกซิเดชันเป็นกระบวนการทางเคมีอย่างหนึ่งที่ในร่างกายและเกี่ยวข้องกับอนุมูลอิสระโดยตรง และสารต้านอนุมูลอิสระจะเป็นกุญแจสำคัญของการลดความเสียหายของเซลล์จากปฏิกิริยานี้

  • อนุมูลอิสระ หรือ Free radical คือ โมเลกุลหรืออะตอมที่มีอิเล็กตรอนอิสระอยู่เพียงตัวเดียว ทำให้อนุมูลอิสระนั้นเป็นสารที่ไม่เสถียร ซึ่งอนุมูลอิสระเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ ในร่างกายเกิดจากการเผาผลาญอาหาร รวมไปถึงจากมลพิษต่าง ๆ จากสภาพแวดล้อมรอบตัว เช่น ฝุ่น ควันบุหรี่ ควันรถยนต์ โอโซน โลหะหนัก เป็นต้น
  • สารต้านอนุมูลอิสระ เป็นสารที่จะจับคู่กับอนุมูลอิสระทำให้เกิดความเสถียร ช่วยยับยั้งหรือชะลอการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันกับสารต่าง ๆ ในร่างกายได้
  • ปฏิกิริยาออกซิเดชัน (Oxidation) คือปฏิกิริยาที่โมเลกุลหรืออะตอมสูญเสียอิเล็กตรอนไปให้โมเลกุลหรืออะตอมอื่น อย่างที่ได้กล่าวไว้ว่าอนุมูลอิสระเป็นสารที่ไม่เสถียร และการไม่เสถียรนี้ส่งผลให้อนุมูลอิสระไปจับคู่กับสารอื่นในร่างกาย เกิดการถ่ายโอนอิเล็กตรอนเพื่อทำให้ตัวเองเสถียร ในขณะเดียวกัน เมื่อเกิดสารหนึ่งถ่ายโอนอิเล็กตรอนไปแล้ว สารนั้นก็จะกลายเป็นอนุมูลอิสระตัวใหม่ อนุมูลอิสระตัวนี้ก็จะไปจับคู่กับสารอื่นอย่างต่อเนื่อง ปฏิกิริยานี้เรียกว่าปฏิกิริยาออกซิเดชันแบบลูกโซ่

ผลกระทบเชิงลบของปฏิกิริยาออกซิเดชันภายในร่างกาย

ปฏิกิริยาออกซิเดชัน (Oxidation) เกิดขึ้นในร่างกายตลอดเวลาเป็นปกติ ในเชิงบวกนั้นช่วยในกระบวนการย่อยอาหาร ในบางกรณีสามารถช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ แต่ในเชิงลบโดยเฉพาะปฏิกิริยาออกซิเดชันแบบลูกโซ่นั้นส่งผลกระทบเชิงลบต่าง ๆ ได้ เช่น

  • เซลล์เกิดความเสียหาย ทำลายเซลล์และเนื้อเยื่อ
  • เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคอัลไซเมอร์ และโรคข้ออักเสบ
  • เร่งกระบวนการชราภาพ
  • ทำให้ผิวหนังเกิดริ้วรอย

สารต้านอนุมูลอิสระ มีกี่ประเภท

สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) หาได้จากที่ไหน

คำว่า “สารต้านอนุมูลอิสระ” เป็นคำที่ใช้เรียกสารหรือกลุ่มสารที่มีคุณสมบัติช่วยทำให้อนุมูลอิสระกลายเป็นสารที่เสถียร ไม่ก่ออันตรายต่อเซลล์ โดยหลักการแล้วสารต้านอนุมูลอิสระจะแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ

อนุมูลอิสระประเภทละลายในน้ำ

  • วิตามินซี (Vitamin C) หรือ กรดแอสคอบิก (Ascorbic acid) พบได้ในผักและผลไม้ เช่น มะนาว ส้ม สตรอเบอร์รี่ ผักโขม คะน้า
  • กรดฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) พบได้ในผักและผลไม้ เช่น ชาเขียว ถั่วเหลือง บลูเบอร์รี่

อนุมูลอิสระประเภทละลายในไขมัน

  • เบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) พบได้ในผักและผลไม้ที่มีสีส้มและเหลือง เช่น แครอท ฟักทอง มะละกอ มะม่วง
  • ลูทีน (Lutine) พบได้ในผักใบเขียว เช่น ผักโขม คะน้า บรอกโคลี
  • ซีลีเนียม (Selenium) พบได้ในอาหารทะเล เช่น ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ถั่วและเมล็ดพืช
  • โคเอนไซม์ Q10 (Coenzyme Q10) พบได้ในเนื้อสัตว์ ตับ ไข่ ถั่วและเมล็ดพืช

สารต้านอนุมูลอิสระ ผิว

4 ประโยชน์ของสารต้านอนุมูลอิสระในมุมของการดูแลสุขภาพ

  1. ช่วยส่งเสริมสุขภาพหัวใจ เลือด และหลอดเลือด สารต้านอนุมูลอิสระจะช่วยลดการอักเสบและปรับปรุงการทำงานของเลือด ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง
  2. ช่วยลดความเสี่ยงโรคเรื้อรัง สารต้านอนุมูลอิสระจะช่วยปกป้องความเสียหายของเซลล์ที่อาจก่อให้เกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจบางชนิด โรคมะเร็ง โรคอัลไซเมอร์
  3. ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ
  4. ลดความเสี่ยงจอประสาทตาเสื่อม สารต้านอนุมูลอิสระจะช่วยชะลอหรือลดความเสียหายของเซลล์จอประสาทตาที่อาจเกิดขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น

4 ประโยชน์ของสารต้านอนุมูลอิสระในมุมของความสวยงาม

  1. ลดการเกิดริ้วรอย สารต้านอนุมูลอิสระจะช่วยรักษาคอลลาเจนและอิลาสติน ซึ่งเป็นโครงสร้างโปรตีนสำคัญที่ช่วยให้ผิวมีความยืดหยุ่น
  2. ลดการสูญเสียน้ำ ช่วยรักษาความชุ่มชื้นในผิวช่วยให้ผิวสุขภาพดี
  3. ลดการอักเสบของเซลล์ผิว และลดการระคายเคือง
  4. ป้องกันความเสียหายจากแสงแดด สารต้านอนุมูลอิสระช่วยป้องกันอนุมูลอิสระจากแสงยูวีที่อาจเป็นสาเหตุของริ้วรอยและโรคผิวหนัง

สารต้านอนุมูลอิสระ วิตามิน

จำเป็นต้องกินวิตามินอาหารเสริมเพื่อเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระหรือไม่ ?

สารต้านอนุมูลอิสระสามารถพบได้จากอาหารหลายชนิด เช่น ผัก ผลไม้สด ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่วและเมล็ดพืช ชาเขียว และน้ำมันพืช ดังนั้นการรับประทานอาหารที่หลากหลายจะช่วยให้ร่างกายได้รับสารต้านอนุมูลอิสระเพียงพอ อย่างไรก็ตามผู้ที่มีปัญหาในการรับประทานอาหารหรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคบางชนิด อาจจำเป็นต้องรับประทานวิตามินอาหารเสริม เพื่อให้ได้รับสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณที่เหมาะสม

หากต้องการรับประทานวิตามินอาหารเสริม ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับคำแนะนำทั้งปริมาณและชนิดที่เหมาะสม เนื่องจากวิตามินอาหารเสริมที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระอาจส่งผลข้างเคียงต่ออวัยวะต่าง ๆ ได้หากรับประทานมากเกินไป และที่สำคัญไม่ควรรับประทานวิตามินอาหารเสริมทดแทนการรับประทานอาหารที่หลากหลาย เนื่องจากร่างกายยังต้องได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์หลายอย่างเพื่อสุขภาพที่ดีรอบด้าน

หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถทำนัด สอบถามข้อมูลหรือปรึกษากับศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย ได้ที่ทุกช่องทางการติดต่อของโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา


Reference,

Healthline. (2023). Antioxidants Explained in Simple Terms. Healthline. https://www.healthline.com/nutrition/antioxidants-explained

Healthline. (2018). Oxidative Stress: What It Is and How to Prevent It. Healthline. https://www.healthline.com/health/oxidative-stress#effects

WebMD. (2023). The Health Benefits of Antioxidants. WebMD. https://www.webmd.com/diet/health-benefits-antioxidants

ชะลอวัย

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง