Skip to content

ข้อควรปฏิบัติเพื่อการนอนที่ดีของลูก (ตอนที่ 2)

หน้าแรก  >  บทความเกี่ยวกับสุขภาพ

ร้องตกใจกลางคืน (Sleep terror)

ลักษณะการร้องแบบนี้มักพบบ่อยในเด็ก 2-6 ปี ครับ เด็กมักกรีดร้องเหมือนร้องตื่นตกใจ บางคนหลับหูหลับตาร้อง บางคนมีเหงื่อออก หัวใจเต้นแรง การร้องมีลักษณะเฉพาะคือมักเกิดช่วงหัวค่ำ หลังการหลับไม่นาน ต่างจากฝันร้ายซึ่งมักเกิดตอนเช้ามืด ดังนั้นการร้องแบบนี้ไม่ใช่ฝันร้ายนะ เป็นคนละแบบกัน คุณพ่อคุณแม่หลายคนพอเห็นลูกร้องตกใจตื่นกลางดึกก็มักรีบอุ้มขึ้นมาและเขย่า ปลุกให้ตื่น ซึ่งไม่ควรทำ เพราะการร้องแบบนี้เกิดในช่วงของการนอนที่เรียกว่า Non REM Sleep เป็น ช่วงซึ่งเด็กจะจดจำเหตุการณ์ไม่ได้ เมื่อเด็กถูกพ่อแม่เขย่าตัวปลุกให้ตื่นขึ้นมาก็จะยิ่งตกใจ ที่ควรทำก็คือพยายามตอบสนองลูกให้น้อยที่สุด เช่น พยายามกอดและตบๆ ก้นให้หลับต่อ ถ้าลูกร้องมากจริงๆ ก็อุ้มปลอบได้บ้างแล้วรีบให้กลับไปนอนโดยเร็ว พอลูกโตขึ้นอาการร้องนี้มักจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่ถ้าลูกร้องมากผิดปกติก็ควรปรึกษาแพทย์

ฝันร้าย (Nightmare)

ไม่ว่าใครก็คงจะเคยฝันร้ายกัน ฝันร้ายมักเริ่มเกิดในช่วงอายุ 3-6 ปี ซึ่งช่วงวัยอนุบาลมักมีเรื่องของจินตนาการค่อนข้างมากอยู่แล้ว ฝันร้ายมักเป็นเรื่องตื่นเต้นน่ากลัว เช่น หนีผี ปีศาจ ตกจากที่สูง หรือเรื่องความตาย ฝันร้ายมักเกิดในช่วงการนอน REM Sleep ซึ่งเป็นช่วงที่สามารถจดจำเหตุการณ์ได้ และมักเกิดเวลาเช้ามืดครับ ซึ่งแตกต่างจากการร้องตกใจกลางคืน(Sleep terror) ซึ่งมักเกิดช่วงหัวค่ำ หลังจากนอนไม่นาน

ปัญหาการนอนในเด็กเป็นเรื่องที่พบได้บ่อย และแตกต่างจากปัญหาการนอนของผู้ใหญ่ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ให้ความสำคัญกับการนอนของลูก คอยป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น หรือถ้ามีปัญหาก็ปรึกษาแพทย์เพื่อคำแนะนำที่ถูกต้อง ถ้าทำได้อย่างนี้ก็จะช่วยให้พัฒนาการและสุขอนามัยของลูกดีขึ้น

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์กุมารเวช โทร.1719

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง