Skip to content

รู้จักกับ ไวรัสอะดีโน ไวรัสที่ไม่ได้อยู่แค่ที่ต่อมอะดีนอยด์

อะดีโนไวรัส เกิดจากอะไร

“คุณหมอคะ แม่เจอข่าว เขาบอกว่าเชื้อไวรัสอะดีโนกำลังระบาด มันคือเชื้ออะไรเหรอคะ”

“คุณหมอคะ ลูกของเพื่อนบ้านมีไข้สูง มาหาหมอแล้วเจอว่าติดเชื้อไวรัสอะดีโน มันคืออะไร เป็นโรคใหม่หรือเปล่าคะ”

ไวรัสอะดีโน (Adenovirus) เชื้อโรคชื่อไม่คุ้นหู เชื้อนี้คืออะไร อันตรายแค่ไหน วันนี้เราจะมาเล่าให้ฟัง

ก่อนอื่นต้องขอบอกว่า เชื้อไวรัสอะดีโน เป็นหนึ่งในเชื้อไวรัสที่มีมานานแล้ว มีการระบาดเป็นระยะ ไม่ใช่เชื้ออุบัติใหม่แต่อย่างไร เพียงแค่ในปัจจุบัน เรามีเทคโนโลยีการตรวจจับเชื้อที่ดีมากขึ้น ทำให้เราสามารถจับเชื้อได้มากขึ้นกว่าเมื่อก่อน โดยข้อมูลการสำรวจพบว่าประชากรวัยเด็กจะตรวจพบหลักฐานของการเคยติดเชื้อ ไวรัสอะดีโนสายพันธุ์ 1, 2, 5 มากถึง 40-60%

ADV อะดิโนไวรัส รักษา

อาการของการติดเชื้อไวรัสอะดีโน (Adenovirus)

ไวรัสอะดีโนถูกค้นพบครั้งแรกในปี 1953 โดยนักไวรัสวิทยา ด็อกเตอร์ Wallace Rowe โดยพบจากเนื้อเยื่อต่อมอะดีนอยด์ (ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ด้านหลังโพรงจมูก) ทำให้ไวรัสนี้ถูกตั้งชื่อว่า ไวรัสอะดีโน แต่ในความเป็นจริงแล้วไวรัสชนิดนี้พบการติดเชื้อได้ในหลายระบบ โดยระบบที่พบบ่อยได้แก่

  1. ระบบทางเดินหายใจ : ผู้ป่วยจะมีอาการ ไอ น้ำมูก ไหล เจ็บคอ ตาแดง
  2. ระบบทางเดินอาหาร : ผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายเหลว อาเจียน ปวดท้อง

นอกจากนี้ผู้ป่วยมักมีไข้ร่วมกับอาการตามระบบที่มีการติดเชื้อ โดยมีระยะเวลาเฉลี่ยของไข้อยู่ที่ 5-6 วัน

เชื้อไวรัสอะดีโนเป็นเชื้อที่ก่อโรคพบได้ทุกกลุ่มอายุ แต่จะพบบ่อยใน เด็กอายุระหว่าง 6 เดือนถึง 5 ปี และมีโอกาสเกิดโรครุนแรงได้ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ป

การติดต่อของเชื้อไวรัสอะดีโน (Adenovirus)

การติดต่อของไวรัสอะดีโนส่วนใหญ่เกิดจาก การสูดหายใจเอาละอองน้ำมูก หรือเสมหะที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป และติดต่อได้จากการสัมผัสเชื้อจากผิวสัมผัสต่างๆ รวมถึงการรับประทานอาหาร และน้ำที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ

จะทราบได้อย่างไรว่าติดเชื้อไวรัสอะดีโน (Adenovirus) ?

ในผู้ป่วยที่มีอาการในระบบทางเดินหายใจ หรืออาการทางตา สามารถตรวจหาเชื้อได้จากการป้ายจมูกและคอ (Swab test)

ในผู้ป่วยที่มีอาการในระบบทางเดินอาการ สามารถตรวจหาเชื้อได้จากการเก็บอุจจาระส่งตรวจ

ADV อะดิโนไวรัส อันตรายไหม

การรักษาหลังติดเชื้อไวรัสอะดีโน (Adenovirus) ?

การรักษาหลักของโรคติดเชื้ออะดีโนไวรัส คือ การรักษาตามอาการ เนื่องจากเชื้ออะดีโนไวรัส จะแตกต่างจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ หรือโควิด คือ ไม่มียาต้านเชื้อไวรัสโดยเฉพาะ ส่วนยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียนั้น ไม่สามารถใช้รักษาเชื้อตัวนี้ได้เช่นกัน

การรักษาตามอาการเช่น การให้น้ำเกลือเมื่อผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อย การพ่นยา ดูดเสมหะ หรือให้ออกซิเจน เมื่อผู้ป่วยมีการติดเชื้อที่ปอด การให้ยาลดไข้ และเช็ดตัว เมื่อผู้ป่วยมีไข้ เป็นต้น

การป้องกันเชื้อไวรัสอะดีโน (Adenovirus) ?

เช่นเดียวกับเชื้อโรคอื่นๆ วิธีป้องกันการติดเชื้อไวรัสอะดีโนที่ดีที่สุด คือ การสอนให้เจ้าตัวน้อยล้างมือให้ถูกวิธี ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล การรักษาความสะอาดเครื่องใช้ภายในบ้าน รวมถึง การหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย

 


ขอบคุณข้อมูลจาก นพ.วิษณุ กิตติอาภรณ์พล

กุมารแพทย์ อนุสาขากุมารเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดและปริกำเนิด รพ.กรุงเทพพัทยา

 


แหล่งอ้างอิง

Red Book: 2021–2024 Report of the Committee on Infectious Diseases By: Committee on Infectious Diseases, American Academy of Pediatrics, David W. Kimberlin, MD, FAAP

Wun-Ju Shieh, Human adenovirus infections in pediatric population – An update on clinico–pathologic correlation, Biomedical Journal, Volume 45, Issue 1, 2022

Ruuskanen O, Meurman O, Sarkkinen H. Adenoviral diseases in children: a study of 105 hospital cases. Pediatrics. 1985

Hsiu-Lin Chen, Respiratory Adenoviral Infections in Children: A Study of Hospitalized Cases in Southern Taiwan in 2001–2002. Journal of Tropical Pediatrics. 2004

Xue-Hua Xu, Analysis of mortality risk factors in children with severe adenovirus pneumonia: A single center retrospective study. Taiwan Pediatric Association 2022

ข่าวหมอเจ้าของเพจดัง เตือนอะดีโนไวรัสระบาด วันเดียวตรวจ 6 เคส พบเชื้อทุกคน (ch7.com)

Stanford University

ATS – American Thoracic Society

 

สุขภาพเด็ก

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง