Skip to content

เต้านมเป็นโรคอะไรได้บ้าง ? รู้ทันสุขภาพหน้าอกที่ไม่ได้มีแค่มะเร็งเต้านม

หน้าแรก  >  บทความเกี่ยวกับสุขภาพ

โรคเต้านม ซีสต์ ฝี

สุขภาพเต้านมของผู้หญิงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเต้านมเป็นอวัยวะที่สัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศ และอาจมีความผิดปกติที่ทำให้รู้สึกเจ็บเต้านมหรือเป็นสัญญาณของโรคบางโรคก็ได้ ดังนั้นจุดเริ่มต้นในการดูแลสุขภาพเต้านมจึงต้องทำความเข้าใจธรรมชาติเต้านม และต้องคุ้นเคยกับลักษณะเต้านมของตัวเองเพราะหากมีความผิดปกติก็จะสามารถสังเกตได้ทันที

ทำความรู้จักเต้านม

หน้าที่หลัก ๆ ของเต้านมคือการผลิตน้ำนมช่วงที่มีบุตร โครงสร้างจึงประกอบไปด้วยต่อมน้ำนม ท่อน้ำนมเพื่อส่งไปยังหัวนม ขนาดของเต้านมจะขึ้นอยู่กับเนื้อเยื่อและไขมันรอบ ๆ โครงสร้างเต้านม จึงเป็นเรื่องปกติที่แต่ละคนจะมีขนาดของเต้านมเล็กใหญ่แตกต่างกัน แต่ขนาดไม่ได้ส่งผลกับปริมาณการผลิตน้ำนม และเป็นเรื่องปกติที่เต้านมทั้งสองข้างอาจมีขนาดไม่เท่ากัน

ตรวจเต้านมด้วยตัวเอง

โรคและภาวะที่อาจเกิดขึ้นกับเต้านม

โรคหรือภาวะของเต้านมที่ผิดปกติ เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย อาจเกิดในช่วงอายุที่ต่างกัน อาจเกิดจากภาวะในร่างกายที่แตกต่างกันเช่น ช่วงระหว่างมีรอบเดือน ช่วงตั้งครรภ์ ช่วงให้นมบุตร เป็นต้น โดยอาการของโรคเต้านมส่วนใหญ่มักสามารถสังเกตก้อนเนื้อหรือถุงน้ำได้ด้วยการคลำเต้านม

อ่านวิธีตรวจเต้านมด้วยตัวเอง : ตรวจเต้านมด้วยตัวเองกันเถอะ

ความผิดปกติในเต้านมของผู้หญิงอาจมีลักษณะทางภายนอกบางอย่างที่สังเกตได้ หรืออาจคลำเจอก้อนหรือถุงน้ำซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติต่าง ๆ ดังนี้

มะเร็งเต้านม (Breast Cancer)

มะเร็งเต้านมเป็นโรคที่เซลล์มะเร็งก่อตัวขึ้นในเซลล์เต้านม เกิดจากเซลล์กลายพันธุ์ก่อตัวเป็นเนื้องอก มีลักษณะเป็นก้อนค่อนข้างแข็งกว่าก้อนเนื้อชนิดอื่น และอาจมีอาการผิวหนังดึงรั้ง หัวนมดึงรั้ง ต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย ซึ่งมะเร็งเต้านมสามารถลุกลามไปยังอวัยวะหรือเนื้อเยื่อบริเวณใกล้ ๆ กัน คล้ายกับมะเร็งชนิดอื่น ๆ ทั้งนี้มะเร็งเต้านมสามารถเป็นได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง แต่พบบ่อยในผู้หญิงช่วงอายุ 40-50 ปีขึ้นไป ในขณะเดียวกัน ผู้หญิงข้ามเพศ (Trans woman) ที่ผ่านการเทคฮอร์โมนเพศหญิง หรือได้รับฮอร์โมนบำบัด (Feminizing hormone therapy) จะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้นเช่นกัน

ก้อนหรือถุงน้ำในเต้านมชนิดไม่ร้ายแรง (Benign Breast Disease)

เราอาจรู้สึกกังวลเมื่อสัมผัสได้ถึงก้อนบางอย่างในเต้านม แต่ว่าก้อนเหล่านั้นอาจไม่ใช่เนื้องอกมะเร็งเสมอไป อาจเป็นเพียงเนื้องอกในเต้านมชนิดไม่ร้ายแรง (Benign Breast Lump) ซึ่งเนื้องอกในเต้านมชนิดไม่ร้ายนั้นเป็นก้อนเนื้อที่เกิดขึ้นภายในเต้านมที่อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุและมีหลายชนิด แม้ลักษณะของเนื้องอกบางชนิดอาจคล้ายว่าจะเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งเต้านม แต่โดยส่วนใหญ่แล้วก้อนเนื้องอกเต้านมมักเป็นเนื้องอกประเภทที่ไม่ใช่มะเร็ง (noncancerous) ซึ่งก้อนในเต้านมชนิดไม่ร้ายแรงก้มีอยู่หลายชนิดยกตัวอย่างเช่น

ถุงน้ำในเต้านม (Breast cysts)

ถุงน้ำหรือซีสต์เต้านมเกิดจากน้ำขังในเต้านม พบได้ทั่วไปและมักจะยุบหายไปได้เอง สามารถคลำเจอถุงน้ำได้ด้วยตัวเอง หากมีขนาดเล็กและไม่เจ็บอาจไม่ต้องรักษาเสมอไป แต่หากมีขนาดที่ใหญ่ หรือรู้สึกเจ็บควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ

กลุ่มภาวะถุงน้ำในเต้านม (Fibrocystic breast changes)

กลุ่มภาวะถุงน้ำในเต้านมไฟโบรซิสติคเป็นกลุ่มโรคที่ประกอบไปด้วยหลายภาวะ เช่น มีถุงน้ำ ท่อน้ำนมขยาย มีพังผืด เป็นต้น ปกติมักพบถุงน้ำหรือซีสต์เป็นส่วนใหญ่ ภาวะนี้มักเกิดในช่วงที่ฮอร์โมนเพศหญิงผิดปกติ และช่วงก่อนมีประจำเดือน พบได้ทั่วไปในสตรีอายุ 30-50 ปี ซึ่งปกติอาการของโรคนี้มักจะหายได้เองไม่ต้องรักษา แต่หากคลำเจอก้อนในเต้านมแล้วพบว่ามีขนาดใหญ่ ถุงน้ำไม่ยุบลง หรือรู้สึกเจ็บควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ

เนื้องอกในเต้านมชนิดไม่ร้ายแรง (Fibroadenoma)

ก้อนเนื้องอกชนิดนี้เป็นก้อนเนื้อนอกที่พบได้ทั่วไปในผู้หญิง ขนาดประมาณ 1-5 เซนติเมตร มีลักษณะเป็นก้อนแข็ง พบได้ตั้งแต่อายุ 15-35 แต่ไม่ใช่ก้อนเนื้องอกมะเร็ง (noncancerous) ไม่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง และปกติมักหายได้เอง อย่างไรก็ตามหากมีเนื้องอกชนิดนี้อาจจำเป็นต้องได้รับการตรวจโดยแพทย์เพื่อคัดแยกว่าเป็นก้อนเนื้อชนิดที่เป็นมะเร็งหรือไม่

ก้อนเต้านมจากเซลล์ไขมันในเต้านมถูกทำลาย (Traumatic fat necrosis)

ก้อนในเต้านมชนิดนี้เกิดจากความเสียหายของเนื้อเยื่อ มักเกิดขึ้นจากการที่เต้านมได้รับการกระทบกระเทือนรุนแรงจากอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บจนมีเลือดออกในเต้านม และมักเกิดในคนที่มีเต้านมขนาดใหญ่ เมื่อเกิดการบาดเจ็บจะทำให้ไขมันในเต้านมอักเสบแล้วเกาะรวมกันเป็นก้อนในเต้านม อาการนี้อาจหายไปได้เองหรืออาจต้องผ่าตัดออก

ภาวะที่มีของเหลวไหลออกมาจากหัวนม (Nipple discharge)

ภาวะนี้คือภาวะที่มีของเหลวที่ไหลออกมาจากเต้านม ซึ่งอาจจะออกมาจากเต้านมข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ มีสาเหตุมาจากหลาย ๆ สาเหตุ ปกติมักเกิดขึ้นช่วงใกล้คลอดในหญิงตั้งครรภ์ หรือหลังจากคลอดบุตร แต่หากมีของเหลวไหลออกมาจากหัวนมในช่วงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ควรพบแพทย์เพื่อสาเหตุเพราะอาจเกิดจากก้อนเนื้อหรือความผิดปกติบางอย่างในเต้านมได้

เต้านมอักเสบ (Breast infection หรือ Mastitis)

เต้านมอักเสบเป็นภาวะที่เกิดขึ้นในเนื้อเยื่อเต้านม ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อ พบได้บ่อยในเพศหญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร มักเกิดจากการที่อุดตันของท่อน้ำนมจนทำให้เกิดจากอักเสบและติดเชื้อแบคทีเรีย ผู้ที่เป็นเต้านมอักเสบจะมีอาการปวดเต้านม คลำเจอก้อนแข็งในเต้านม บางคนอาจมีอาการไข้หรือหนาวสั่น

ฝีเต้านม (Breast abscess)

เต้านมเป็นฝีเป็นภาวะที่เต้านมเกิดการอักเสบภายในเต้านมจนเกิดเป็นฝีหนองอยู่ภายใน ซึ่งมักเป็นต่อเนื่องมาจากเต้านมอักเสบ (Mastitis) เต้านมข้างที่เป็นฝีจะมีอาการบวมแดง ร้อน และเจ็บ สามารถคลำก้อนฝีในเต้านมได้ด้วยตัวเอง

ปรึกษาหมอ

พบเต้านมผิดปกติอย่างไรถึงควรปรึกษาแพทย์

  • คลำเจอก้อนในเต้านมก้อนใหม่ในระยะเวลาใกล้ ๆ กัน
  • สังเกตได้ว่าก้อนในเต้านมแต่ก้อนไม่ยุบลงเอง หรือเจอก้อนช่วงมีประจำเดือนแต่ก้อนนั้นไม่ยุบเองแม้พ้นช่วงรอบเดือนไปแล้ว
  • สังเกตได้ว่าก้อนในเต้านมมีขนาดหรือรูปร่างเปลี่ยนไป
  • พบความผิดปกติของผิวหนังบริเวณเต้านมเช่น มีรอบบุ๋ม บวม แดง
  • พบความผิดปกติบริเวณหัวนม หรือมีของเหลวไหลออกมาจากเต้านมขณะที่ไม่ได้ตั้งครรภ์

หากมีข้อสงสัยสามารถทำนัด ปรึกษาหรือสอบถามข้อมูลกับทีมศูนย์เต้านม ได้ที่ทุกช่องทางการติดต่อของโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา

 


Reference,

Cleveland Clinic. (2023). Benign Breast Disease. Cleveland Clinic. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/6270-benign-breast-disease

Cleveland Clinic. (2023). Breast Lumps. Cleveland Clinic. https://my.clevelandclinic.org/health/symptoms/6906-breast-lumps 

Mayo Clinic Staff. (2022). Breast health. Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/womens-health/basics/breast-health/hlv-20049411

Mayo Clinic Staff. (2022). Breast cancer – Symptoms and causes. Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/breast-cancer/symptoms-causes/syc-20352470

Merck Manual. (2022). Overview of Breast Disorders. MSD Manuals. https://www.msdmanuals.com/home/women-s-health-issues/breast-disorders/overview-of-breast-disorders

New call-to-action

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง