Skip to content

วิธีสังเกตุอาการมะเร็งเต้านมและการคัดกรองโรค

มะเร็งเต้านม อาการ

การสังเกตสัญญาณเตือนมะเร็งเต้านม

อาการและอาการแสดงที่น่าสงสัยว่าจะเป็นมะเร็งเต้านม ได้แก่

  • คลำได้ก้อนที่เต้านมหรือบริเวณใต้รักแร้
  • เต้านมมีขนาด สี หรือรูปร่างเปลี่ยนไป
  • มีของเหลวหรือเลือดไหลออกมาเองจากหัวนม
  • ผิวหนังบริเวณเต้านมและหัวนมมีความผิดปกติ เช่น บวมแดง ดูคล้ายผิวส้ม มีการยุบหรือบุ๋มลงไป เป็นผื่นหรือแผลเรื้อรัง เป็นต้น
  • เต้านมอักเสบเรื้อรัง
  • กรณีที่ไม่พบอาการผิดปกติ อาจพบความผิดปกติจากการตรวจแมมโมแกรมหรืออัลตร้าซาวด์เต้านม (กรณีนี้พบได้บ่อยที่สุด ปัจจุบันมีการรณรงค์ให้ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมกันมากขึ้น)

ส่วนใหญ่สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมาตรวจกับแพทย์และกังวลว่าจะเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่นั้น จะมาด้วย 2 อาการหลัก คือ มีก้อนที่เต้านม รองมาคือ เจ็บหรือปวดเต้านม โดยผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บเต้านมมักจะกลัวว่าจะเป็นมะเร็งเต้านมมาก ทำให้มาพบแพทย์ค่อนข้างเร็ว ต่างกับผู้ป่วยที่มีก้อนที่เต้านม คลำได้ แต่ไม่รู้สึกเจ็บ มักจะปล่อยไว้เพราะคิดว่าไม่เป็นอะไร จนก้อนมีขนาดใหญ่โตขึ้นจนรู้สึกเจ็บ จึงค่อยมาพบแพทย์ ซึ่งถ้าก้อนนั้นเป็นก้อนเนื้อมะเร็งก็อาจมีการกระจายหรือลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะอื่นแล้ว

ดังนั้นเมื่อคลำพบก้อนที่เต้านมควรรีบมาพบแพทย์โดยเร็ว เพราะร้อยละ 90 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ระยะเริ่มแรกจะมีแต่ก้อน โดยที่ไม่มีอาการเจ็บ ส่วนอาการเจ็บเต้านมนั้นเป็นอาการที่พบได้เท่า ๆ กันทั้งในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นมะเร็งเต้านม ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มาพบแพทย์ด้วยอาการเจ็บเต้านมนั้นพบว่ามีเพียงร้อยละ 10-15 ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด อาการเจ็บเกิดจากการที่ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่จนดึงรั้งผิวหนังบริเวณเต้านมที่มีประสาทรับความรู้สึกมากโดยเฉพาะตรงหัวนม หรือก้อนมะเร็งที่ลุกลามมาถึงชั้นผิวหนังทำให้เกิดแผลหรือผื่นผิดปกติขึ้น

 

New call-to-action

ระยะของโรคมะเร็งเต้านม

  • มะเร็งเต้านมระยะที่ 1 (ระยะเริ่มแรก) ระยะนี้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็ก (น้อยกว่า 2 เซนติเมตร) และยังไม่มีการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ หรือมีการลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองแล้วเพียงเล็กน้อยระดับเซลส์เท่านั้น ระยะนี้ผู้ป่วยมีโอกาสรักษาให้หายขาดจากโรคสูง และผลการรักษาดีมากที่สุด
  • มะเร็งเต้านมระยะที่ 2 (ระยะปานกลาง) ระยะนี้ก้อนมะเร็งมีขนาดปานกลาง (ใหญ่กว่า 2 เซนติเมตรแต่ไม่เกิน 5 เซนติเมตร) และ/หรือมีการลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองแล้วจำนวน 1 ถึง 3 ต่อม ระยะนี้ยังมีโอกาสรักษาให้หายขาดจากโรคได้และผลการรักษามีแนวโน้มดีรองลงมาจากระยะที่ 1
  • มะเร็งเต้านมระยะที่ 3 (ระยะลุกลามเฉพาะที่) คือ ระยะที่มีก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ (มากกว่า 5 เซนติเมตร) และมีการลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้มากกว่า 4 ต่อมขึ้นไป โอกาสรักษาให้หายขาดจากโรคในระยะนี้จะลดน้อยลง มีโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำของโรคและม๊โอกาสที่มะเร็งจะกระจายไปอวัยวะอื่นได้มาก ผลการรักษาโดยรวมจะไม่ดีเท่า 2 ระยะแรก
  • มะเร็งเต้านมระยะที่ 4 (ระยะลุกลาม) คือ ระยะที่มะเร็งเต้านมได้กระจายลุกลามไปยังอวัยวะอื่นแล้ว ซึ่งอวัยวะที่พบมะเร็งเต้านมกระจายไปบ่อยได้แก่ ปอด ตับ กระดูก สมอง ระยะนี้โรคค่อนข้างรุนแรงและมักไม่สามารถรักษาให้หายขาดจากโรคได้

การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในปัจจุบัน (Breast Cancer Screening)

ตรวจเมมโมแกรมมะเร็งเต้านม

การซักประวัติและตรวจเต้านมโดยแพทย์เฉพาะทาง (History Taking & Clinical Breast Examination)

แพทย์จะทำการซักประวัติถึงอาการสำคัญที่นำมาพบแพทย์ อาการผิดปกติอื่น ๆ ของเต้านมและระบบอวัยวะต่าง ๆ ทั้งร่างกาย รวมถึงประเมินปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมของผู้ป่วย ต่อด้วยการตรวจเต้านมและต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้และไหปลาร้าโดยละเอียด และสอนให้ผู้ป่วยสามารถตรวจเต้านมได้ด้วยตนเอง โดยควรคลำดูเดือนละครั้ง

การทำแมมโมแกรม (Mammography)

ในผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป จะส่งตรวจแมมโมแกรม เพื่อดูความผิดปกติ เช่น ก้อนในเต้านม ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ กลุ่มหินปูนผิดปกติ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีของการถ่ายภาพแมมโมแกรมไปมาก จากอดีตที่ถ่ายภาพแมมโมแกรมลงบนฟิลม์ธรรมดา (Analog mammography) ไปเป็นดิจิตอลแมมโมแกรมความละเอียดสูง (Digital mammography) จนถึงแมมโมแกรมแบบ 3 มิติ (Breast 3D Tomosynthesis) ซึ่งจะทำให้ตรวจพบความผิดปกติได้จากเดิมที่ตรวจไม่พบ หรือ ถ้าตรวจพบแล้วก็ทำให้มองเห็นความผิดปกติได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

อัลตร้าซาวด์เต้านม (Ultrasound Breast)

ผู้หญิงในทวีปเอเชียส่วนใหญ่จะมีขนาดเต้านมเล็กกว่าผู้หญิงทางฝั่งยุโรปหรืออเมริกัน และมีเนื้อเต้านมที่แน่นมากกว่า โดยเฉพาะในกลุ่มสตรีที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี ทำให้บางครั้งมองไม่เห็นความผิดปกติได้ชัดเจนโดยการทำแมมโมแกรมเพียงอย่างเดียว การตรวจอัลตร้าซาวด์เต้านมเพียงอย่างเดียวหรือทำควบคู่ไปกับแมมโมแกรมในผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปีจะช่วยตรวจหาและวัดขนาดสิ่งผิดปกติ เช่น ก้อนเนื้องอก ก้อนซีสต์หรือถุงน้ำ ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ ได้ดียิ่งขึ้น

การเจาะชิ้นเนื้อส่งตรวจกับพยาธิแพทย์

เมื่อตรวจพบว่ามีก้อนในเต้านมที่มีลักษณะสงสัยว่าอาจจะเป็นมะเร็งเต้านม แพทย์จะแนะนำให้เจาะชิ้นเนื้อโดยการใช้เข็มขนาดเล็กเจาะชิ้นเนื้อออกมาส่งตรวจกับพยาธิแพทย์เพื่อให้ทราบว่าก้อนนั้นมีเซลส์มะเร็งหรือเป็นมะเร็งหรือไม่ ถ้าเป็นมะเร็งเต้านมจะได้ทำการผ่าตัดและรักษาแบบมะเร็งเต้านมต่อไป แต่ถ้าผลชิ้นเนื้อออกมาเป็นโรคที่ไม่ใช่มะเร็งเต้านมก็อาจตรวจติดตามทุก 6 เดือนได้และจะเจาะดูดก้อนออกด้วยเข็มระบบสุญญากาศ (Vacuum Breast Biopsy) หรือผ่าตัดก้อนเนื้องอกออกเมื่อมีข้อบ่งชี้

หากมีข้อสงสัยสามารถทำนัด ปรึกษาหรือสอบถามข้อมูลกับทีมศูนย์เต้านม ได้ที่ทุกช่องทางการติดต่อของโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา

บทความโดย: นพ. ฐาปนัสม์ ลิขิตมาศกุล
 
 
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์มะเร็งเต้านม
 
ศูนย์เต้านม  โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง