มะเร็งไต

หน้าแรก  >  โรคและการรักษา  >  มะเร็งไต

มะเร็งไต (Kidney Cancer) เป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ไตเจริญและแบ่งตัวผิดปกติอย่างควบคุมไม่ได้ เกิดเป็นเนื้องอกชนิดร้ายที่สามารถลุกลามออกมานอกไต โดยมะเร็งไตในระยะแรกมักไม่มีสัญญาณของความผิดปกติใด ๆ อีกทั้งยังอาจตรวจไม่พบหากยังไม่แสดงอาการ แต่ในระยะหลังจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการต่าง ๆ เช่น ปัสสาวะมีเลือดปน ไม่อยากอาหาร ปวดหลังหรือข้างลำตัวและอาการปวดนั้นไม่หายไป หรือน้ำหนักลดลง เป็นต้น ซึ่งมะเร็งชนิดนี้มักเกิดขึ้นในผู้ที่มีอายุประมาณ 60-70 ปี

มะเร็งไตในระยะแรก ๆ มักไม่แสดงอาการ แต่เมื่อเนื้อร้ายมีขนาดใหญ่ขึ้น อาจทำให้ผู้ป่วยแสดงความผิดปกติบางอย่างออกมา เช่น

ปัสสาวะมีเลือดปน ซึ่งอาจทำให้ปัสสาวะมีสีเข้มกว่าปกติ และอาจกลายเป็นสีแดง สีชมพู หรือสีคล้ายน้ำโคล่า

เหนื่อยล้าอย่างมาก

เบื่ออาหาร

น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ

ปวดหลังหรือด้านข้างลำตัว โดยอาการปวดไม่หายไป

มีไข้ติดต่อกันหลายสัปดาห์ ซึ่งไม่ได้เกิดจากเชื้อหวัดหรือเชื้อใด ๆ

ขาหรือข้อเท้าบวม

มีก้อนเนื้อในช่องท้อง

ทั้งนี้ หากมะเร็งไตแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย อาจทำให้เกิดอาการอื่นเพิ่มเติมได้ เช่น ปวดกระดูก หายใจไม่อิ่ม หรือไอเป็นเลือด เป็นต้น

สาเหตุที่ทำให้เซลล์ไตกลายเป็นเซลล์มะเร็งนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบปัจจัยเสี่ยงบางประการที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งไตได้ ดังนี้

เพศ โดยเพศชายอาจมีความเสี่ยงต่อมะเร็งไตมากกว่าเพศหญิง

เป็นผู้ที่สูบบุรี่ โดยการสูบบุหรี่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งไตได้ถึง 2 เท่า

อ้วนหรือมีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 30 หน่วย เพราะน้ำหนักตัวที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนภายในร่างกาย ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งไตได้

เป็นโรคความดันโลหิตสูง

เป็นโรคทางพันธุกรรมบางชนิด อย่างโรคทูเบอรัส สเคลอโรซิส (Tuberous Slerosis Complex) โรควีเอชแอล (Von Hippel-Lindau Disease) โรคบีเอชดี (Birt-Hogg-Dube Syndrome)

มีคนญาติสายตรงเคยเป็นมะเร็งไตมาก่อน

เข้ารับการฟอกเลือดต่อเนื่องกันเป็นเวลานานเพื่อรักษาโรคไต อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งไตได้

การสัมผัสสารเคมีบางอย่าง เช่น แคดเมียม เบนซีน หรือยากำจัดวัชพืชบางชนิด เป็นต้น

ซึ่งการวินิจฉัยมะเร็งไตนั้นทำได้หลายวิธี โดยเบื้องต้นแพทย์อาจสอบถามอาการและประวัติการรักษาของผู้ป่วย ร่วมกับการตรวจร่างกาย ตรวจก้อนเนื้อบริเวณท้อง วัดไข้ หรือตรวจความดันโลหิต นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เช่น

  1. ตรวจเลือด โดยการนำตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยไปตรวจ เพื่อดูการทำงานของไตและหาสาเหตุของอาการผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
  2. ตรวจปัสสาวะ เพื่อดูว่าปัสสาวะมีเลือดปนออกมาด้วยหรือไม่ รวมทั้งตรวจหาความผิดปกติต่าง ๆ ที่อาจปรากฏออกมา
  3. ตรวจโดยการถ่ายภาพ ไม่ว่าจะด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือการอัลตราซาวด์ ซึ่งการตรวจโดยใช้วิธีนี้ อาจช่วยให้แพทย์หาความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในไตได้
  4. ตรวจโดยการฉีดสีร่วมกับเอกซเรย์ เป็นการตรวจไตและทางเดินปัสสาวะด้วยการเอกซ์เรย์ร่วมกับการฉีดสี (Intravenous Pyelogram: IVP) โดยแพทย์จะฉีดสีซึ่งเป็นสารทึบแสงเข้าเส้นเลือด เพื่้อให้เอกซเรย์เห็นการทำงานของไตและบริเวณเนื้องอกชัดขึ้น
  5. ตรวจชิ้นเนื้อไต เป็นวิธีที่ใช้ตรวจน้อย โดยแพทย์จะตัดชิ้นเนื้อไตบริเวณที่สงสัยว่าเป็นมะเร็งไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการ

หลังจากวินิจฉัยเพื่อหามะเร็งไตแล้ว ขั้นตอนต่อไปแพทย์ประเมินว่าผู้ป่วยอยู่ในระยะใด โดยมะเร็งไตอาจแบ่งได้เป็น 4 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 เนื้อร้ายจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 7 เซนติเมตร และอยู่ภายในไต

ระยะที่ 2 เนื้อร้ายจะมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ยังคงอยู่ภายในไต

ระยะที่ 3 เนื้อร้ายขยายตัวออกมานอกไต และแพร่กระจายสู่เนื้อเยื่อบริเวณรอบ ๆ หรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง

ระยะที่ 4 เนื้อร้ายแพร่กระจายไปสู่ส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ตับ กระดูก หรือปอด เป็นต้น

โรคมะเร็งไตอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนบางอย่างได้ เช่น ความดันโลหิตสูง แคลเซียมในเลือดสูง ร่างกายผลิตเม็ดเลือดแดงมากขึ้น เกิดความผิดปกติขึ้นที่ตับและม้าม หรือมะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น เป็นต้น

นอกจากนี้ วิธีการรักษามะเร็งไตบางประเภท อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงกับร่างกายได้ เช่น การผ่าตัดอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกหรือติดเชื้อ การฉายรังสีอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอ่อนเพลียและคลื่นไส้ หรือยาบางชนิดที่ใช้ในการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดอาจทำให้ผู้ป่วยท้องเสีย ความดันโลหิตสูงขึ้น หรือเกิดภาวะมีบุตรยากได้ เป็นต้น

เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของมะเร็งไต จึงไม่สามารถป้องกันได้ ทำได้เพียงลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นสาเหตุของโรคโดยใช้วิธีต่าง ๆ เช่น รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่สูบบุหรี่หรือเลิกสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมีที่อาจทำให้เกิดมะเร็งไตอย่างแคดเมียม และไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาล เป็นต้น

การรักษาและเทคโนโลยี

แชร์ : 

ความประทับใจจากผู้ป่วย

Testimonial : คุณอาจไม่รู้ว่าคุณเป็น”นิ่ว” (การสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก)

คนไข้มีอาการตัวร้อน คลื่นไส้ อาเจียน หาหมอที่อื่นแล้วก็ไม่หาย จนต้องเปลี่ยนมารักษาที่รพ.กรุงเทพพัทยา และแพทย์เฉพาะทางของเรา..ตรวจพบว่าอาการดังกล่าวเป็นอาการของ “นิ่ว”

Testimonial : Prostate Cancer (SubThai)

Mr.Hans ใช้ชีวิตอยู่เมืองไทยมานาน และตรวจสุขภาพประจำปีที่รพ.กรุงเทพพัทยาเป็นประจำ เมื่อพบว่าตนเป็น “มะเร็งต่อมลูกหมากในระยะเริ่มต้น”

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

นพ. จิมมี่ คงเจริญ
ศูนย์ศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ
ศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา
นพ. จิระพงศ์ สงวนเจริญพงศ์
ศูนย์ศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ
ศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา
นพ. ชวน พฤกษวิวัฒน์
ศูนย์ศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ
ศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา
นพ. นิธิ นาวานิมิตกุล
ศูนย์ศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ
ศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา
นพ. พรชัย ชยาบูรณ์ ปัญญาศุภคุณ
ศูนย์ศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ
ศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา
นพ. อนุเทพ บูรมิ
ศูนย์ศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ
ศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา
พญ. ประพรพิม อุตมโชติ
ศูนย์ศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ
ศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา