Skip to content

เช็คอาการหนองในเทียมทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ต่างจากหนองในแท้อย่างไร ?

หน้าแรก  >  บทความเกี่ยวกับสุขภาพ

อาการหนองในเทียม ผู้หญิง และอาการหนองในเทียม ผู้ชาย

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STIs) เป็นปัญหาสุขภาพที่อันตราย เมื่อมีอาการระคายเคืองท่อปัสสาวะ ปัสสาวะแสบขัดมักเป็นจุดเริ่มต้นที่หลายคนสงสัยว่าเป็นหนองในหรือไม่ แต่ในขณะเดียวกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ยังมีออีกหนึ่งโรคที่คล้ายคลึงกับหนองในเป็นอย่างมาก นั่นคือโรคหนองในเทียม โรคนี้อาการมักไม่รุนแรงจึงสังเกตยาก แต่สามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้หากละเลยการรักษา ดังนั้นบทความนี้โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยาจึงพาทุกคนมาทำความรู้จักกับที่มาที่ไปของการติดเชื้อแบคทีเรีย และทำความเข้าใจถึงผลกระทบที่สำคัญที่อาจนำไปสู่ปัญหาการเจริญพันธุ์เช่นภาวะมีบุตรยาก

ทำความรู้จักหนองในเทียม หนองในแท้

หนองใน หนองในแท้ หรือ Gonorrhea เป็นการอักเสบในท่อปัสสาวะอย่างหนึ่ง มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียนชื่อ Neisseria gonorrhoeae และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์ (STIs) ซึ่งน่าจะเป็นชื่อที่คุ้นหูมากที่สุด ในขณะที่หนองในเทียม หรือ Non-gonococcal urethritis (NGU) เป็นการอักเสบในท่อปัสสาวะ และเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STIs) เช่นเดียวกันกับหนองใน มีอาการคล้ายคลึงกัน แต่หนองในเทียมมีสาเหตุมาจากแบคทีเรียชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ Neisseria gonorrhoeae ที่เป็นสาเหตุหลักของหนองใน

ซึ่งชนิดของเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อยที่เป็นสาเหตุของโรคหนองในเทียมคือแบคทีเรีย Chlamydia trachomatis และอาจจะพบได้จากเชื้ออื่นๆ เช่นเดียวกัน เช่น Ureaplasma parvum, Mycoplasma genitalium, Trichomonas vaginalis หรือ เชื้อไวรัส เช่น herpes simplex virus เป็นต้น

การติดเชื้อคลาไมเดีย (หนองในเทียม)

หากคู่นอนเป็นหนองในเทียมการส่งต่อเชื้อคลาไมเดีย (Chlamydia trachomatis) จากคนสู่คนเป็นการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STIs) โดยสามารถติดต่อจากของเหลวในช่องคลอดและอสุจิที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งสามารถส่งต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์แทบทุกรูปแบบ ทั้งทางช่องคลอด ทางทวารหนัก ทางปาก นอกจากนี้หากมารดาที่ตั้งครรภ์มีเชื้อคลาไมเดียทารกมีโอกาสสัมผัสเชื้อคลาไมเดียขณะคลอดได้

โรคหนองในเทียม

อาการเมื่อเป็นหนองในเทียม (Chlamydia)

ช่วงแรก ๆ ของการติดเชื้อคลาไมเดียมักไม่แสดงอาการชัดเจน หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย จึงอาจมองข้ามได้ง่าย ๆ อย่างไรก็ตามอาการเมื่อติดเชื้อคลาไมเดียจะส่งผลต่ออวัยวะในระบบสืบพันธุ์ทำให้อาการในผู้ที่มีเพศกำเนิดเป็นชาย (AMAB) และหญิง (AFAB) ต่างกันเล็กน้อยสำหรับดังนี้

อาการหนองในเทียมในเพศหญิง

ผู้ที่มีเพศกำเนิดเป็นหญิงเมื่อติดเชื้อแบคทีเรียคลาไมเดียหรือเป็นหนองในเทียม จะมีอาการคล้ายโรคปากมดลูกอักเสบ หรือคล้ายอาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (UTI) คือ

  • มีอาการตกขาว เหลือง หรือเทาออกจากบริเวณช่องคลอด และอาจมีกลิ่นเหม็น
  • ปัสสาวะมีหนอง (Pyuria)
  • ปวดปัสสาวะบ่อย
  • ปัสสาวะขัด ปวดแสบขณะปัสสาวะ (Dysuria)
  • เลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างรอบเดือน
  • ปวดขณะมีรอบเดือน
  • เจ็บอวัยวะเพศขณะหรือหลังมีเพศสัมพันธ์ (Dyspareunia)
  • คันหรือแสบร้อนภายในและรอบ ๆ ช่องคลอด
  • ปวดตื้อ ปวดเสียด ที่ส่วนล่างของช่องท้อง

อาการหนองในเทียมในเพศชาย

สำหรับอาการในผู้ที่มีเพศกำเนิดเป็นชายเมื่อเป็นหนองในเทียมจากการติดเชื้อคลาไมเดีย ซึ่งมักติดเชื้อในท่อปัสสาวะ ทำให้มีอาการคล้ายกับโรคท่อปัสสาวะอักเสบ เช่น

  • มีมูกหรือน้ำใสไหลออกจากอวัยวะเพศ
  • ปวดหรือแสบร้อนเมื่อปัสสาวะ (Dysuria)
  • ปวดท้องน้อย
  • ปวดที่ถุงอัณฑะ

อาการเมื่อติดเชื้อคลาไมเดียช่องทางอื่น

หนองในเทียมจากการติดเชื้อคลาไมเดียสามารถติดเชื้อที่บริเวณ ทวารหนัก ลำคอ และดวงตาได้ ขึ้นอยู่กับกิจกรรมทางเพศที่ทำ

  • การติดเชื้อที่ทวารหนัก โดยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการรุนแรงแต่จะอาจทำให้เกิดอาการปวดบริเวณทวารหนัก มีของเหลวไหลหรือเลือดไหลบริเวณทวารหนัก
  • การติดเชื้อที่ลำคอ โดยส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเจ็บคอระคายคอเพียงเล็กน้อย
  • การติดเชื้อที่ดวงตา หรือเยื่อบุตาอักเสบ ทำให้มีอาการตาแดง ระคายเคืองตา

รักษาหนองในเทียม

การรักษาหนองในเทียม

หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นหนองในเทียมที่มีสาเหตุจากเชื้อ Chlamydia trachomatis การรักษาจะรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ โดยส่วนอาการมักจะดีขึ้นหลังได้รับยาภายใน 3-4 วัน แต่ในช่วงแรก ๆ ยังมีโอกาสการแพร่เชื้อได้ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ในช่วงที่รักษาแพทย์จึงมักให้งดมีเพศสัมพันธ์หรือกิจกรรมทางเพศต่าง ๆ จนกว่าอาการจะหายดี นอกจากนี้หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นหนองในเทียม คู่นอนตลอดช่วง 2 สัปดาห์ ที่ผ่านมาก็ควรได้รับการตรวจคัดกรองแม้ว่าจะยังไม่มีอาการ

ภาวะแทรกซ้อนและผลกระทบระยะยาวหากไม่ได้รับการรักษาหนองในเทียม

หนองในเทียมที่ไม่ได้รับการรักษาอาจส่งกระทบระยะยาวต่ออวัยวะในระบบสืบพันธุ์ได้ เช่น

ผลกระทบของหนองในเทียมสำหรับเพศหญิง

  • ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflammatory Disease: PID) เป็นภาวะที่ร้ายแรงต่อเนื่องจากการติดเชื้อคลาไมเดีย และไม่ได้รับการรักษา โรคนี้จะส่งผลกระทบโดยตรงกับอวัยวะสืบพันธ์ุภายในอุ้งเชิงการ เช่น มดลูก ท่อนำไข่และรังไข่ ภาวะนี้อาจนำไปสู่ภาวะมีบุตรยาก และอาการปวดกระดูกเชิงกรานเรื้อรัง ในบางกรณีภาวะอุ้งเชิงการอักเสบอาจทำให้ท่อนำไข่ตีบและเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูกซึ่งเป็นอันตรายต่อแม่และทารกในครรภ์เป็นอย่างมาก
  • ภาวะมีบุตรยาก (Infertility) หนองในเทียมจากการติดเชื้อคลาไมเดียในระยะยาวสามารถสร้างความเสียหายต่ออวัยวะที่สำคัญสำหรับการตั้งครรภ์ เช่น ความเสียหายต่อท่อนำไข่ มดลูก หรือช่องคลอด ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรได้ยาก
  • ภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ เช่น การคลอดก่อนกำหนด และทารกในครรภ์เสี่ยงต่อการรับเชื้อแบคทีเรีย อาจทำให้เกิดมาพร้อมโรคปอดบวมหรือเยื่อบุตาอักเสบได้ ซึ่งอันตรายถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นหากไม่รับการรักษา

ผลกระทบของหนองในเทียมสำหรับเพศชาย

  • ภาวะมีบุตรยากในชาย หนองในเทียมอาจเป็นอันตรายต่อสเปิร์ม ทำให้มีภาวะเจริญพันธุ์ลดลง ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะมีบุตรยากในชาย
  • ท่อเก็บอสุจิอักเสบ หนองในเทียมจากการติดเชื้อคลาไมเดียในระยะยาวอาจแพร่กระจายไปยังลูกอัณฑะผ่านท่อนำอสุจิ ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ปวด บวมบริเวณอัณฑะ

หนองในเทียม อาการ

การป้องกันโรคหนองในเทียม

การเลี่ยงมีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีเชื้อคลาไมเดียเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด แต่โรคหนองในเทียมเป็นโรคที่อาการไม่รุนแรงทำให้ยากต่อการสังเกตทั้งคู่นอนและตัวเราเอง ฉะนั้นการมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้งจึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยอยู่เสมอไม่ใช่เพียงแค่หนองในเทียมอย่างเดียวแต่ยังรวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ซึ่งการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยนั้นสามารถทำได้ด้วยวิธีดังนี้

  • การใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ ทั้งทางช่องคลอดและทางทวารหนัก
  • ใช้ Dental Dam หรือแผ่นยางอนามัยสำหรับการร่วมเพศทางปาก (oral sex)
  • มีคู่นอนเพียงคนเดียวหรือมีให้น้อยที่สุด
  • งดใช้ของเล่นทางเพศร่วมกับคนอื่น

หนองในเทียมแม้อาการจะเล็กน้อยแต่ภาวะแทรกซ้อนเป็นปัญหาใหญ่

หนองในเทียมแม้จะไม่ได้มีอาการรุนแรง แต่ถ้าปล่อยไว้นาน ๆ มันจะนำไปสู่ปัญหาของอวัยวะในระบบสืบพันธ์ุและปัญหาภาวะเจริญพันธุ์ซึ่งอาจรักษายากกว่าหนองในเทียม การสังเกตตัวเองตั้งแต่แรกด้วยการสำรวจอาการที่กล่าวมาในบทความนี้นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราเข้าสู่การรักษาได้เร็วที่สุด

หากมีข้อสงสัย ต้องการทำนัดปรึกษาทีมศูนย์ศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ สามารถติดต่อได้ที่ทุกช่องทางการติดต่อของโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา


Reference,

Mayo Clinic Staff. (2023). Chlamydia – Symptoms and causes. Mayo Clinic. Retrieved, from https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/chlamydia/symptoms-causes/syc-20355349

Cleveland Clinic. (2023). Chlamydia. Retrieved, from https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/4023-chlamydia

ศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง