Skip to content

โนโรไวรัส…ไวรัสตัวร้ายที่ทำให้เด็กท้องเสีย (Norovirus)

หน้าแรก  >  บทความเกี่ยวกับสุขภาพ

การติดเชื้อท้องเสียโนโรไวรัส(Norovirus) ซึ่งมีชื่อเดิมว่าNorwalk virus เป็นสาเหตุของการระบาดของการติดเชื้อท้องเสียที่ไม่ใช่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อยที่สุดในโลก จึงมักจะพบว่าในบางเหตุการณ์ เช่น การล่องเรือสำราญ งานเลี้ยงใหญ่ที่มักจะมีการนำอาหารทะเลหลายชนิดมาให้รับประทานกัน ถ้ามีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสนี้ในอาหารและน้ำดื่ม ก็จะมีจำนวนคนป่วยที่มีอาการอาเจียน ท้องเสีย เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น

อาการและอาการแสดง

ส่วนใหญ่มักทำให้มีอาการอาเจียน ปวดท้องและท้องเสีย ภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังทานอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อนี้ หรือแม้แต่การสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งจากผู้ป่วยรายอื่นๆก็สามารถติดได้ และอาการท้องเสียมักจะดีขึ้นภายใน 24-72 ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีอาการป่วย

อาการที่พบบ่อยคือ
  • คลื่นไส้ อาเจียน ค่อนข้างรุนแรง
  • ถ่ายเหลวเป็นน้ำ
  • ปวดท้อง
  • ปวดศีรษะ
  • มักมีไข้ต่ำๆร่วมด้วย แต่บางรายอาจมีไข้สูง 38-39 องศาเซลเซียสได้
  • อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตัว

แม้ว่าอาการคลื่นไส้อาเจียนจะดูรุนแรงพอสมควร แต่การตรวจร่างกายมักจะไม่มีอาการปวดเฉพาะที่หรือปวดเกร็งของหน้าท้องในการตรวจร่างกาย ทำให้พอวินิจฉัยแยกโรคจากสาเหตุอื่นๆที่มีอาการและอาการแสดงที่คล้ายกัน เช่น ภาวะลำไส้กลืนกัน ไส้ติ่งอักเสบ การติดเชื้ออาหารเป็นพิษด้วยเชื้ออื่นๆ สำหรับรายที่มีอาการอาเจียนและถ่ายเป็นน้ำเยอะ ผู้ป่วยอาจมีอาการของการขาดน้ำ เช่น มีไข้ ดูเพลียมาก มีชีพจรเบาเร็ว และมีความดันโลหิตต่ำได้

การวินิจฉัย

โดยการเก็บตัวอย่างอุจจาระส่งตรวจพิเศษทางห้องปฏิบัติการ (เป็นการตรวจด้วยแลปพิเศษ, ไม่ใช่เป็นการเพาะเชื้อไวรัส) และยังไม่ได้เป็นแลปที่สามารถทำได้ในทุก ร.พ.

การรักษา
  • ในปัจจุบันยังไม่มียาเฉพาะเจาะจงในการขจัดเชื้อไวรัสนี้ การรักษาจึงเป็นการดูแลตามอาการ และส่วนใหญ่อาการต่างๆจะดีขึ้นได้ในเวลา 3-4 วัน
  • ในรายที่อาการไม่รุนแรง ก็ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส) หรือที่เรียกกันว่า เกลือซอง สำหรับดื่มในกรณีที่มีอาเจียนและท้องเสีย ทานอาหารอ่อน และ ให้ยาแก้อาเจียน ยาแก้ปวดท้อง ตามอาการ
  • ในรายที่มีภาวะขาดสารน้ำค่อนข้างมาก หรือมีอาเจียน ปวดท้อง และถ่ายตลอด ก็อาจเกิดอันตรายจากการขาดน้ำทำให้เกิดช็อค ความดันโลหิตต่ำ และเสียชีวิตได้ จึงควรพิจารณาให้เข้ารับการรักษาตัวใน ร.พ. ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด และติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด
  • ผู้ป่วยที่จะมีโอกาสเกิดอันตรายจากการขาดน้ำได้แก่ ผู้ป่วยเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวต่างๆอยู่แล้ว จึงจำเป็นที่จะต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ
การป้องกัน

ยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันเชื้อโนโรไวรัสนี้ การป้องกันโดยทั่วไป คือ การใส่ใจในสุขอนามัย กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ จะช่วยลดปัญหาการติดเชื้อนี้ได้

โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยาสามารถตรวจวิเคราะห์หาเชื้อโนโรไวรัส ได้ภายใน 40 นาที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ ศูนย์กุมารเวช โทร. 0 3825 9999

ขอบคุณข้อมูลจาก: นพ. ประสงค์ พฤกษานานนท์ คลินิกเด็ก ดอท คอม

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง