Skip to content

เช็กสาเหตุของไขมันในเลือดสูง ลดเสี่ยงโรคหัวใจทำได้ไม่ยาก

อาหารไขมันสูง

ภาวะไขมันในเลือดสูงเป็นจุดเริ่มต้นของโรคร้ายแรงหลายโรค หลายคนจึงเริ่มตระหนักถึงการรักษาสุขภาพของตนเอง ด้วยการปรับพฤติกรรมหลาย ๆ อย่างร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การออกกำลังกาย และการพักผ่อนให้เพียงพอ ในบทความนี้โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยาได้นำเสนอสาเหตุและอันตรายจากภาวะไขมันในเลือดสูง สำหรับการทำความเข้าใจในภาวะและความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น

ภาวะไขมันในเลือดสูง คืออะไร ?

เลือดในร่างกายมนุษย์มีหน้าที่ลำเลียงสารอาหารต่าง ๆ รวมถึงไขมัน ซึ่งไขมันมีหลายชนิดและทำหน้าที่ภายในร่างกายแตกต่างกันไป สำหรับภาวะไขมันในเลือดสูง หรือ Hyperlipidemia เป็นภาวะทางสุขภาพอย่างหนึ่งที่บ่งชี้ว่าร่างกายมีไขมันชนิดที่ไม่ดีต่อร่างกายอยู่ในระบบไหลเวียนเลือดมากเกินไป และอาจส่งผลกระทบทำให้เกิดโรคบางโรคที่ร้ายแรงต่อร่างกายได้ ผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงส่วนใหญ่มักสังเกตได้จากระดับ คอเลสเตอรอลและไตรกรีเซอไรด์สูง บางคนอาจมีสาเหตุจากไขมันชนิดเดียว หรือทั้ง 2 ชนิดก็ได้

รู้จักไขมันในเลือดมากขึ้นอีกนิด แบบไหนคือไขมันดี และไขมันเลว ?

ไขมันในเลือดมีอยู่ 3 ชนิด มีแหล่งที่มาหลัก ๆ จาก 2 แหล่งคือ ส่วนที่ร่างกายผลิตได้เองจากตับ และส่วนที่ร่างกายรับมาจากอาหารที่รับประทาน ในระบบไหลเวียนโลหิต ไขมันจะถูกลำเลียงผ่านเลือดเกาะไปด้วยกันกับโปรตีนมีชื่อเรียกว่า “ไลโปโปรตีน” (Lipoprotein) ซึ่งมีหลายประเภท เมื่อเข้ารับบริการตรวจสุขภาพหากลองสังเกตผลตรวจ Lipid profile จะมีการจำแนกประเภทไขมันในเลือดดังนี้

1. ไขมันเลว หรือ ไลโปโปรตีนความหนาแน่นต่ำ LDL (Low-density lipoprotein)

เป็นคอเลสเตอรอลประเภทหนึ่ง บางคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า “ไขมันเลว” เนื่องจากในคนที่มีไขมัน LDL สูง การลำเลียงไขมันผ่านเส้นเลือดอาจทำให้เกิดไขมันเกาะผนังเส้นเลือดแดง ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการหลอดเลือดแดงตีบหรืออุดตัน

2. ไขมันดี ไลโปโปรตีนความหนาแน่นมาก HDL (High-density lipoprotein)

คอเลสเตอรอลประเภทนี้คุ้นหูกันดีในนามของ “ไขมันดี” เป็นไขมันที่ช่วยดักจับไขมันที่เป็นส่วนเกินในเส้นเลือดแดงแล้วส่งไปยังตับ ไขมันประเภทนี้หากมีปริมาณมากในระดับที่เหมาะสมจะยิ่งส่งผลดีต่อร่างกาย

3. ไตรกรีเซอไรด์ Triglycerides

เป็นไขมันในเลือดชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับคอเลสเตอรอล เมื่อร่างกายมีปริมาณไตรกรีเซอไรด์มาก ๆ ก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการก่อก้อนไขมันเกาะผนัง (Plaque) ในหลอดเลือดแดงมากขึ้น
การมีสุขภาพที่ดี ระดับไขมันในเลือดทั้ง 3 ชนิด ควรอยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ โดยที่จะต้องมีค่าคอเลสเตอรอลรวมไม่เกิน 200mg/dl หากตรวจ Lipid profile แล้วพบว่ามีความเสี่ยงภาวะไขมันในเลือดสูง แพทย์อาจจะแนะนำให้ตรวจสุขภาพบางอย่างเพิ่มเติมหากมีข้อบ่งชี้ รวมถึงการให้คำแนะนำในการรักษา และลดระดับไขมันในเลือดลงเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคร้ายในอนาคตด้วย

ของทอดทำให้ไขมันในเลือดสูงขึ้น

ไขมันในเลือดสูงเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ

สาเหตุหลัก ๆ ของภาวะไขมันในเลือดสูงเกิดจากร่างกายได้รับคอเลสเตอรอลจากอาหารมากเกินความจำเป็น ซึ่งปกติแล้วคอเลสเตอรอลเป็นสารส่วนประกอบของคล้ายไขมัน (Lipoprotein) ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับเนื้อเยื่อต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ร่างกายสามารถผลิตได้เองจากตับ และปกติสามารถถูกสร้างในปริมาณที่ร่างกายต้องการต่อวันได้เพียงพออยู่แล้ว อย่างไรก็ตามการที่ระดับไขมันในเลือดสูงขึ้นก็ไม่ได้มีสาเหตุจากอาหารเพียงอย่างเดียว บางครั้งอาจเกี่ยวข้องการใช้ชีวิตประจำวันวัน และภาวะบางอย่างในร่างกายร่วมกับสาเหตุอื่น ๆ ได้อีกหลายปัจจัย

สาเหตุที่พบได้จากชีวิตประจำวัน

  • การสูบบุหรี่ หรือสูดควันบุหรี่มือสอง
  • การเคลื่อนไหวร่างกายน้อย หรือขาดการออกกำลังกาย
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก ๆ
  • การรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว
    • พบในไขมันจากสัตว์ เช่น น้ำมันหมู เนื้อสัตว์ติดมัน หนังไก่ ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู เนื้อสัตว์แปรรูป เช่นไส้กรอก เบคอน แฮม
    • พบในไขมันจากพืชบางชนิด เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว กะทิ
    • พบในขนมที่ทำจากเนย นม ไข่ กะทิ เช่น ผลิตภัณฑ์เบเกอรี ไอศกรีมนม น้ำสลัดครีม ขนมบัวลอย กล้วยบวชชี
    • พบในเครื่องดื่มที่มีนมเป็นส่วนผสม นมข้นหวาน ครีมเทียม เช่น มิลค์เชค กาแฟ 3 in1 ชานมไข่มุก ชาเย็น กาแฟเย็น
    • พบในอาหารทอดกรอบ เนื่องจากอาหารทอดกรอบนิยมใช้น้ำมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัว เช่นไก่ทอด หมูทอด
  • การรับประทานอาหารที่มีไขมันทรานส์
    • พบในเนยขาว ครีมเทียม เนยเทียม มาการีน โดนัท คุกกี้ พาย อาหาร fast food เช่น เฟรนฟรายส์ แฮมเบอร์เกอร์ ขนมกรุบกรอบต่าง ๆ ของทอด ไก่ทอด

สาเหตุอื่น ๆ ที่เกิดจากโรคหรือภาวะบางอย่าง

  • ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (polycystic ovarian syndrome: PCOS)
  • ภาวะน้ำหนักเกิน (Overweight)
  • โรคไต
  • โรคเบาหวาน
  • โรคตับ
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ยาขับปัสสาวะ ยาสเตียรอยด์ เป็นต้น

ภาวะไขมันในเลือดสูงมีอาการหรือไม่ ?

โดยปกติแล้วภาวะไขมันในเลือดสูงไม่ได้มีอาการที่ชัดเจน สังเกตได้ยาก แต่เมื่อร่างกายมีไขมันเลวจำนวนมากเป็นเวลานาน ๆ จะเกิดการสะสมของไขมันในหลอดเลือดแดงซึ่งทำให้เลือดไหลเวียนได้ลำบาก ซึ่งอาจทำให้เกิดความดันโลหิตสูงขึ้น วิงเวียนศีรษะ ปวดหัวบ่อย แต่อาการที่กล่าวมาข้างต้นก็เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุไม่ใช่แค่หลอดเลือดแดงตีบอย่างเดียว

ดังนั้นภาวะไขมันในเลือดสูงนับว่าเป็นภาวะที่ไม่ได้มีอาการที่ชัดเจน แต่ในระยะยาว คนที่ไม่ดูแลหรือตรวจสุขภาพเป็นประจำอาจแสดงอาการเมื่อไขมันในเลือดก่อให้เกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับอาการหลอดเลือดหัวใจตีบซึ่งมีอาการ เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อยเป็นต้น หน้ามืด เป็นต้น

หลอดเลือดหัวใจตีบจากไขมันในเลือดสูง

ความเสี่ยงต่อโรคเมื่อร่างกายมีภาวะไขมันในเลือดสูง

ส่วนที่เป็นอันตรายจากภาวะไขมันในเลือดสูงมากที่สุด คือการสะสมคราบไขมันที่เกาะผนังหลอดเลือดแดงทำให้เกิดหลอดเลือดแดงตีบหรืออุดตัน ซึ่งสามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนและโรคต่าง ๆ เช่น

การรักษาและการดูแลสุขภาพขณะมีภาวะไขมันในเลือดสูง

สำหรับการรักษาภาวะไขมันในเลือดสูงแพทย์อาจรักษาด้วยการใช้ยาร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง เนื่องจากไขมันในเลือดสูงมักมาจากพฤติกรรมการบริโภค การรักษาจึงจำเป็นต้องทำร่วมกับการปรับพฤติกรรม อย่างไรก็ตามการปรับพฤติกรรมเพื่อสุขภาพที่ดีสามารถทำได้เลย ไม่จำเป็นต้องรอป่วยหรือรอแพทย์แนะนำ ซึ่งการปรับพฤติกรรมที่เสริมสร้างสุขภาพดี และลดความเสี่ยงไขมันในเลือดสูงสามารถปฏิบัติได้ดังนี้

  • ออกกำลังกายให้มากขึ้น
  • เลิกบุหรี่
  • นอนหลับให้เพียงพออย่างน้อย 7-8 ชม.
  • รักษาระดับความเครียดไว้ไม่ให้มากเกินไป
  • จำกัดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์สูง
ผลตรวจไขมันในเลือด

การตรวจระดับไขมันในเลือด

การจะรู้ระดับไขมันในเลือดของตนได้นั้น จะต้องทำด้วยการตรวจ Lipid profile ซึ่งแพทย์จะเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจระดับไขมันชนิดต่าง ๆ ว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่ หากผลตรวจออกมาว่ามีความผิดปกติแพทย์จึงจะสามารถให้คำแนะนำในการฟื้นฟูรักษา ก่อนที่ภาวะนี้จะส่งผลทำให้เป็นโรคร้ายแรงที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจเลือดตีบ ปัจจุบันคลินิกหรือโรงพยาบาลส่วนใหญ่สามารถให้บริการตรวจระดับไขมันในเลือดได้ หรือใช้บริการตรวจสุขภาพประจำปีที่รวมการตรวจ Lipid Profile ไว้ในรายการตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลได้เช่นกัน

หากมีข้อสงสัยสามารถทำนัด สอบถามข้อมูลหรือปรึกษากับทีมศูนย์หัวใจ ได้ที่ทุกช่องทางการติดต่อของโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา

ตรวจสุขภาพประจำปี

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง