Skip to content

การพูดเป็นพัฒนาการที่สำคัญ ในช่วง 2 ขวบปีแรกของชีวิต

หน้าแรก  >  บทความเกี่ยวกับสุขภาพ

ปัญหาเรื่องการพูดของเจ้าตัวน้อยผู้ปกครองสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายและพบได้บ่อย  หากสามารถวินิจฉัยความผิดปกติและได้รับการฝึกพูด โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการแก้ไขการพูด เพื่อจัดโปรแกรมการฝึกที่เหมาะสมได้เร็วมากขึ้นเท่าไร ก็จะช่วยบำบัดรักษาและแก้ไขความบกพร่องด้านการพูด การได้ยินและการออกเสียง ซึ่งเป็นผลดีต่อพัฒนาการในอนาคต

การฝึกพูดในเด็ก

ในปัจจุบันมีเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการทางภาษาและการพูดล่าช้าจํานวนมากที่ไม่สามารถเข้ารับบริการฝึกพูดตามสถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้านได้เนื่องจากข้อจํากัดด้านบุคลากรที่มีความรู้ด้านการแก้ไขการพูดและถึงแม้สามารถเข้ารับบริการในสถานบริการสาธารณสุขที่มีบุคลากรด้านนี้แต่การให้บริการยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการในด้านความรวดเร็วและความถี่ของการฝึก  ส่งผลให้เด็กกลุ่มนี้ขาดโอกาสในการพัฒนาความสามารถทางภาษาและการพูดตั้งแต่ในระยะต้นๆ

การฝึกพูดในเด็กที่พูดช้าดําเนินไปร่วมกับการรักษาสาเหตุที่ทําให้เด็กพูดช้า เช่น เด็กที่พูดช้าเนื่องจากมีการได้ยินผิดปกติก็ต้องได้รับการใส่เครื่องช่วยฟังเพื่อให้เด็กได้ยินดีขึ้นแล้วจึงสอนพูด  ถ้าเด็กมีความผิดปกติทางระบบประสาทก็ต้องได้รับการรักษาทางระบบประสาทร่วมด้วย

ส่วนพวกที่มีปัญหาทางอารมณ์บางรายต้องการการรักษาจากทางจิตเวชกุมารร่วมด้วยมีเด็กพูดช้าจํานวนไม่น้อยที่มีสาเหตุหลายอย่างร่วมกันเช่นสมองพิการ หูตึง ปัญญาอ่อน ฯลฯ  ซึ่งในเด็กกลุ่มนี้การฝึกพูดมักจะทําได้ลําบากและได้ผลน้อยวิธีการแก้ไขทางด้านการพูดเน้นในเรื่องการส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูดให้เร็วที่สุด โดยใช้หลักการเรียนรู้และพัฒนาการทางการพูดของเด็กปกติเป็นแนวทาง  บิดา มารดา และผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กเป็นบุคคลที่มีความสําคัญอย่างมากในการสอนพูดเด็กเหล่านี้ ต้องแสดงให้เด็กเห็นความสําคัญของการพูดกระตุ้นให้เด็กสนใจการพูด โดยใช้กิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้การพูด ได้แก่ การกระตุ้นด้วยของเล่น ที่มีเสียง การพูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจําวัน สอนให้เด็กเรียกชื่อสิ่งของที่คุ้นเคย ชื่ออวัยวะของร่างกาย ร้องเพลงกล่อมเด็กทําท่าประกอบเพลง เล่านิทานจากภาพ ฯลฯ เด็กที่พูดช้าต้องได้รับการกระตุ้นอย่างต่อเนื่องและกระทําอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้การฝึกพูดได้ผลดี

เด็กที่ควรมารับการฝึกพฤติกรรมและภาษากับนักแก้ไขการพูด
  • เด็กที่มีความบกพร่องทางสมอง หรืออวัยวะที่ใช้พูด เช่น เด็กปากแหว่งเพดานโหว่ เด็กที่มีเส้นยึดใต้ลิ้นสั้นกว่าปกติ เด็กที่มีปัญหาด้านการได้ยิน หรือเด็กปัญญาอ่อน ภาวะอาการดังกล่าวทำให้เด็กมีปัญหาด้านการพูดได้ เช่น พูดช้า พูดไม่ชัด
  • เด็กที่ขาดการกระตุ้นที่เหมาะสมหรือขาดโอกาสในการพูด เช่น คุณพ่อคุณแม่ หรือพี่เลี้ยงปล่อยให้เด็กดูแต่โทรทัศน์ จึงทำให้เด็กไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพูด และในที่สุดจะส่งผลให้เด็กไม่พูด หรือพูดช้าได้ ส่วนกรณีที่เด็กพูดไม่ชัด อาจเกิดจากการที่ไม่มีแบบอย่างการพูดที่ถูกต้อง หรือมีพี่เลี้ยงพูดไม่ชัด จึงทำให้เด็กพูดตามเสียงที่ได้ยินมาผิดๆ
  • เด็กที่มีความบกพร่องด้านพัฒนาการทางภาษา และสังคม  ได้แก่ เด็กออทิสติก เด็กสมาธิสั้น ซึ่งส่วนใหญ่เด็กกลุ่มนี้จะมีปัญหาด้านการพูด ปัญหาหลักที่พบในเด็กกลุ่มนี้นั้น จะอยู่ที่การมีความล่าช้าของพัฒนาการทางด้านภาษาที่ไม่สมวัย ร่วมกับการไม่สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนในวัยเดียวกันได้

คุณแม่สามารถพาลูกมารับการประเมินด้านภาษาและการพูด เพื่อจัดโปรแกรมฝึกที่เหมาะสม  ทั้งที่มารับการฝึกที่โรงพยาบาล  หรือ  ในกรณีที่ไม่ค่อยสะดวกในการเดินทางมาบ่อย ๆ ก็อาจจัดทำ Home Program  โดยให้ญาติมารับการอบรมวิธีฝึก และนำไปปฎิบัติใช้ที่บ้าน  ร่วมกับการมาฝึกที่คลินิคเป็นระยะ ๆ ได้

Credit: ข้อมูลบางส่วนจาก คู่มือการฝึกพูดในเด็ก สถาบันราชานุกูล

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ศูนย์การได้ยิน การพูด การทรงตัว เสียงในหู โทร.1719

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง