อาการอักเสบภายในกระเพาะอาหารที่เกิดจากแผล หรือมีแผลในกระเพาะอาหาร เป็นความผิดปกติทีส่งผลให้เกิดความเจ็บปวด ไม่สบายตัว เพื่อบรรเทาอาการเหล่านั้นอย่างถูกต้องเราจึงต้องรู้จักอาการของโรคนี้พร้อมทั้งรู้จักวิธีการดูแลตัวเองที่เหมาะสม
แผลในกระเพาะอาหารคืออะไร ?
กระเพาะอาหารของเราเป็นอวัยวะที่มีน้ำย่อยอาหารซึ่งมีฤทธิ์กัดกร่อน ด้วยสาเหตุบางอย่างที่ทำให้ชั้นป้องกันเยื่อบุกระเพาะอาหารเสียหายจะส่งผลให้น้ำย่อยในกระเพาะกัดกร่อนเยื่อบุกระเพาะอาหารจนทำให้เป็นแผล ปัจจุบันสาเหตุที่แน่ชัดที่ส่งผลต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหารมี 2 สาเหตุคือการติดเชื้อ H. pylori และการใช้ยาแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs มากเกินไป
อ่านบทความเพิ่มเติม: สาเหตุของแผลในกระเพาะอาหาร
แผลในกระเพาะอาหารมีอาการอย่างไร ?
เมื่อเกิดแผลในกระเพาะอาหารอาจมีอาการเพียงเล็กน้อยหรือไม่แสดงอาการมาก อย่างไรก็ตามอาการที่สามารถพบได้เมื่อเป็นแผลในกระเพาะอาหารมีดังนี้
- ปวดท้อง แสบร้อน บริเวณกลางท้องหรือท้องส่วนบน
- ท้องอืด
- แสบร้อนกลางอก
- คลื่นไส้ หรืออาเจียน
อาการปวดท้อง แสบร้อนเป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด ในบางรายอาจรู้สึกหายปวดเมื่อรับประทานอาหารบางอย่างเข้าไป แต่ก็มักจะกลับมาปวดซ้ำในช่วงระหว่างมื้ออาหาร และช่วงกลางคืน
- ในเคสที่มีอาการรุนแรงอาจพบอาการดังต่อไปนี้
- อุจจาระสีเข้มหรือดำ (เนื่องจากมีเลือดปน)
- อาเจียนมีเลือดปน
- หน้ามืด เวียนหัวคล้ายจะเป็นลม
- น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ไม่อยากอาหาร หรือความอยากอาหารเปลี่ยนแปลง
การบรรเทาอาการเบื้องต้นเมื่อเป็นแผลในกระเพาะอาหาร
หากพบอาการหรือสงสัยว่าตัวเองมีแผลในกระเพาะอาหาร สามารถลดความรุนแรงของแผลและลดความเจ็บปวดเบื้องต้นได้ด้วยวิธีดังนี้
- เปลี่ยนชนิดยาแก้ปวด ในกรณีที่เดิมมีการใช้ยาแก้ปวดเป็นประจำ ลองปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรว่ายาที่ใช้อยู่มีผลต่อแผลในกระเพาะอาหารหรือไม่ หากเคยใช้ยากลุ่ม NSAIDs ควรเลี่ยงไปใช้ยาแก้ปวดชนิดอื่นแทน
- จัดการกับความเครียด คนที่มีความเครียดขณะที่มีแผลในกระเพาะอาหารมีแนวโน้มว่าจะทำให้อาการเจ็บปวดแย่มากขึ้นหรือนานขึ้น การจัดการความเครียดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความทรมานขณะมีอาการได้ และสามารถทำได้หลายอย่างไม่ว่าจะเป็น การทำสมาธิ การเขียนไดอารี่ การใช้เวลาไปกับเพื่อนฝูง การออกกำลังกาย ฯลฯ
- งดสูบบุหรี่ เนื่องจากส่งผลให้ให้เยื่อบุกระเพาะอ่อนแอ แผลหายช้า และส่งผลให้ร่างกายหลั่งกรดในกระเพาะมากขึ้น
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปทำให้เกิดการระคายเคืองและกัดกร่อนบริเวณเยื่อบุกระเพาะอาหาร อาจทำให้แผลอักเสบมากขึ้น หายช้าและเสี่ยงต่อการภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร
ภาวะแทรกซ้อนของแผลในกระเพาะอาหาร
แผลในกระเพาะอาหารดูจะไม่ได้โรคหรืออาการที่ส่งผลกระทบร้ายแรง แต่หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้รักษา และมีอาการรุนแรงดังในหัวข้อที่แล้วแผลในกระเพาะอาหารอาจพัฒนาให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอันตรายต่าง ๆ ได้ เช่น
- เลือดออกในกระเพาะอาหาร (Internal bleeding) โดยทั่วไปคนที่เป็นแผลในกระเพาะอาหารคือเกิดการอักเสบบริเวณแผลแต่ไม่จะไม่ถึงขั้นเลือดออก อย่างไรก็ตามภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหารเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบในคนที่เป็นแผลในกระเพาะเรื้อรังได้บ่อยที่สุด การที่แผลในกระเพาะอาหารมีเลือดออกส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจางหรือเสียเลือดอย่างรุนแรงได้
- กระเพาะอาหารทะลุ (Perforation) แผลในกระเพาะอาหารที่ถูกกัดกร่อนอย่างต่อเนื่องและไม่ได้รับการรักษามีความเสี่ยงที่จะส่งผลให้แผลกว้างขึ้นจนเป็นรูโหว่ในกระเพาะอาหาร ภาวะนี้มีอาการปวดท้องเฉียบพลันรุนแรง ทั้งยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อในช่องท้องจากแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหารที่เข้าไปยังเยื่อบุในช่องท้อง การติดเชื้อในช่องท้องยังเสี่ยงต่อการแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย หรือที่เรียกว่าการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต
- การอุดตันในทางเดินอาหาร (Obstuction) การสมานแผลที่เกิดขึ้นบริเวณที่ใกล้กับลำไส้เล็กและหากมีขนาดใหญ่พอสมควร อาจทำให้เกิดการกีดขวางทางเดินอาหาร ส่งผลให้กระบวนการย่อยอาหารหยุดชะงัก คนที่มีภาวะนี้มักมีอาการอิ่มเร็ว เบื่ออาหาร และน้ำหนักลด
- มะเร็งกระเพาะอาหาร (Stomach cancer) กรณีนี้พบได้ไม่บ่อยนัก แต่แผลในกระเพาะอาหารที่เกิดจากการติดเชื้อ H. pylori และแผลบางชนิดที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของเซลล์อาจส่งผลให้เกิดการพัฒนาเซลล์เป็นเซลล์มะเร็งได้เมื่อผ่านไประยะเวลานาน
การตรวจและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร
เบื้องต้นเมื่อเข้ารับการรักษาแผลในกระเพาะอาหารแพทย์อาจซักประวัติการใช้ยาแก้ปวด ตรวจร่างกายเบื้องต้น และที่สำคัญคือการวินิจฉัยสาเหตุที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารโดยอาจตรวจด้วยวิธีต่าง ๆ ตามความเหมาะสมเช่น
- การทดสอบการติดเชื้อ H. pylori เช่น การทดสอบทางลมหายใจ ทางอุจจาระ หรือทางเลือด
- การตรวจด้วยการส่องกล้อง Endoscopy
- การตรวจด้วยการฉายภาพทางเดินอาหาร เช่น X-ray และ CT scan
หากแพทย์พบการติดเชื้อ H. pylori แพทย์อาจให้การรักษาด้วยการรับประทานยาฆ่าเชื้อ และยาสำหรับการรักษาแผลในกระเพาะอาหาร นอกจากนี้การดูแลตัวเอง ลดปัจจัยที่ทำให้เกิดแผล เกิดการอักเสบจะช่วยให้แผลหายได้เร็วขึ้น
สรุปเกี่ยวกับแผลในกระเพาะอาหาร
แม้โรคนี้จะมีอาการที่เจ็บปวดแต่โดยทั่วไปแล้วแผลในกระเพาะอาหารไม่ใช่โรคที่อาการร้ายแรงมากนัก สามารถบรรเทาอาการเบื้องต้นด้วยการลดปัจจัยที่ทำให้เกิดการอักเสบ แต่ถ้าการบรรเทาอาการด้วยตัวเองไม่ได้ผล ทั้งยังสร้างความเจ็บปวดมากขึ้น อย่าชะล่าใจและควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ
หากมีข้อสงสัยสามารถทำนัด สอบถามข้อมูลหรือปรึกษากับทีมศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ ได้ที่ทุกช่องทางการติดต่อของโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา
Reference,
Cleveland Clinic. (2020). Peptic Ulcer Disease. Retrieved from https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/10350-peptic-ulcer-disease/
Mayo Clinic. (2022). Peptic ulcer: Symptoms & causes. Retrieved from https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/peptic-ulcer/symptoms-causes/syc-20354223
Cleveland Clinic. (2022). Stomach Peptic Ulcer. Retrieved from https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/22314-stomach-peptic-ulcer/