Skip to content

ค่าตับสูงต้องดูแล เช็คลิสต์สาเหตุที่ส่งผลต่อสุขภาพตับ

ค่าตับสูงเป็นสัญญาณอันตราย

ตับมีหน้าที่หลายอย่างและเป็นอวัยวะสำคัญที่คอยผลิตสารตั้งต้นสำหรับปฏิกิริยาเคมีต่าง ๆ ในร่างกาย เมื่อตรวจสุขภาพแล้วพบว่าค่าตับสูงผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณบางอย่างที่บอกเราว่าตับของเรานั้นกำลังมีปัญหา ยิ่งหากตับเกิดความเสียหายมาก ระบบต่าง ๆ ในร่างกายอาจเกิดความผิดปกติและภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้

ค่าตับสูงคืออะไร ? 

เวลาไปตรวจสุขภาพ “ค่าตับ” ที่เราพูด ๆ กัน คือคำนิยามผลตรวจตับ Liver function ซึ่งเป็นการตรวจระดับเอนไซม์ในเลือด โดยผลตรวจระดับเอนไซม์สามารถบอกได้ว่าคนคนนั้นมีปัญหาทางสุขภาพที่เกี่ยวกับตับหรือไม่ เนื่องจากเอนไซม์จากตับเป็นโปรตีนอย่างหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อปฏิกิริยาเคมีในร่างกายเช่นการผลิตน้ำดีและสารต่าง ๆ จำพวกสารช่วยให้เลือดแข็งตัว สารช่วยย่อยอาหาร และสารที่ช่วยต่อสู้กับเชื้อโรค เป็นต้น

เมื่อตับมีปัญหาหรือเกิดความเสียหาย ตับจะปล่อยเอนไซม์เข้ากระแสเลือดมากกว่าระดับมาตรฐาน ซึ่งเอนไซม์มีหลายชนิดแต่ที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุของค่าตับสูงมักเป็นเอนไซม์ชนิด AST (SGOT) และ ALT (SGPT)

ดังนั้นระดับเอนไซม์ในเลือดที่ไม่ปกติสามารถบอกสุขภาพตับได้ระดับหนึ่ง ซึ่งผู้ตรวจอาจจะเป็นโรคตับหรือไม่เป็นก็ได้ แพทย์จะนำผลตรวจพิจารณาการตรวจเพิ่มเติม หรือซักประวัติเพิ่มเพื่อหาสาเหตุของค่าตับสูง และเข้าสู่การรักษาที่เหมาะสม

ตรวจการทำงานของตับ liver function

สาเหตุที่ทำให้ค่าตับสูง 

สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้ตับปล่อยเอนไซม์เข้าสู่กระแสเลือดมากมักมาจากความผิดปกติที่ตับซึ่งเกิดจากโรคตับบางโรค หรือจากภาวะที่ผิดปกติบางอย่าง เมื่อได้รับผลตรวจว่าค่าตับสูงแพทย์จะพิจารณาสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากอะไร โดยวิเคราะห์จากอาการของผู้ป่วย ในบางรายอาจต้องเข้ารับการตรวจชนิดอื่น ๆ เพิ่ม โดยค่าตับสูงสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ที่พบมากที่สุดมักเป็นสาเหตุดังต่อไปนี้

นอกเหนือจากสาเหตุที่พบบ่อยยังมีสาเหตุจากโรคหรือภาวะอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อค่าตับได้ เช่น

  • โรคตับอักเสบรุนแรงจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ Alcoholic hepatitis
  • โรคตับอักเสบที่เกิดจากความผิดปกติของภูมิต้านทาน Autoimmune hepatitis
  • โรคตับอักเสบจากยาหรือสารพิษ Toxic hepatitis
  • โรคเซลิแอค Celiac (ความผิดปกติบริเวณลำไส้เล็กที่มีสาเหตุมาจากกลูเตน)
  • โรคมะเร็งตับ Liver cancer
  • โรคกล้ามเนื้ออักเสบ Polymyositis
  • โรคต่อมไทรอยด์ Thyroid conditions
  • การติดเชื้อ Cytomegalovirus (CMV)
  • การติดเชื้อไวรัส Epstein-Barr (EBV)
  • ภาวะธาตุเหล็กเกิน Hemochromatosis
  • ภาวะธาตุทองแดงคั่งในร่างกาย Wilson’s disease
  • ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด Sepsis
แอลกอฮอล์ส่งผลต่อค่าตับ

ใครบ้างที่เสี่ยงมีค่าตับสูง

จากสาเหตุที่ได้กล่าวไว้ในหัวข้อที่แล้ว ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคหรือภาวะบางอย่าง อาจมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคที่ทำให้ค่าตับสูงขึ้น เช่น

  • ผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัตป่วยเป็นโรคตับ
  • ผู้ที่มีดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากผิดปกติ หรือขาดการยับยั้งปริมาณ
  • ผู้ที่เคยหรือคาดว่าได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ
  • ผู้ที่ใช้ยาบางชนิดที่อาจส่งผลกระทบต่อตับ
  • ผู้ที่เคยให้เลือดหรือน้ำเหลืองในอดีต

อาการที่อาจพบเมื่อมีค่าตับสูง 

ผู้ที่มีค่าตับสูงอาจไม่ได้มีอาการเสมอไป ในระยะเริ่มต้น เนื่องจากการที่ตับปล่อยปริมาณเอนไซม์เข้ากระแสเลือดสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ บางคนจึงอาจมีอาการทั่วไปของโรคตับแทน แต่การแสดงอาการมักบ่งบอกว่ามีอาการของตับที่เป็นมาก เช่น

  • ปัสสาวะสีเข้ม
  • ปวดท้องผิดปกติ
  • เหนื่อยหอบ
  • ดีซ่าน
  • อุจจาระมีสีอ่อน
  • ไม่อยากอาหาร
  • คลื่นใส้อาเจียน
การรักษาค่าตับสูง

ค่าตับสูงป้องกันได้หรือไม่ ? 

ค่าตับสูงมักมีสาเหตุจากโรคหรือความผิดปกติของตับ ดังนั้นโรคบางโรคที่เป็นสาเหตุให้ค่าตับสูงขึ้นอาจไม่สามารถป้องกันการเพิ่มขึ้นของค่าตับได้เสมอไป แต่อย่างไรก็ตามการรักษาสุขภาพตับไม่ให้เกิดความเสียหายมากขึ้น สามารถทำได้ดังนี้

  • เลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หรือควบคุมปริมาณตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
  • เลี่ยงการใช้ หรือสัมผัสของที่ปนเปื้อนเลือด เช่น เข็มหรือของมีคม
  • ฉีดวัคซีนไวรัสตับอีกเสบเอและบี
  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
  • รักษาระดับน้ำตาลในเลือด โดยเฉพาะเมื่อเป็นโรคเบาหวาน
  • แจ้งแพทย์เสมอว่าใช้สมุนไพร ยา หรืออาหารเสริมชนิดใดอยู่
  • ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสมกับร่างกาย
  • ออกกำลังกายให้มากขึ้น

สรุปค่าตับ

ผลตรวจการทำงานของตับ Liver function ทำให้เราเห็นภาพว่าสุขภาพตับของเรายังดีอยู่หรือไม่ หากผลตรวจไม่ดีแพทย์ก็จะหาสาเหตุเพื่อรักษาต้นเหตุที่ทำให้ค่าตับสูง การตรวจสุขภาพประจำปีที่มีการตรวจ Liver function จึงเป็นตัวเลือกหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กับการตรวจเช็กอวัยวะอื่นๆ ที่สำคัญหากตรวจจับได้เร็วอาจป้องกันโรคตับร้ายแรงบางโรคได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ

หากมีข้อสงสัยสามารถทำนัด สอบถามข้อมูลหรือปรึกษากับทีมศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ ได้ที่ทุกช่องทางการติดต่อของโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา

ตรวจสุขภาพประจำปี

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง