Skip to content

เสริมเกราะป้องกันด้วย “ทักษะความปลอดภัยทางน้ำ 5 ประการ”

เรื่องราวของอุบัติเหตุ ‘เด็กจมน้ำเสียชีวิต’ โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอมนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งจะเคยเกิดขึ้นอย่างแน่นอน หากแต่ยังคงเป็นปัญหาที่พ่อแม่ ผู้ปกครองหลายท่านเป็นกังวลใจอยู่ไม่น้อย โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยถึงสถิติการจมน้ำพบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิต เฉลี่ยปีละ 1,291 คน หรือวันละเกือบ 4 คน โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอม ระหว่างมีนาคม-พฤษภาคม มีเด็กเสียชีวิตจากตกน้ำจมน้ำสูงที่สุด เฉลี่ยปีละ 442 คน

สำหรับการป้องกัน ส่วนหนึ่งคือการแนะนำให้พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด แต่ก็ยังเป็นเรื่องยากเพราะเด็กมักจะชอบออกไปเล่นนอกบ้าน ดังนั้นพ่อแม่ ผู้ปกครองจึงต้องฝึกเด็กให้มี ทักษะความปลอดภัยทางน้ำ 5 ประการ ดังนี้

1. รู้สึกเสี่ยง สอนให้เด็กรู้ว่าแหล่งน้ำไหนเสี่ยง ไม่ควรไปวิ่งเล่นใกล้ๆ โดยอาจจะพาเด็กเดินสำรวจสิ่งแวดล้อมในชุมชน และพาเขาไปดูว่าจุดไหนที่อันตราย และจุดไหนที่ปลอดภัย เพราะเด็กวัยนี้จะเข้าใจ ในเหตุและผลได้แล้ว

2. ลอยตัว 3 นาที เนื่องจากสาเหตุของการจมน้ำส่วนใหญ่ เกิดจากการที่เด็กมักจะเล่นกันใกล้ฝั่งและพลาดตกลงไปในน้ำ แต่ไม่สามารถที่จะลอยตัวขึ้นมาเพื่อจะเข้าฝั่งได้ เพราะฉะนั้นถ้าลอยตัวได้ 3 นาที เด็กจะสามารถช่วยตัวเองได้ ท่าลอยตัวที่ง่ายและใช้เพื่อตะกายเข้าฝั่ง เช่น ท่าปลาดาว ท่าแม่ชีลอยน้ำ ว่ายท่าลูกหมา เป็นต้น

3. ว่ายได้ 15 เมตร นอกจากการลอยตัวให้ได้ 3 นาทีแล้ว เด็กยังต้องสามารถว่ายได้ไกลถึง 15 เมตร เพื่อเป็นทักษะในการว่ายเข้าฝั่งหากพลัดตกลงไปในน้ำ ตามมาตรการ 3 น 15 ม (3 นาที 15 เมตร) นั่นเอง

4. รู้อันตราย เด็กต้องรู้ว่า การกระโดดลงไปช่วยเพื่อนที่กำลังจมน้ำนั้นเป็นเรื่องที่ อันตรายมาก แม้จะถูกฝึกมาอย่างดี ดังนั้นจึงมีหลัก 3 ข้อ คือ “ตะโกน โยน ยื่น” ตะโกน ให้ผู้ใหญ่มาช่วย โยน สิ่งของที่อยู่รอบตัว เช่น ถังน้ำ แกลลอน เพื่อให้เพื่อนเกาะและสามารถใช้ลอยตัวได้ ยื่น สิ่งยาวๆ ให้เพื่อนจับแล้วดึงเข้ามาใกล้ฝั่ง (โดยจุดที่เขายืนก็ต้องมั่นคงด้วย)

5. การใช้ชูชีพ เพื่อการเดินทางทางน้ำ ไม่ว่าจะเรือชนิดใด จะว่ายน้ำเป็นไม่เป็น ก็มีความเสี่ยงที่จะจมน้ำได้เช่นกัน ดังนั้นจึงต้องมรการฝึก ใส่ – ถอด ชูชีพให้ถูกวิธี และอย่างน้อยต้องหัดลอยตัวเมื่อใส่ชูชีพให้ได้ เพราะถ้าลอยตัวไม่เป็น หน้าคว่ำลงก็อาจจะเอาชีวิตไม่รอดได้เหมือนกัน

“ทักษะเบื้องต้นเหล่านี้ จะต้องถูกสอนให้กับเด็กๆ เพื่อสร้างเกราะป้องกัน โดยใช้ความรู้และการตะหนักรู้ และสิ่งเหล่านี้จะติดตัวเขาไปตลอดชีวิต ทั้งยังสามารถถ่ายทอดให้คนอื่นเพื่อป้องกันความสูญเสียที่ไม่มีใครต้องการ ให้เกิดขึ้นได้อีกด้วย”

ที่มา: รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก

“รู้ไว้มีประโยชน์ เกิดเหตุเมื่อไหร่ ใช้ได้ทันที”

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง