Skip to content

เพราะเสี้ยวนาที…คือชีวิต

หน้าแรก  >  บทความเกี่ยวกับสุขภาพ

“อุบัติเหตุ”

เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ไม่คาดฝัน แม้จะระวังมากแล้วก็ตาม การเข้าช่วยชีวิตผู้ได้รับบาดเจ็บ  การเข้าถึงจุดเกิดเหตุด้วยความรวดเร็วจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเวลาแต่ละวินาทีที่ผ่านไปหมายถึงชีวิต  โดยส่วนใหญ่ช่วงที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคงหนีไม่พ้นช่วงวันหยุดยาวของเทศกาลต่างๆ  จากสถิติในช่วงเดือนเมษายนพบว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นทางถนนค่อนข้างสูง เป็นสาเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ เนื่องจากเป็นเทศกาลที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเป็นจำนวนมาก

สบายดีที่พัทยาได้มีนัดพิเศษกับแพทย์หญิงคนเก่ง และพยาบาลประจำศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉินของโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่มีบุคคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉิน พร้อมมากในภาคตะวันออก  ท่านแรกแพทย์หญิงปิยาภรณ์ ทิพยรัตน์ แพทย์วชศาสตร์ฉุกเฉินและผู้อำนวยการศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา, ท่านที่สองแพทย์หญิงพีรพรรณ เจรจาปรีดี แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน และท่านสุดท้ายคุณวรรณรดา ป้องภาษิต พยาบาลวิชาชีพเฉพาะทางเวชศาสตร์ฉุกเฉิน วันนี้ทั้ง 3 ท่านจะมาแบ่งปันเรื่องราวที่น่าประทับใจในการทำงานกับเราค่ะ

  • ก่อนอื่นเลย อยากทราบเหตุผลที่ทำให้เลือกเรียนเฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินนี้ค่ะ

พญ.ปิยาภรณ์: ที่เลือกเรียนเฉพาะทางสาขานี้ ก็เพราะสนใจเป็นพิเศษตั้งแต่ตอนที่เรียนจนกระทั่งเป็นแพทย์ใช้ทุน (Intern) จริงๆแล้วการทำงานในห้องฉุกเฉิน หลายๆคนอาจจะคิดว่ามันวุ่นวายหรือเครียด แต่สำหรับหมอแล้วคิดว่าเป็นความน่าตื่นเต้นนะ อย่างแรกเลยคือเราสามารถช่วยชีวิตคนไข้หลังจากที่เกิดอุบัติเหตุ หรือได้รับบาดเจ็บที่มีความรุนแรงจนอาจถึงแก่ชีวิตให้รอดตายหรืออย่างน้อยก็พ้นขีดอันตรายได้ในเวลาที่ค่อนข้างจำกัด อีกอย่างคืองานตรงนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของเราด้วยน่ะค่ะ

พญ.พีรพรรณ: ที่ตัดสินใจเลือกเรียนสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ก็คือช่วงที่เป็นแพทย์ฝึกหัด (Extern) ได้มีโอกาสผ่านงานที่ ER ค่อนข้างมาก คือได้อยู่เวรเยอะ   และรู้สึกว่างานตรงนี้ไม่น่าเบื่อ ดูแลคนไข้แล้วจบตรงนั้น ไม่ยืดเยื้อ และที่สำคัญได้ช่วยเหลือให้คนไข้ภาวะวิกฤตในช่วงแรก ได้ผ่านช่วงอันตรายนี้ไป ก็เลยคิดว่า เหมาะกับตัวเอง

คุณวรรณรดา: ก็เริ่มตั้งแต่เป็น นักศึกษาพยาบาลนะคะ พอจบปี 4 จะได้เลือกเรียนสาขาเฉพาะทางเช่น ห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด Ward เป็นต้น หลังจากผ่านมาทุกรูปแบบ พอตัวเองได้ทำงานที่ ER รู้สึกว่ามีความสุขมากกว่าที่อื่น ที่นี่เป็นด่านหน้าของ รพ. คนไข้มาที่นี่มีทุกรูปแบบแตกต่างกันไป ได้ดูแลคนไข้เหมือนได้ช่วยเขาให้พ้นจากความทุกข์ คลายจากความเครียด รวมถึงเรื่องอื่นๆที่นอกเหนือจากอาการเจ็บป่วยอีกด้วย ก็เลยชอบสาขานี้ค่ะ

  • ข้อสำคัญในการดูแลผู้ป่วยในภาวะวิกฤตจากเหตุฉุกเฉินต่างๆ

พญ.พีรพรรณ: อันดับแรกคือ ต้องแยกความฉุกเฉินเป็น 2 ประเภทคือ ฉุกเฉินโดยตัวคนไข้เองคิดว่าเขาเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่จริงๆแล้วอาการไม่หนัก อันนี้เราต้องอธิบายให้คนไข้เข้าใจ พร้อมๆกับให้การรักษาไปด้วย  อีกอันหนึ่งเป็นภาวะที่ฉุกเฉินจริงๆ เช่นภาวะเส้นเลือดหัวใจ เส้นเลือดสมอง ถ้าประเมินได้รวดเร็ว ก็สามารถให้การรักษาได้เร็ว คนไข้ก็มีโอกาสรอดสูงขึ้นค่ะ

พญ.ปิยาภรณ์: แต่ละอาการวิกฤตมีระยะเวลา “นาทีทอง”  หรือ Golden Period ที่แตกต่างกันไป ต้องมีการประเมินความเสี่ยงที่แม่นยำว่าอาการของคนไข้ฉุกเฉินนั้นเร่งด่วนแค่ไหน มีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต หรือสูญเสียอวัยวะหรือไม่ ต้องย้ำว่าสิ่งที่เราให้ความสำคัญอย่างมากคือ การเข้าถึงผู้ป่วยให้เร็วที่สุดไม่ว่าผู้ป่วยจะอยู่ที่ไหน เหตุเกิดเวลาใดค่ะ

ในปีนี้เราจะเพิ่มสมรรถนะของรถพยาบาลที่ใช้ คือสามารถระบุพิกัด หรือตำแหน่งของตัวรถขณะอยู่บนท้องถนน ด้วยระบบจีพีเอส ทำให้สามารถเลือกเส้นทางที่ใกล้ที่สุด และหลีกเลี่ยงจราจรที่ติดขัดเพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว

คุณวรรณรดา: เราตระหนักอยู่ตลอดค่ะว่า คนไข้จะบาดเจ็บที่จุดใดบ้าง บางทีเขาบอกว่าเจ็บที่เดียว แต่ความจริงอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่นบางรายถูกทำร้ายร่างกาย อาจจะโดนตบหรือโดนต่อยมา ตัวคนไข้เองอาจคิดว่าไม่เป็นไรมาก แต่กระดูกต้นคอก็อาจจะมีปัญหาได้ หมายความว่าเราต้องตรวจร่างกายแบบองค์รวม และตรวจสอบสัญญานชีพต่างๆของคนไข้ด้วยค่ะ

  • ช่วยเล่าให้เราฟังถึงเหตุการณ์ที่ประทับใจ

พญ.ปิยาภรณ์: ส่วนตัวจะติดตามอาการของเคสที่เราไปช่วยมาน่ะค่ะ ว่าอาการเป็นอย่างไรหลังจากเราส่งต่อไปถึงมือแพทย์เฉพาะทางนั้นๆแล้ว มีอยู่ครั้งหนึ่งเดินสวนกับคนไข้หน้า 7-11 เขาจำเราไม่ได้หรอก แต่เราจำได้ว่าเขามา ER เมื่อ 2 วันก่อนด้วยอาการแน่นหน้าอก พอตรวจดูอาการแล้ว น่าจะเป็นเส้นเลือดหัวใจตีบ ตอนนั้นอาการไม่ดีหัวใจเต้นผิดจังหวะช็อคไฟฟ้ากระตุ้นอยู่หลายครั้งและต้องปั๊มหัวใจ หมอวิ่งตามไปส่งถึงห้องสวนหัวใจ (Cath Lab) แต่หมอก็ต้องรีบลงมาดูคนไข้อื่นต่อ พออีก 2 วันเจอคนไข้เดินมาเราก็ดีใจ แต่ก็ไม่ได้หวังว่าเขาจะจำเราได้ หรือต้องมีของขวัญมาขอบคุณเรา หมอรู้ว่าเขากลับบ้านได้ก็ดีใจแล้ว มีความสุขแล้วค่ะ

พญ.พีรพรรณ: ที่ประทับใจคือ เป็นคนไข้ฝรั่งที่เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลับ (Sudden Cardiac Arrest) ที่คลินิกแห่งหนึ่งที่ต้องทำ CPR นานมาก ทีมของเราไปรับและเริ่มปั๊มตั้งแต่ที่คลินิกจนถึง รพ. ที่ ER ก็ปั๊มต่อเป็นชั่วโมง ตอนนั้นในใจหมดหวังแล้วเพราะรวมๆเวลาแล้ว ก็ชั่วโมงกว่า สักพักหนึ่งหัวใจของคนไข้ก็กลับมาเต้นอีกครั้ง ก็รีบทำการส่งต่อไปที่ Cath Lab และดูแลต่อโดยแพทย์โรคหัวใจ ต่อมาทราบว่าคนไข้พักอยู่ที่โรงพยาบาล 1 สัปดาห์ แล้วก็รู้สึกตัวและสามารถกลับบ้านได้ค่ะ

คุณวรรณรดา: จริงๆแล้วประทับใจแทบทุกรายนะคะ ส่วนใหญ่คนไข้จะขอบคุณเราที่ช่วยให้เขาปลอดภัย ที่ประทับใจคือมีคนไข้ชาวฝรั่งเศส ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์ คนไข้พอจะพูดภาษาอังกฤษได้ และเป็นโรคหัวใจด้วย ทราบภายหลังว่าเขาเป็นหมอศัลยกรรมพลาสติกที่ฝรั่งเศสด้วย คนไข้เล่าว่า วินาทีแรกที่เขาประสบอุบัติเหตุ เขามีความรู้สึกว่าเกลียดเมืองไทย ที่ทำให้เขาเป็นแบบนี้ แต่พอเขาได้รับการดูแลจากเราอย่างดี ความรูสึกก็เปลี่ยนไป เขาประทับใจมาก วันต่อๆมาที่ต้องมาล้างแผลที่ รพ. ก็จะมาหาแต่เรา (หัวเราะ…) แทนที่จะไปแผนกล้างแผล เจาะจงมาที่ห้องฉุกเฉินและต้องเป็นเราล้างแผลให้ บางทีมารอเราขึ้นเวร ถามที่แผนกว่าเราเข้างานกี่โมงน่ะ (หัวเราะ…) แค่มารอให้ทำแผลเฉยๆ ก่อนกลับเขาเอาภาพสเก็ตช์ รูปเราที่เขาเป็นคนวาดเองมาให้ ขนาดเท่าตัวจริงเลยค่ะ ประทับใจมาก

  • ความภาคภูมิใจในงานที่ทำอยู่ตอนนี้ล่ะคะ

คุณวรรณรดา: ตรงนี้ที่ทำงานมา 8 ปี กับการทำงานที่ห้องฉุกเฉิน มีความสุขทุกๆครั้งที่มาทำงานค่ะ ความเครียดก็มีบ้าง แต่ก็เป็นช่วงสั้นๆ เพราะขณะทำงานเราก็โฟกัสแต่คนไข้เป็นหลัก ส่วนใหญ่ความเครียดจะหมดไปหลังเลิกงาน วันรุ่งขึ้นก็กลับมาทำงานกลับมามีความสุขกับงานได้ปกติค่ะ

พญ.ปิยาภรณ์: นอกจากการช่วยคนไข้พ้นภาวะวิกฤติแล้ว สิ่งสำคัญคือการช่วยพัฒนากระบวนการทำงานในห้องฉุกเฉิน รวมทั้งการนำส่งคนไข้ โดนเฉพาะการพัฒนาบุคคลากร ทั้งในและนอกโรงพยาบาล เพราะถ้าบุคคลากรในทีมเวชศาสตร์ฉุกเฉินมีความรู้ความสามารถมากขึ้น เราก็ช่วยคนไข้ได้มากขึ้นด้วย หมอคนดียวเก่งแค่ไหนก็อาจช่วยใครไม่ได้ ถ้าทีมไม่พร้อม

พญ.พีรพรรณ: การได้ดูแลคนไข้ที่วิกฤตหรืออาการหนักๆคนหนึ่ง ให้พ้นขีดอันตรายและส่งต่อให้หมอสาขาอื่นรักษา เมื่อติดตามอาการรู้ว่าผลการรักษาออกมาน่าพอใจเราก็ดีใจ เพราะตอนที่เราเจอเขาอาการเขาหนักมาก พอเรารู้ว่าคนไข้กลับบ้านได้

  • ความหมายของ Pre-Hospital ในทรรศนะของทีมค่ะ

พญ.ปิยาภรณ์: การปฐมพยาบาลอย่างถูกต้อง และการรักษาที่เหมาะสมอย่างรวดเร็ว ณ จุดเกิดเหตุ จนถึงโรงพยาบาลสามารถช่วยให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสรอดชีวิตสูงขึ้น ปกติเราจะมีแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินประจำรถพยาบาลทุกคัน พร้อมด้วยอุปกรณ์ช่วยชีวิตตามมาตรฐานการช่วยชีวิตขั้นสูง (ACLS) ความเพียบพร้อมของอุปกรณ์ทางการแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญและทีมประจำรถ ทำให้รถพยาบาลมีรูปแบบเหมือน “ห้องไอซียูเคลื่อนที่” (Mobile ICU) โดยการทำงานที่เป็นไปตามมาตรฐาน JCI (Joint Commission International) ของประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วยสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยค่ะ

พญ.พีรพรรณ: เป็นการดูแลคนไข้ ก่อนที่จะถึง รพ. เป็นขั้นตอนสำคัญมาก ถ้าเราวินิจฉัยบางสภาวะโรคได้ก่อน ก็จะให้ผลดีแก่ผู้ป่วย เพราะบางอาการรอไม่ได้เป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน บางอาการนับเป็น วินาทีต่อวินาที หากเราตั้งรับอยู่ที่ห้องฉุกเฉินเท่ากับว่าเรา นับ 1 ที่รพ. แต่ Pre Hospital เราเริ่มจะนับ 1 คือให้การรักษาตั้งแต่ที่เกิดเหตุ บางรายมาถึงรพ.อาการเกือบจะดีขึ้นเลยก็ว่าได้

คุณวรรณรดา: ที่ไปเรียนมาก็มีทั้งทางน้ำ ทางบกและทางอากาศ เป็นแบบผสมผสานเพราะอุบัติเหตุมีหลายรูปแบบ Pre Hospital คือจะไปดูที่เกิดเหตุก่อน โดยประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบ ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนเพราะเมืองพัทยามีคนเข้ามาเยอะมาก ทั้งมาทำงานและท่องเที่ยว ทำให้อุบัติเหตุเกิดขึ้นเยอะตามไปด้วย คนที่ไปช่วยต้องปลอดภัย อีกอย่างที่สำคัญคือ การตรวจร่างกายและประเมินอาการอย่างรวดเร็ว ประเมินความเจ็บปวดและให้การปฐมพยาบาล และด้วยมาตรฐานสากลของรถพยาบาลของเรา จึงสามารถทำหัตถการ ณ ที่เกิดเหตุได้เลยไม่ว่าจะเป็นการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) การใส่ท่อช่วยหายใจ เครื่องกระตุ้นหัวใจ สามารถทำได้ทั้งก่อนออกเดินทางและขณะเดินทางมาโรงพยาบาลค่ะ

  • ฝากถึงทุกๆคน เกี่ยวกับอุบัติเหตุทางรถยนต์และทางน้ำสำหรับเทสกาลสงกรานต์ที่จะมาถึง

พญ.พีรพรรณ: คงไม่มีใครอยากให้เกิดอุบัติเหตุ เทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง สุดท้ายก็ต้อง “เตือนตัวท่านเอง” และ “เตือนคนรอบข้าง” ให้หยุดพฤติกรรมเสี่ยงในการขับขี่รถบนท้องถนนค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการเมาแล้วขับ โทรศัพท์ขณะขับรถ ขับรถเร็ว ขับรถย้อนศร และสาเหตุใหญ่มาจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกกันน็อกค่ะ แต่อย่างไรก็ตามขอให้ทุกคนตั้งอยู่บนความไม่ประมาทนะคะ

พญ.ปิยาภรณ์: สำหรับอุบัติเหตุทางน้ำ ทีมเรามีบุคคลากรที่ได้รับการฝึกฝนด้านการรับมือกับอุบัติเหตุทางน้ำมาเป็นอย่างดี รวมถึงมีการฝึกซ้อมร่วมกับศูนย์กู้ภัยทางทะเลของเมืองพัทยาเป็นประจำอีกด้วย ก็ขอให้วางใจได้ นอกจากนี้เรามีการฝึกซ้อมรับมือกับอุบัติเหตุหมู่ กันอย่างสม่ำเสมออยู่แล้วอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ช่วงก่อนสงกรานต์ และเราได้หารือร่วมกับมูลนิธิสว่งบริบูรณ์ธรรมสถานเมืองพัทยา รวมถึงโรงพยาบาลใกล้เคียง  ในการส่งต่อผู้ป่วยอุบัติเหตุหรือผู้ป่วยวิกฤติ ให้ถึงมือแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อเตรียมพร้อมรับอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์และวันไหลพัทยาค่ะ

คุณวรรณรดา: ปัญหาที่พบส่วนใหญ่ ผู้ป่วยเสียจะชีวิตจากการนำส่งโรงพยาบาลไม่ทันเวลา เนื่องจากการจราจรติดขัดในช่วงเทศกาล หากต้องการความช่วยเหลือจากโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยาเรามีสายด่วน 1719 หรือโทร 0-3825-9911 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงค่ะ รวมถึงมีศูนย์วิทยุสื่อสารช่วยประสานงาน อำนวยความสะดวกต่างๆให้กับทีม ในการช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพอีกด้วยค่ะ

เมื่อการตัดสินใจของหมอคือที่สุด …เมื่อคนไข้และญาติตั้งความหวังไว้ที่ทีมช่วยเหลือ  พวกเขาจึงไม่มีแม้แต่เวลาที่จะคิด ลังเล หรือไม่แน่ใจ… การที่ใครสักคนจะทำงานอยู่ตรงจุดนี้ได้ นอกจากต้องมีทักษะและความสามารถที่เฉพาะทางแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ ความเสียสละและทุ่มเทให้กับคนไข้ อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และที่สำคัญพวกเขายังคงทำงานในแบบที่เรียกกันว่า “ผู้ปิดทองหลังพระ” ด้วยความตั้งใจที่จะให้คนไข้ทุกคน สามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุขต่อไปโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนค่ะ

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง