Skip to content

เบาหวานกับการดูแลสุขภาพเท้า

หน้าแรก  >  บทความเกี่ยวกับสุขภาพ

โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง และก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพกับอวัยวะต่างๆ ภายในร่างการเช่น เหงือก ฟัน ตา ไต หัวใจ และระบบประสาทหลอดเลือดแดง ซึ่งผู้ป่วยโรคเบาหวานเรื้อรังนั้นมักมีหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) ทำให้เลือดไปเลื้ยงเท้าไม่พอจนอาจทำให้เท้าเย็น เป็นตะคริว ทำให้ความรู้สึกสัมผัสบริเวณเท้าลดลงหรือเกิดอาการปวดขณะเดินมากๆ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุลื่นล้มได้ผู้เป็นเบาหวานห้ามแช่เท้าในน้ำร้อนเด็ดขาดและไม่ควรนั่งไขว่ห้าง ที่สำคัญหมั่นให้แพทย์ตรวจเท้าอย่างน้อยปีละครั้ง

ทำไมผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงเป็นแผลที่เท้าได้ง่าย เนื่องจากเส้นประสาทปลายเสื่อม ผิวหนังบริเวณส่วนขาแห้งคัน เกิดการเกา มีแผลแตกและติดเชื้อได้ง่าย หรือเมื่อความรู้สึกที่เท้าลดลง ขณะเดินก็จะเกิดแผลได้ง่าย จะรู้ตัวอีกทีแผลก็ติดเชื้อลุกลามไปมาก ยากต่อการรักษาแล้วบางคนถึงกับต้องตัดขา ยิ่งผู้ที่เป็นโรคเบาหวานนานกว่า 25 ปี ขึ้นไปมีโอกาสต้องถูกตัดขาสูงถึงร้อยละ 11 จากการเกิดแผลที่เท้า ทีนี้เราทดลองมาดูวิธีการดูแลเท้ากันหน่อยดีกว่าว่ามีวิธีการดูแลอย่างไรถึงถูกต้องและปลอดภัยกับผู้ที่เป็นเบาหวาน

วิธีดูแลเท้าของผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • ล้างเท้าด้วยน้ำธรรมดา และสบู่อ่อนทุกวันหลังอาบน้ำ ไม่ความใช้แปรงขนแข็งขัดเท้า
  • ซับเท้าให้แห้งด้วยผ้าที่สะอาดและนุ่ม เช่น ผ้าขนหนู โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณซอกนิ้วเท้า
  • ตรวจดูเท้าทุกวันว่ามีอาการปวด บวม มีแผล รอยช้ำ ผิวเปลี่ยนสี หรือเม็ดพอง โดยตรวจทั่วทั้งฝ่าเท้า ส้นเท้า (ถ้ามองไม่เห็นอาจใช้กระจกส่อง) ซอกระหว่างนิ้ว และรอบเล็บเท้า เมื่อพบความผิดปกติควรปรึกษาแพทย์
  • สวมรองเท้าตลอดเวลา ทั้งในและนอกบ้านป้องกันไม่ให้เกิดแผล ก่อนสวมรองเท้าทุกครั้งควรตรวจสอบภายในก่อนว่ามีสิ่งแปลกปลอมใดที่ทำให้เกิดแผลได้หรือไม่เช่น กรวด ทรายเพราะแม้แต่แผลเล็กมากๆ จากรอยถลอกจากการถูกของแข็งจะทำให้เป็นแผลและหายช้า
  • เลือกใช้รองเท้าที่ถูกสุขลักษณะ รองเท้าจะต้องนิ่ม ขนาดพอดีไม่คับหรือหลวมเกินไปจนเกิดการเสียดสีเป็นแผล
  • การตัดเล็บเท้าด้วยความระมัดระวัง และตัดอย่างถูกวิธีโดยตัดขวางเป็นเส้นตรงให้พอดีกับเนื้อ ถ้าสายตาไม่ดี ควรให้ผู้อื่นช่วยตัดเล็บให้
  • ทาโลชั่นเพื่อลดความแห้งแข็งของผิวหนัง และหลีกเลื่ยงการทาระหว่างซอกนิ้วเท้า
  • ออกกำลังบริเวณขา และเท้าอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 15 นาทีเพื่อให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น
  • ถ้ามีผิวหนังที่หนาหรือตาปลาไม่ควรตัดเอง ควรได้รับการตัดให้บางทุก 6-8 สัปดาห์โดยผู้ชำนาญ
  • กรณีเกิดบาดแผลต้องรีบรักษาโดยเร็ว

เห็นหรือไม่ว่าการเกิดแผลที่เท้าของผู้ป่วยเบาหวานเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญมาก แค่ไหนดังนั้นจึงไม่ควรปล่อยปละละเลยที่จะดูแลเท้าของผู้ที่เป็นเบาหวานเป็นอันขาด เพียงเท่านี้ก็สามารถป้องกันการเกิดแผลที่เท้าได้ ขอให้ผู้ป่วยและคนในครอบครัวใส่ใจและมีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคเบาหวาน และการดูแลเท้า รวมไปถึงการควบคุมเบาหวานที่ดี เพียงเท่านี้ก็ทำให้ชีวิตของคุณอยู่กับเบาหวานได้อย่างมีความสุขสามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่ศูนย์เบาหวานและต่อมไร้ท่อ รพ.กรุงเทพพัทยา หรือโทร.1719

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง