เหงือกจ๋า…ฟันลาก่อน วลีชวนขบขัน ที่อาจจะไม่ได้ตลกอย่างที่คิด
ปฎิเสธได้ว่า เหงือกและฟัน เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งที่เราทุกคนต้องใช้เป็นประจำทุกวันเพื่อการบดเคี้ยวอาการ การพูดคุย และความสวยงาม แต่ความสำคัญของเหงือกและฟันอาจมากไปกว่านั้น ปัจจุบันนี้หลากหลายการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคเหงือกและฟัน โดยเฉพาะกลุ่มโรคปริทันต์อักเสบ ไม่เพียงก่อให้เกิดปัญหาในช่องปาก แต่อาจมีความสัมพันธ์กับโรคทางระบบหลายอย่าง เช่น โรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคเบาหวาน เป็นต้นโรคปริทันต์อักเสบ
หรือ หลายคนอาจเคยได้ยินในชื่ออื่น ๆ เช่น โรคเหงือก โรครำมะนาด ล้วนแล้วแต่คือโรคเดียวกัน อันเป็นผลที่เกิดจากการอักเสบบริเวณเหงือก กระดูกรอบรากฟัน และเอ็นยึดระหว่างกระดูกและรากฟัน โดยมีสาเหตุมาจากการสะสมของแผ่นคราบจุลินทรีย์ หรือหินปูน ซึ่งภายหลังจะก่อให้เกิดปฎิกิริยาการอักเสบ และทำให้เกิดโรคปริทันต์ในที่สุด ผู้ป่วยหลายรายที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ท้ายที่สุดจะทำให้เกิดอาการปวดและบวมที่เหงือก จนอาจนำมาซึ่งการสูญเสียฟัน ยิ่งไปกว่านั้น โรคปริทันต์อักเสบยังส่งผลต่อโรคทางระบบอื่น ๆ โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ซึ่งมีความสัมพันธ์กับโรคปริทันต์อักเสบอย่างเด่นชัด โดยจะพบว่าผู้ป่วยเบาหวานคนไข้กลุ่มที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี จะมีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาโรคปริทันต์อักเสบมากขึ้น และรุนแรงขึ้น อีกทั้งผลการรักษาโรคปริทันต์อักเสบอาจจะไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ในทางกลับกันผู้ป่วยที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบที่ไม่ได้รับการรักษา จะส่งผลให้การควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือดทำได้ยากขึ้น แต่เมื่อผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับการรักษาโรคปริทันต์อักเสบอย่างถูกวิธี จะพบว่าสามารถทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดลดลง หรือควบคุมได้ดีมากยิ่งขึ้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ปัญหาเหงือกและฟันไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ในช่องปาก แต่ส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมของตัวผู้ป่วยเอง หนึ่งในทางป้องกันที่สำคัญคือ ผู้ป่วยควรดูแลสุขภาพช่องปากของตนเองด้วยการแปรงฟัน ใช้ไหมขัดฟันอย่างสม่ำเสมอทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และควรได้รับการตรวจฟัน ขูดหินปูนโดยทันตแพทย์ทุก ๆ 6 เดือน ทันตแพทย์หญิงดิษยวดี เกตุทัต ศูนย์ทันตกรรมความงามและรากเทียม โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา
Post Views: 1,713