Skip to content

โรคมือ เท้า ปาก

หน้าแรก  >  บทความเกี่ยวกับสุขภาพ

เกิดจากเชื้อไวรัสลำไส้หลายชนิด ชนิดที่รุนแรงชื่อว่า “แอนเทอโรไวรัส 71” พบได้บ่อยในกลุ่มเด็กทารกและเด็กเล็ก โรคเกิดประปรายตลอดปี แต่จะพบมากขึ้นในหน้าฝน ซึ่งอากาศมักเย็นและชื้น

การแพร่ติดต่อของโรค

การติดต่อส่วนใหญ่เกิดจากการได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปากโดยตรงจากมือ ภาชนะที่ใช้ร่วมกัน เช่น ช้อน แก้วน้ำ หรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากตุ่มพองและแผล หรืออุจจาระของผู้ป่วย

อาการของโรค

หลังจากได้รับเชื้อ 3 – 6 วัน ผู้ติดเชื้อจะเริ่มแสดงอาการป่วย เริ่มด้วยมีไข้ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ต่อมาอีก 1 – 2 วัน มีอาการเจ็บปากและไม่ยอมทานอาหาร เนื่องจากมีตุ่มแดงที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม ต่อมาจะเกิดตุ่มหรือผื่นนูนแดงเล็กที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ก้น และเปลี่ยนเป็นตุ่มพองใสบริเวณรอบๆ ซึ่งจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ อาการจะทุเลาและหายเป็นปกติภายใน 7 – 10 วัน

การรักษา

  • โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะแพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ปวด
  • ควรเช็ดตัวเพื่อลดไข้เป็นระยะ
  • ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อนๆ รสไม่จัด ดื่มน้ำและน้ำผลไม้ ถ้าเป็นเด็กอ่อนอาจป้อนนมแทนการดูดจากขวดนม
  • สังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด หากพบมีไข้สูง ซึม ไม่ยอมทานอาหารและดื่มน้ำ อาเจียรบ่อย หอบ แขนขาอ่อนแรง อาจเกิดภาวะสมองหรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือน้ำท่วมปอด ซึ่งอาจรุณแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ต้องรีบพาไปพบแพทย์

การป้องกันโรค

โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่ป้องกันได้โดย

  • การรักษาสุขอนามัยของบุตรหลาน และผู้เลี้ยงดูเด็กให้สะอาด ตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือบ่อยๆ (ด้วยน้ำและสบู่) โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร และหลังการขับถ่าย
  • การใช้ช้อนกลางในการตักอาหาร
  • หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ หลอดดูด ผ้าเช็ดหน้า และผ้าเช็ดมือ เป็นต้น
  • สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล ต้องจัดให้มีอ่างล้างมือ และสุขาที่ถูกสุขลักษณะ ดูแลสถานที่อุปกรณ์เครื่องใช้ให้สะอาดอยู่เสมอ รวมถึงการกำจัดอุจจาระเด็กให้ถูกต้องด้วย
  • หากพบเด็กป่วย ผู้ปกครองควรรีบมาเด็กไปพบแพทย์ และหยุดรักษาตัวที่บ้านประมาณ 7 วันหรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ
  • ระหว่างป่วยไม่ควรพาเด็กไปในสถานที่แออัด เช่น สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ และห้างสรรพสินค้า

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์กุมารเวช โทร.1719

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง