แม้ว่าความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมจะเพิ่มขึ้นตามอายุ แต่ผู้หญิงอายุน้อยก็สามารถเป็นมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน บทความนี้จึงได้เล่าถึงปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งเต้านมของคนอายุน้อย และสิ่งที่ผู้หญิงควรทำตั้งแต่วัยสาวเพื่อลดความเสี่ยง
หญิงไทยวินิจฉัยพบมะเร็งเต้านมมากที่สุดในช่วงอายุเท่าไหร่ ?
จากข้อมูลโรคมะเร็งเต้านมของกระทรวงสาธารณสุข (Health Data Center) ในปี 2565 พบว่าหญิงไทยเป็นโรคมะเร็งเต้านมมากที่สุด รองลงมาคือโรคมะเร็งปากมดลูก โดยผู้ที่เป็นโรคมะเร็งเต้านมมีจำนวน 38,559 ราย พบในคนที่อายุมากกว่า 60 ปีมากที่สุด คือ 19,776 ราย รองลงมาคือช่วงอายุ 50-59 ปี จำนวน 12,181 ราย และ ช่วงอายุ 40-49 ปี จำนวน 5,177 ราย และช่วงอายุอื่น ๆ อีก 1,425 ราย
อายุน้อยกว่า 40 เสี่ยงมะเร็งเต้านมมากแค่ไหน ?
โดยส่วนใหญ่ผู้หญิงที่อายุยังไม่มาก มักยังไม่สังเกตหรือไม่ได้คิดว่าตนมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน โรคนี้อาจจะพบได้ยากในคนอายุน้อย ๆ แต่ผู้หญิงอายุน้อยกว่า 40 จะเสี่ยงมะเร็งอยู่ที่ 5% ผู้หญิงเราถึงได้รับคำแนะนำให้คัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยตัวเองเป็นประจำทุกเดือนตั้งแต่อายุ 20 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีปัจจัยมะเร็งเต้านมบางอย่างอาจเพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมเร็วขึ้นตัวอย่างเช่น
- มีประวัติเคยตรวจพบชิ้นเนื้อหรือเป็นโรคเกี่ยวกับเต้านม
- เคยได้รับการฉายรังสีบริเวณหน้าอกหรือเต้านม
- มีคนในครอบครัวหรือเครือญาติเป็นโรคมะเร็งเต้านมมาก่อน
- มีคนในครอบครัวหรือเครือญาติเคยเป็นโรคที่เกี่ยวกับกลุ่มอาการทางพันธุกรรม เช่น มะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านมชนิดทริปเปิลเนกาทีฟ มะเร็งเต้านมทั้งสองข้าง มะเร็งเต้านมในผู้ชาย มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งต่อมลูกหมากระยะลุกลาม เป็นต้น
ในสถาณการณ์โลก BBC รายงานว่า มีผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมที่ยังอายุไม่ถึง 50 ปี เพิ่มขึ้นถึง 79% ตลอดช่วง 3 ทศวรรตที่ผ่านมา ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ BMJ Oncology ชี้ว่าจำนวนผู้ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งตั้งแต่อายุยังน้อยทั่วโลก เพิ่มขึ้นจาก 1.82 ล้านคน ในปี 1990 มาอยู่ที่ 3.26 ล้านคน ในปี 2019
มะเร็งเต้านมในวัยก่อน 40 ต่างจากวัยอื่นอย่างไร ?
- ยากต่อการวินิจฉัย การตรวจมะเร็งเต้านมในผู้หญิงวัยก่อน 40 มักจะตรวจได้ยากกว่ามะเร็งที่ตรวจเจอในวัย 50-60 ปีขึ้นไป เนื่องจากเนื้อเยื่อเต้านมในวัยก่อน 40 จะมีความหนาแน่นมากกว่า
- หากเป็นแล้วอาการของโรคมีแนวโน้มที่จะรุนแรงกว่าปกติ คนที่เป็นมะเร็งเต้านมในช่วงที่ยังอายุไม่มาก โดยเฉพาะคนที่ตรวจเจอโรคในระยะที่เริ่มแพร่กระจาย มีแนวโน้มที่จะมีอาการค่อนข้างรุนแรง และมีแนวโน้มที่จะตอบสนองต่อการรักษาได้ไม่ดีเท่าที่ควร
- เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการกลายพันธุ์ในยีนส์ และเสี่ยงที่จะเป็นซ้ำ การกลายพันธุ์ของยีนส์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง ดังนั้นหากพบมะเร็งเต้านมในช่วงอายุไม่มาก อาจมีโอกาสเป็นซ้ำในอนาคตหรือเสี่ยงต่อมะเร็งชนิดที่อาจเกี่ยวข้องกัน
- มีโอกาสเพิกเฉยหรือไม่ทันสังเกตความเปลี่ยนแปลง มะเร็งเต้านมไม่ใช่โรคที่พบได้บ่อยในวัยก่อน 40 มากนัก หลายคนจึงอาจไม่ทันเอะใจเมื่อเจอก้อนในเต้านมหรือเจอความเปลี่ยนแปลงของเต้านม ซึ่งอาจทำให้การวินิจฉัยล่าช้าและรักษายากขึ้น
- เผชิญกับผลกระทบรอบด้าน ผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมก่อนวัย 40 อาจต้องเผชิญผลกระทบอื่น ๆ ที่นอกจากตัวโรคเอง เช่น ความมั่นใจในร่างกายลดลง ปัญหาทางเพศ ปัญหาการเตรียมพร้อมมีลูกหรือการตั้งครรภ์หลังการรักษา
เคสมะเร็งเต้านมอายุน้อย
ยกตัวอย่างเคสของโจสลิน อดัมส์ (Josilyn Adams) เธอได้เผยแพร่เรื่องราวการตรวจพบโรคมะเร็งเต้านมในวัย 35 ของตนเองลงในเว็บไซต์ vermontmoms.com ซึ่งเธอเล่าว่าก่อนตรวจพบเธอนึกถึงปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านมของเธออยู่เพียงไม่กี่อย่าง คือ ฝั่งคุณยายของเธอมีประวัติรักษาโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ เธอเคยใช้ยาคุมกำเนิดอยู่หลายประเภท และดื่มสุราบ้าง
การวินิจฉัยเริ่มจากที่เธอคลำเต้านมเพื่อตรวจเช็คสุขภาพเต้านมเป็นปกติแล้วพบว่าเจอก้อนบางอย่างในเต้านมข้างขวา ซึ่งโจสลินรู้ว่ามันไม่ปกติเพราะตั้งแต่เธอให้นมลูก 2 คน มากว่า 4-5 ปี หากเจอก้อนหรือถุงน้ำมากจะหายไปเองหลังรอบประจำเดือน แต่คราวนี้เธอพบว่าก้อนในเต้านมข้างขวามันหดลงแต่ไม่หายไป จึงได้นัดตรวจกับแพทย์ ซึ่งเบื้องต้นเธอตรวจพบเจอมะเร็งท่อน้ำนมชนิดไม่ลุกลาม Ductal Carcinoma In Situ (DCIS) ระยะ 0
แพทย์ได้นัดเธอตรวจเพิ่มเติมเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเซลล์มะเร็งในเนื้อเยื่ออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง การรักษาและการพบแพทย์อาจทำให้เธอหนักใจในหลาย ๆ ครั้ง แต่แพทย์และตัวเธอก็เชื่อว่าหากโชคเข้าข้าง การผ่าตัดที่กำลังจะถึงจะช่วยให้เธอหายจากโรคได้ พร้อมทั้งทิ้งท้ายเอาไว้ในบทความว่าให้หมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลง หากมีอะไรผิดปกติให้รีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุซะ เพราะมะเร็งเต้านมสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน
การป้องกันมะเร็งเต้าที่ทำได้ตั้งแต่วัยสาว
ตามคำแนะนำของแพทย์อธิบดีกรมอนามัย ผู้หญิงทุกคนตั้งแต่อายุ 20 ปี ขึ้นไปควรเรียนรู้ทักษะการคลำเต้านมด้วยเองทุกเดือน หมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงของเต้านมด้วยตาเปล่า หากเจอความผิดปกติเร็วและพบแพทย์เพื่อตรวจได้เร็วจะยิ่งเพิ่มโอกาสในการรักษา
นอกจากนี้การดูแลสุขภาพในชีวิตประจำวันก็เป็นสิ่งสำคัญเช่น การควบคุมน้ำหนักให้พอดี การออกกำลังกาย การพักผ่อน การจำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำหรับผู้ที่มีบุตรแล้วการให้นมลูกจากเต้า มีแนวโน้มที่จะช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านมได้ เพราะช่วงที่ให้นมบุตรฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์เต้านมจะลดลง
สำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงจากบรรพบุรุษหรือคนในครอบครัวมีประวัติการรักษาโรคมะเร็งเต้านม หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับการกลายพันธุ์ของเซลล์ การปรึกษาแพทย์โดยตรง หรือการตรวจยีน BRCA เป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมได้ดี
หากมีข้อสงสัยสามารถทำนัด ปรึกษาหรือสอบถามข้อมูลกับทีมศูนย์เต้านม ได้ที่ทุกช่องทางการติดต่อของโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา
Reference,
Cleveland Clinic. (2023). Breast Cancer in Young Women. Retrieved from https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/16805-breast-cancer-in-young-women
Centers for Disease Control and Prevention. (2023). Breast Cancer: Risk Factors. Retrieved from https://www.cdc.gov/cancer/breast/basic_info/risk_factors.htm
Healthline. (n.d.). Breast Cancer. Retrieved from https://www.healthline.com/health/breast-cancer/breast-cancer-20s-30s#risk-factors
กรมอนามัย. (2566). หญิงไทยป่วยมะเร็งเต้านมสูงสุด แนะควรตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน. อนามัยมีเดีย. สืบค้นจาก https://multimedia.anamai.moph.go.th/news/140366/
BBC ไทย. (2566). คนอายุต่ำกว่า 50 ปี เป็นมะเร็งกันเพิ่มขึ้นถึง 80% ทั่วโลก. สืบค้นจาก https://multimedia.anamai.moph.go.th/news/140366/