โรคภูมิแพ้
โรคภูมิแพ้ (Allergy)
โรคภูมิแพ้เกิดจากระบบภูมิต้านทานของร่างกายตอบสนองต่อสารต่าง ๆ มากผิดปกติ ซึ่งสารเหล่านั้นสามารถเข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจ การสัมผัสและการรับประทาน ทำให้ร่างกายเข้าใจผิดว่าสารเหล่านั้นเป็นสิ่งแปลกปลอม จึงเกิดอาการแพ้สารต่าง ๆ เช่น จาม คันตา คันจมูก น้ำมูกไหล มีอาการทางผิวหนัง อาการหอบหืด ไปจนถึงอาการแพ้รุนแรง
การวินิจฉัยโรคภูมิแพ้
การวินิจฉัยหาสารกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ หรือสารก่อภูมิแพ้ ทำได้โดยการซักประวัติโดยละเอียด ควบคู่กับการตรวจร่างกาย หากยังไม่สามารถบอกสารก่อภูมิแพ้ได้ชัดเจน หรือต้องการยืนยันสารก่อภูมิแพ้ จำเป็นต้องทำการทดสอบภูมิแพ้ เช่น
- การทดสอบทางผิวหนัง เป็นวิธีที่แพร่หลายที่สุด เจ็บน้อยกว่าวิธีอื่น ปลอดภัย และทราบผลเร็ว ซึ่งมีหลายวิธีเช่น การสะกิดผิวหนัง การฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง หรือการแปะบนผิวหนัง
- การตรวจเลือด เป็นวิธีที่ปลอดภัย มีประโยชน์ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถทดสอบทางผิวหนังได้ หรือรับประทานยาที่มีผลต่อการทดสอบทางผิวหนัง ข้อเสียคือต้องรอผลตรวจ ไม่ทราบผลโดยทันที
- การทดลองใช้สารที่สงสัย เป็นวิธีในการยืนยันการแพ้ได้ดีที่สุด แต่ต้องทำอย่างระมัดระวัง ภายใต้การดูแลพิเศษ
การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังด้วยวิธีสะกิดผิวหนัง (Skin prick test)
การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังด้วยวิธีสะกิด (Skin prick test) เป็นวิธีการทดสอบภูมิแพ้โดยการจำลองปฏิกิริยาการแพ้แบบฉับพลัน ที่สะดวก มีความแม่นยำ ทราบผลเร็ว ค่อนข้างปลอดภัย และประหยัด โดยทำการทดสอบ ที่บริเวณแขนหรือหลัง ด้วยการหยดน้ำยาทดสอบปริมาณเล็กน้อย และใช้ปลายเข็มสะกิด หากแพ้สารที่ทดสอบจะมีรอยนูน บวมแดง คล้ายยุงกัด
ประโยชน์ของการทดสอบภูมิแพ้ด้วยวิธีสะกิดผิวหนัง
- ช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรคภูมิแพ้และสารที่แพ้ โดยวินิจฉัยร่วมกับการซักประวัติและตรวจร่างกาย
- สามารถหลีกเลี่ยง หรือกำจัดสารที่แพ้ ช่วยป้องกันอาการแพ้ในอนาคตได้
- ช่วยวางแผนการรักษาและเลือกให้วัคซีนภูมิแพ้
- ทีมแพทย์สามารถนำไปศึกษาระบาดวิทยาของสารก่อภูมิแพ้ในกลุ่มคนที่จำเพาะ ซึ่งนำไปสู่การดูแนวโน้มการแพ้ของประชากรในกลุ่มต่าง ๆ
โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยามีชุดทดสอบภูมิแพ้ชนิดใดบ้าง ?
- สารก่อภูมิแพ้ทางอากาศ เป็นสารก่อภูมิแพ้ที่ลอยปนอยู่ในอากาศ หรือปนในสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ ได้แก่ ละอองเกสรหญ้า ละอองเกสรจากต้นไม้ สุนัข แมว ไรฝุ่น เชื้อรา และแมลงสาบ
- สารก่อภูมิแพ้ทางอาหาร เป็นสารก่อภูมิแพ้ที่อยู่ในอาหารที่นิยมรับประทาน ได้แก่ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ไข่ นม แป้งสาลี ข้าวเจ้า ข้าวโพด เห็ด ไก่ หมู วัว ปลา หอย กุ้ง ปู โกโก้ และส้ม
ใครเหมาะกับการการทดสอบภูมิแพ้ด้วยวิธีสะกิดผิวหนัง ?
- กลุ่มผู้ป่วยภูมิแพ้ หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นภูมิแพ้
- ผู้ที่เป็นโรคหืด หรือหอบหืด
- ผู้ที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้
- ผู้ที่มีอาการแพ้อาหารฉับพลัน หรือโรคอื่น ๆ ที่เกิดจากกลไกลการแพ้แบบฉับพลัน
- โดยปกติการทดสอบสามารถทดสอบได้กับผู้ป่วยทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ ที่ไม่มีข้อห้ามในการทดสอบ แต่ผลตรวจจะมีความไวลดลงในผู้สูงอายุ หรือการรับประทานยาบางชนิด
ภาวะใดไม่เหมาะกับการทดสอบภูมิแพ้ด้วยวิธีสะกิดผิวหนัง ?
- มีผื่นผิวหนังอักเสบทั่วตัว มีภาวะผิวหนังเป็นรอยง่ายจากการขูดขีด
- ผู้ป่วยไม่สามารถให้ความร่วมมือ
- มีภาวะที่ไม่สามารถหยุดยาแก้แพ้ หรือยาที่รบกวนผลการทดสอบได้
- ผู้ป่วยที่มีภาวะหอบรุนแรง หรือไม่สามารถควบคุมอาการหืดได้
- สตรีมีครรภ์
- ผู้ป่วยที่มีโอกาสเกิดการแพ้รุนแรงระหว่างทดสอบ
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว หรือกำลังรับประทานยาบางชนิดที่ทำให้ควบคุมการแพ้รุนแรงไม่ได้
ซึ่งในกลุ่มเหล่านี้ แพทย์อาจจะพิจารณาการตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ด้วยการเจาะเลือดแทน
การเตรียมตัวก่อนการทดสอบ
การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังด้วยวิธีสะกิดทุกครั้งควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนปฏิบัติตัว ได้แก่
- หยุดยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้คัน ยาแก้ไอ ยาคลายกังวลและยานอนหลับอย่างน้อย 1 สัปดาห์
- ณ วันทดสอบ ให้งดทายา หรือโลชั่นที่แขนและหลัง
- แจ้งแพทย์หากมีการทายากดภูมิ หรือยาสเตียรอยด์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน เพราะอาจรบกวนผลการทดสอบได้
- แจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ หากมีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคหัวใจ และแจ้งชื่อยาที่รับประทานโดยเฉพาะ ยารักษาโรคหัวใจและยารักษาความดันโลหิต
- สามารถรับประทานอาหารและยาอื่น ๆ ได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องงดอาหาร
ขั้นตอนการทดสอบ
ขั้นตอนการทดสอบปฏิบัติโดยผู้ให้บริการทางการแพทย์จากโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยามีขั้นตอนดังนี้
- ทำความสะอาดผิวหนังที่จะทดสอบ มักเป็นบริเวณด้านในของแขนหรือหลัง
- ทำเครื่องหมายบนผิวหนังด้วยปากกา
- หยดน้ำยาทดสอบประมาณ 0.1 ซีซี
- ใช้ปลายเข็มสะกิดเบา ๆ ผ่านชั้นผิวหนังกำพร้า เพื่อให้น้ำยาซึมเข้าไป
- รอผลประมาณ 15-20 นาที หากมีความไวต่อสารที่ทดสอบ จะมีรอยนูน บวม แดง คล้ายยุงกัด บริเวณที่หยดน้ำยา
- เช็ดทำความสะอาดผิวหนัง และให้คำแนะนำผลการทดสอบ
การดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการทดสอบภูมิแพ้ด้ยวิธีสะกิดผิวหนัง
- ทีมแพทย์มีการตรวจสอบวันหมดอายุของน้ำยาทดสอบภูมิแพ้ และวางน้ำยาให้ตรงกับตารางทดสอบภูมิแพ้
- เตรียมอุปกรณ์และรถ Emergency ให้พร้อมก่อนทดสอบภูมิแพ้
- ซักประวัติโรคประจำตัว และยาที่รับประทานประจำ
- สอบถามการหยุดยาแก้แพ้ก่อนทำการทดสอบ หากไม่มั่นใจให้ทำการทดสอบน้ำยา Histamine เพียงตัวเดียว
- อธิบายให้ผู้ป่วยทราบวิธีการและการปฏิบัติตนเมื่อทดสอบภูมิแพ้
- ให้ผู้ป่วยลงนามในใบยินยอมทำ skin test
- เริ่มทดสอบภูมิแพ้ ที่บริเวณท้องแขนด้านล่าง โดยการหยดน้ำยา และใช้ปลายเข็มสะกิด หลังจากนั้นให้ผู้ป่วยนั่งรอที่ห้อง treatment 15 นาที โดยมีนาฬิกาจับเวลา เมื่อครบเวลาดังกล่าวให้แพทย์อ่านผลทันที ในระหว่างนั่งรอหากมีอาการผิดปกติ เช่น มีผื่นคันเห่อตามตัว คันตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หากมีอาการดังกล่าว ผู้รับบริการสามารถแจ้งผู้ให้บริการทางการแพทย์ และแพทย์เพื่อให้การช่วยเหลือได้โดยทันที
- เช็ดรอยปากกา ทายาลดการอักเสบ แพทย์อ่านผล และให้คำแนะนำจากผลการตรวจ
การรักษาและเทคโนโลยี
แชร์ :
แพทย์ที่เกี่ยวข้อง
แพ็กเกจและโปรโมชั่น
-
โปรแกรมคัดกรองภูมิแพ้ทางผิวหนัง
ตั้งแต่วันนี้ – 31 ธันวาคม 2567
2,899฿ – 3,999฿ เลือกแพ็กเกจ This product has multiple variants. The options may be chosen on the product page
-
โปรแกรมคัดกรองภูมิแพ้ทางผิวหนัง
ตั้งแต่วันนี้ – 31 ธันวาคม 2567
2,899฿ – 3,999฿ เลือกแพ็กเกจ This product has multiple variants. The options may be chosen on the product page