Skip to content

รักษาเบาหวานหายขาดไม่ได้ แต่คุมโรคได้เองด้วย 7 วิธีนี้

หน้าแรก  >  บทความเกี่ยวกับสุขภาพ

ควบคุมเบาหวาน

ปัญหาสุภาพอันดับต้น ๆ ของคนไทยหนีไม่พ้นโรคเบาหวาน ซึ่งมีสาเหตุได้จากหลายปัจจัย ดังนั้นการดูแลตัวเอง รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นการป้องกันโรคที่สำคัญ แต่หากป่วยเป็นโรคเบาหวานแล้ ธรรมชาติของโรคไม่สามารถหายขาดได้ 100% หรือหายได้ด้วยตัวเอง แต่ในกระบวนการรักษาโรคเบาหวานทำได้เพียงควบคุมให้โรคอยู่ใน “ระยะสงบ” ซึ่งหมายถึงระยะที่โรคไม่แสดงอาการเบาหวานใด ๆ และร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับปกติ โดยระยะสงบนี้สามารถคงอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปีขึ้นอยู่กับการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคน 

การรักษาเบาหวานในปัจจุบัน

เป้าหมายในการรักษาโรคเบาหวานในผู้ป่วยแต่ละคน คือการรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงกับระดับปกติมากที่สุด และคงระดับนั้นตาลนั้นให้อยู่นานที่สุด ซึ่งวิธีที่ใช้รักษาโรคเบาหวานจะต้องใช้ทั้งการแพทย์และการนำปรับไปใช้ในชีวิตประจำวันโดยขึ้นอยู่กับอาการและสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคน สำหรับการรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ก็อาจมีความแตกต่างกันดังนี้

  • โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เป็นเบาหวานที่เกิดจากเซลล์ตับอ่อนเสียหายไม่สามารถสร้างอินซูลินมาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ การรักษาโรคเบาหวานชนิดนี้จะต้องควบคุมอาหารที่รับประทานร่วมกับการวางแผนออกกำลังกาย และอาจต้องหมั่นตรวจระดับในเลือดและฉีดอินซูลินแบบหลายครั้งในหนึ่งวัน (MDI) ด้วยตัวเอง
  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นเบาหวานที่เกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน มักพบในผู้ที่มีโรคอ้วนและอยู่ในวัยผู้ใหญ่ อายุ 40 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยเบาหวานในประเทศไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 95-97 เป็นโรคเบาหวานชนิดนี้ ซึ่งการควบคุมโรคเบาหวานชนิดนี้จะต้องควบคุมอาหารที่รับประทาน วางแผนออกกำลังกาย หมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเอง ในผู้ป่วยบางรายอาจจะต้องรับประทานยาหรือฉีดอินซูลินช่วยในการรักษา
อาหารเบาหวาน

7 วิธีควบคุมและรักษาเบาหวานด้วยตัวเอง

จริงอยู่ที่เบาหวานรักษาให้หายขาดไม่ได้ แต่การมีชีวิตที่ยืนยาวแม้จะเป็นโรคเบาหวานนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ นอกจากการรักษาจากแพทย์ การกินยา การฉีดอินซูลิน สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ เมื่อพ้นมือแพทย์ไปแล้วก็เป็นหน้าที่ของผู้ป่วยที่ต้องควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ไม่ให้โรคร้ายแรงไปมากกว่าเดิม ซึ่งการปรับตัวให้สามารถอยู่ร่วมกับโรคเบาหวานได้นั้นสามารถทำได้ด้วย 7 วิธีต่อไปนี้

1. เลือกรับประทานคาร์โบไฮเดรต

เพราะคาร์โบไฮเดรตเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด การรับประทานคาร์โบไฮเดรตจึงจำเป็นต้องเลือกรับประทานว่าคาร์โบไฮเดรตชนิดไหนส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดน้อยที่สุด สำหรับผู้ป่วยเบาหวานคาร์โบไฮเดรตแนะนำให้รับประทานคือ ธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์  ควินัวและข้าวโอ๊ต เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมถึงอาหารจำพวกผักผลไม้ ถั่ว ขนมปังโฮลวีท นมและโยเกิร์ตไม่เติมน้ำตาล อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยต้องการคำแนะนำที่ชัดเจนแนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติตามแพทย์ที่ให้การรักษาเป็นหลัก และแม้จะเลือกรับประทานคาร์โบไฮเดรตแล้วยังต้องกำหนดปริมาณและวางสัดส่วนให้เหมาะสมกับสารอาหารชนิดอื่น ๆ ด้วย

2. ลดเค็ม

การลดเค็มจะช่วยควบคุมระดับความดันโลหิต เนื่องจากความดันโลหิตสูงเป็นปัญหาอันดับต้น ๆ ในผู้ป่วยเบาหวาน เพราะมันสามารถเพิ่มความเสี่ยงของโรคและช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง

ตามคำแนะนำของสำนักโภชนาการ กรมอนามัย ควรจำกัดการบริโภคเกลือไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัมหรือไม่เกินวันละ 1 ช้อนชา และหมั่นพลิกอ่านฉลากโภชนาการบนผลิตภัณฑ์ที่ซื้อมารับประทานเป็นประจำ

เนื้อแดง เนื้อสัตวื เนื้อย่าง

3. เลือกรับประทานไขมัน ลดการบริโภคเนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูป

เมื่อหันมาจำกัดปริมาณแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตแล้ว การเพิ่มสัดส่วนของเนื้อสัตว์ในมื้ออาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่การเพิ่มเนื้อสัตว์นั้นควรจะลดหรือเลี่ยงเนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น แฮม เบคอน ไส้กรอก เนื้อวัวและเนื้อแกะ เหตุผลสำคัญที่ต้องลดการบริโภคเนื้อสัตว์ชนิดนี้เนื่องจากมีส่วนประกอบของไขมันอิ่มตัว ซึ่งเพิ่มระดับไขมันในเลือดทำให้ร่างกายมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ

นอกจากไขมันที่มาจากเนื้อสัตว์แล้วผู้ป่วยควรจะลดหรือเลี่ยงการบริโภคอาหารที่เป็นของทอด ของมัน และอาหารที่มีไขมันทรานส์จากเนยขาว ครีมเทียม มาการีน หรืออาหารจำพวกขนมอบ คุกกี้ เค้ก

สำหรับการบริโภคอาหารที่มีโปรตีนแนะนำให้ผู้ป่วยเบาหวานรับประทานเนื้อสัตว์จำพวก เนื้อไม่ติดหนัง เนื้อไม่ติดมัน ปลา ไก่ สันในหมู ไข่ขาว หรืออาจรับประทานเต้าหู้ อาหารจำพวกถั่วที่มีทั้งโปรตีนและไขมันดี (ควรรับประทานถั่วอย่างพอประมาณ วันละ 1 ถ้วยตวง และควรแบ่งรับประทาน ½ ถ้วยตวงต่อ 1 เสิร์ฟ)

4. รับประทานผักผลไม้เป็นประจำ

มาถึงข้อนี้หลายคนอาจกังวลว่าการรับประทานผลไม้จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง แต่ในผลไม้นั้นมีน้ำตาลจากธรรมชาติซึ่งส่งผลต่อร่างกายต่างกับน้ำตาลทราย ที่สำคัญผักและผลไม้ยังอุดมไปด้วยใยอาหาร คาร์โบไฮเดรตที่ดีต่อร่างกาย วิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญต่อร่างกาย อย่างไรก็ตามการเลือกรับประทานผักผลไม้ โดยเฉพาะผลไม้จะต้องเลือกชนิดที่ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดน้อย เช่น ฝรั่ง แอปเปิลเขียว กล้วย แก้วมังกรเนื้อขาว มะเฟือง กีวี อะโวคาโด มะม่วงดิบ เป็นต้น แน่นอนว่าผลไม้ที่รับประทานจะต้องกำหนดปริมาณต่อมื้อให้พอดีกับสารอาหารอื่น ยกตัวอย่างการกำหนดปริมาณคร่าว ๆ ผลไม้เช่น ฝรั่ง แก้วมังกร แอปเปิลเขียว ใน 1 มื้อควรรับประทานประมาณ ครึ่งลูก หรือ 1 ลูก แล้วแต่การจัดสัดส่วนโภชนาการ

5. เลี่ยงการบริโภคอาหารที่เติมน้ำตาล

ส่วนนี้อาจเป็นส่วนที่ยากที่สุดในการปรับอาหารในผู้ป่วยเบาหวาน เพราะการงดบริโภคอาหารเติมน้ำตาลอาจทำให้ผู้ป่วยมีความสุขในการรับประทานอาหารลดลง การงดอาหารเติมน้ำตาลอาจเริ่มต้นด้วยการลดปริมาณน้ำตาลในอาหารลงเรื่อย ๆ หรือรับประทานผลไม้ที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อให้ร่างกายปรับตัวกับรสชาติอาหารที่เปลี่ยนไป

หากสามารถทำได้การควบคุมโรคเบาหวานให้อยู่ในระยะสงบนั้นอยู่อีกไม่ไกล แถมการงดน้ำตาลยังช่วยให้สุขภาพดี ช่วยให้น้ำหนักลด ช่วยลดความเสี่ยงและโรคแทรกซ้อนจากเบาหวานได้อีกมากมาย

6. ควบคุมปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีแคลอรี่สูง เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่มักเป็นผู้ที่มีโรคอ้วนร่วมด้วย ซึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ส่งผลต่อน้ำหนักตัว หากแพทย์ได้แนะนำให้ผู้ป่วยลดน้ำหนัก นอกจากการคุมอาหารและการออกกำลังกายแล้ว การงดหรือจำกัดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเป็นตัวช่วยที่สำคัญอย่างหนึ่ง

7. ออกกำลังกายเป็นประจำ

การออกกำลังกายหรือการขยับร่างให้มากขึ้น เป็นขั้นตอนสำคัญในการรักษาเบาหวาน เนื่องจากกล้ามเนื้อที่ได้รับการฝึกฝนจะต้องใช้น้ำตาลเป็นส่วนประกอบในการพัฒนากล้ามเนื้อซึ่งกระบวนการนี้จะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างดี นอกจากนี้การออกกำลังกายยังดีต่อสุขภาพ ช่วยลดหรือควบคุมน้ำหนักได้ ช่วยลดความเสี่ยงของโรคและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นทั้งจากโรคเบาหวานและจากโรคอื่น ๆ ได้อีกมาก

หากควบคุมเบาหวานได้ ก็ไม่ต้องกังวลโรคแทรกซ้อน

การรักษาโรคเบาหวานหากได้รับการรักษาจากแพทย์และตัวผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ดี การควบคุมโรคให้อยู่ในระยะสงบก็ไม่ใช่เรื่องยาก ผู้ป่วยต้องดูแลตัวเองเป็นประจำและพบแพทย์ตามนัดเสมอเพื่อให้แพทย์ช่วยวินิจฉัยอาการ ความเสี่ยงโรคแทรกซ้อนและให้คำแนะนำที่ถูกต้องและเหมาะสมกับตัวผู้ป่วยเอง ด้วยกำลังใจและความห่วงใยจากศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา

Reference,

10 tips for healthy eating with diabetes | Diabetes UK

อายุรกรรม

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง

อ่านบทความสุขภาพเพิ่มเติม
อ่านบทความสุขภาพเพิ่มเติม