หลายคนอาจเคยได้ยินกันมาบ้างแล้วว่า ขวดน้ำพลาสติกเพต (PET หรือ PETE: polyethylene Terephthalate) ที่ใช้สัญลักษณ์รีไซเคิล (recycle) หมายเลข 1 เป็นพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% และเป็นสามารถขายได้ราคาดีที่สุด นั่นเพราะคุณสมบัติพลาสติก PET มีน้ำหนักโมเลกุลสูงจึงมีความเหนียวสูง มีความใสแวววาวเป็นพิเศษ มีความปลอดภัยสูง แข็งแรงทนทาน ไม่เปราะแตกง่าย ทนต่อความเป็นกรดและป้องกันการซึมผ่านของก๊าซ จึงเหมาะกับการบรรจุเครื่องดื่มหรือของเหลวต่าง ๆ แต่หากขวดพลาสติกเหล่านี้กลายเป็นขยะ จะต้องใช้เวลาย่อยสลายนานกว่า 450 ปี
โครงการ "ตามหา PET ที่หายไป"
โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยาและโรงพยาบาลในเครือ ได้ริเริ่ม โครงการ “ตามหา PET ที่หายไป ” โดยมุ่งเน้นให้กับการ ลดปริมาณขยะขวดพลาสติก ( PET ) ที่ปะปนไปกับการทิ้งขยะทั่วไป จัดการคัดแยกและรวบรวมขวด PET เพื่อนำส่งเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลใหม่ ซึ่งโครงการนี้จะช่วยลดปริมาณขยะขวด PET ที่ถูกทิ้งผิดประเภท และลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตขวด PET ใหม่ และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมให้แก่บุคลากรในโรงพยาบาล และผู้เข้ารับบริการ
ปริมาณคาร์บอน 1,228 กิโลกรัม เทียบเท่ากับ การปลูกต้นไม้ประมาณ 4,000 ต้น
จากปริมาณขวด PET ที่จัดเก็บได้ในโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา ในปี 2566 เราสามารถจัดเก็บได้ทั้งสิ้นรวม 1,949.20 กิโลกรัม ซึ่งในการรีไซเคิลขวด PET 1 กิโลกรัม สามารถช่วยลดปริมาณคาร์บอนได้ 0.63 กิโลกรัม ในปี 2566 เราจึงสามารถช่วยลดปริมาณคาร์บอนได้ทั้งสิ้น 1,228 กิโลกรัม เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ประมาณ 4,000 ต้นเลยทีเดียว
เพียงเราทุกคนใส่ใจและลงมือทำสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกนี้ได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ต้องอาศัยพลังของพวกเราทุกคน เลือกใช้ซื้อผลิตภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้และช่วยกันแยกทิ้งลงสู่ถังรีไซเคิลให้ถูกต้อง เพื่อดูแลและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมโลกของเรา พร้อมเดินหน้าสู่การสร้างสรรค์สังคมปราศจากขยะอย่างยั่งยืน ส่งต่อทรัพยากรแก่คนรุ่นถัดไป