ครรภ์แฝด (Multifetal Pregnancy)
ครรภ์แฝด (Multifetal Pregnancy) หมายถึง การตั้งครรภ์ที่เกิดทารกในครรภ์มากกว่า 1 คนขึ้นไป ได้แก่ แฝดคู่ (Twins) แฝดสาม (Triplets) แฝดสี่ (Quadruplets) เป็นต้น โดยครรภ์แฝดมีผลทำให้เพิ่มภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ทั้งต่อมารดาและทารก โดยพบว่ายิ่งจำนวนทารกมากขึ้นโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนก็ยิ่งสูงขึ้น และเมื่อเปรียบเทียบอัตราการตายปริกำเนิดของแฝดสองและแฝดสาม พบว่าสูงกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยวเป็น 5 และ 10 เท่าตามลำดับ
ชนิดของครรภ์แฝด
- Monozygotic (Identical) twins คือ ครรภ์แฝดซึ่งเกิดจากการปฏิสนธิของไข่ใบเดียวกับอสุจิตัวเดียว แล้วมีการแยกเป็น 2 ตัวอ่อน (Twinning process) โดยจำนวนรกและถุงน้ำคร่ำจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิ (Fertilized ovum)
- Dizygotic (Fraternal) twins คือ ครรภ์แฝดที่เกิดจากการผสมของไข่ 2 ใบ กับอสุจิ 2 ตัว เพศของทารกอาจะเป็นเพศเดียวกันหรือต่างเพศกัน ลักษณะของรก เยื่อหุ้มรก และถุงน้ำคร่ำ เป็นแบบ Dichorion Diamnion โดยรกจะพบเป็น 2 อันแยกกันหรือเป็นอันเดียวที่เชื่อมกันได้
อุบัติการณ์ของครรภ์แฝดพบได้ประมาณ 1 ต่อ 90 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งปัจจุบันพบว่าอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์มากขึ้น โดยพบว่าในประเทศพัฒนาแล้ว อุบัติการณ์ของการตั้งครรภ์แฝดเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 50 ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
แฝดจากไข่สองใบ (Dizygotic twins) พบประมาณ 2 ใน 3 ของครรภ์แฝดทั้งหมด โดยในแต่ละประเทศมักมีอุบัติการณ์แตกต่างกันไปตามปัจจัยหลายปัจจัย โดยปัจจัยที่มักพบว่าทำให้อุบัติการณ์ของครรภ์แฝดไข่คนละใบเพิ่มขึ้น ได้แก่ เชื้อชาติผิวดำ ประวัติครอบครัวโดยเฉพาะญาติฝ่ายมารดา ภาวะโภชนาการที่ดีของมารดา มารดาอายุมาก การได้รับยากระตุ้นการตกไข่หรือการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ส่วนแฝดจากไข่ใบเดียวกัน (Monozygotic twins) พบประมาณ 1 ใน 3 ของครรภ์แฝด โดยมีอุบัติการณ์ค่อนข้างคงที่ในทุกกลุ่มประชากรคือประมาณ 1 ต่อ 250
ผลกระทบต่อตัวคุณแม่เมื่อมีครรภ์แฝด
- มักจะมีอาการแพ้ท้องมากกว่าปกติ
- โลหิตจาง คุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝดมีโอกาสที่จะเป็นโรคโลหิตจางได้มากกว่าครรภ์เดี่ยวเนื่องจากร่างกายต้องหมุนเวียนไปเลี้ยงดูลูก 2 คนพร้อม ๆ กัน
- ความดันโลหิตสูงและครรภ์เป็นพิษ การตั้งครรภ์แฝดครั้งแรกมีโอกาสเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษอย่างรุนแรงมากกว่าครรภ์เดี่ยวถึง 5 เท่า
- มีน้ำคร่ำมากหรือแฝดน้ำ คือ น้ำคร่ำจะมีมากกว่า 2 ลิตร ซึ่งคนทั่วไปที่ตั้งครรภ์เดี่ยวจะพบ 1% เท่านั้น แต่ครรภ์แฝดพบได้ถึง 12% ซึ่งมากกว่าครรภ์เดี่ยวถึง 10 เท่า น้ำคร่ำมากยังมีส่วนสัมพันธ์กับการคลอดก่อนกำหนด รกลอกตัวก่อนกำหนด และการตกเลือดหลังคลอดอีกด้วย
- ไม่สบายตัว เคลื่อนไหวลำบาก เพราะต้องแบกรับน้ำหนักมากขึ้น เช่น ปวดหลัง ปวดขา เดินไม่ไหว หายใจไม่อิ่ม เส้นเลือดขอด ริดสีดวงทวาร ซึ่งจะมีอัตราการเกิดได้มากกว่าคุณแม่ครรภ์เดี่ยว
ภาวะแทรกซ้อนจากครรภ์แฝด
- การคลอดก่อนกำหนด
- ภาวะโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์
- คลื่นไส้อาเจียนจากการแพ้ท้อง เนื่องจากฮอร์โมน hCG มากกว่าครรภ์เดี่ยว
- โลหิตจาง
- เบาหวานในขณะตั้งครรภ์
- ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด
- รกเกาะต่ำ
อย่างไรก็ตามการดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์แฝดต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ ควรได้รับการดูแลจากสูตินรีแพทย์ผู้ชำนาญการ และควรมาฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด หลังทราบว่าตั้งครรภ์ เพื่อความปลอดภัยของมารดาและทารกในครรภ์
สอบถามเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่ ศูนย์สุขภาพสตรี รพ.กรุงเทพพัทยา โทร. 0 3825 9999
ขอบคุณข้อมูลจาก พญ. ปรัชญาวรรณ ทองนอก อาจารย์ที่ปรึกษา ศ.นพ. ธีระ ทองสง