Skip to content

VO2 MAX ตัวเลขบอกความฟิต ที่สายออกกำลังกายต้องรู้! 

หน้าแรก  >  บทความเกี่ยวกับสุขภาพ

VO2 max

VO2 Max หรือ Maximal Oxygen Consumption คือ ค่าการวัดประสิทธิภาพของร่างกายในการนำออกซิเจนไปใช้ในขณะออกกำลังกายหนักที่สุด ซึ่งบ่งบอกสมรรถภาพของทางเดินหายใจ ปอด หัวใจ หลอดเลือด ไปจนถึงเซลล์กล้ามเนื้อขณะออกกำลังกาย หรือพูดง่าย ๆ ว่าการตรวจ VO2 Max คือ อัตราการใช้ออกซิเจนสูงสุดที่ร่างกายสามารถนำเข้า ลำเลียง และใช้ประโยชน์ ค่านี้มีหน่วยเป็นมิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อ 1 นาที (ml/kg/min)

 เรียกง่าย ๆ ว่า VO2 Max คือการวัดความฟิตของร่างกาย อีกทั้งระหว่างการตรวจจะได้ข้อมูลว่าเราสามารถออกกำลังกายได้สูงสุดเท่าใดอย่างปลอดภัยและเหมาะสม ดังนั้นการตรวจประเภทนี้จึงสามารถใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและฟื้นฟูสุขภาพร่างกายของแต่ละคนได้ 

ค่า VO2 Max บอกอะไรเราบ้าง? 

ธรรมชาติของมนุษย์ จะใช้ออกซิเจนตลอดเวลา แม้ในขณะนอนหลับ เมื่อเคลื่อนไหวเยอะร่างกายยิ่งใช้มากขึ้น เพราะออกซิเจนคือส่วนสำคัญในการผลิตพลังงานแอโรบิก หรือเชื้อเพลิงสำหรับเซลล์กล้ามเนื้อของเรา โดยเฉพาะนักกีฬาที่ต้องใช้ความอดทน (Endurance) อย่างนักวิ่งมาราธอน นั้นจำเป็นต้องใช้พลังงานมาก หลายคนจึงใช้เวลาฝึกซ้อมเพื่อพัฒนาค่า VO2 Max นั่นเอง โดยหลัก ๆ แล้วมีผลต่อสมรรถภาพร่างกายดังนี้ 

  • ความฟิตของร่างกาย 
  • ระบบเผาผลาญ 
  • ระบบการหายใจ 
  • ระบบหัวใจและหลอดเลือด 

vo2 max ค่าปกติ

ค่า VO2 Max ของเราควรมีเท่าไร?

โดยปกติแล้ว ค่า VO2 Max ยิ่งสูงเท่าไร ยิ่งมีความฟิตมากเท่านั้น นั่นหมายความว่าร่างกายสามารถรับออกซิเจนจากอากาศ ส่งไปยังกล้ามเนื้อขณะออกกำลังกายได้ดี ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของการเผาผลาญแบบแอโรบิค อันเป็นแหล่งพลังงานหลักและมีประสิทธิภาพมากสุดของร่างกายมนุษย์ ยิ่งกล้ามเนื้อได้รับออกซิเจนมากเท่าไร ร่างกายจะสามารถเปลี่ยนธาตุอาหารให้กลายเป็นเชื้อเพลิงโมเลกุล Adenosine Triphosphate หรือ ATP ที่กล้ามเนื้อใช้ในการหดตัวและทำงานได้ดียิ่งขึ้นเท่านั้น 

ค่า VO2 Max สำคัญกับทุกคน 

คุณไม่จำเป็นต้องเป็นนักไตรกีฬา นักวิ่งมาราธอน หรือนักกีฬาอาชีพ ถึงจะต้องคำนวณหรือให้ความสำคัญกับค่า VO2 Max จากงานวิจัยโดยสมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา (American Heart Association) ในปี 2016 ระบุว่าการตรวจหาหรือทราบค่า VO2 Max ส่งผลดีต่อสุขภาพ เพราะสามารถประเมินความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจและระบบไหลเวียนโลหิต ยิ่งร่างกายคุณฟิตมากเท่าไร ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเรื้อรังก็ลดลงเท่านั้น อีกทั้งสามารถนำไปคำนวณโซนหัวใจเพื่อใช้ออกแบบโปรแกรมการฝึกซ้อมต่อไป 

vo2 max วัดยังไง

การตรวจหาค่า VO2 Max 

เราสามารถรู้ค่า VO2 Max เบื้องต้นของตัวเอง ผ่านนาฬิกา Smart Watch ที่มีทั่วไป แต่ค่าที่ได้อาจคลาดเคลื่อนได้ถึง 15 – 20% เพราะเป็นการคำนวณจากค่าจากอัตราการเต้นหัวใจ ระยะทาง และความเร็ว  

การตรวจเพื่อวัดค่า VO2 Max  

เรียกกันว่า CPET หรือ Cardiopulmonary Exercise Test ซึ่งการทดสอบจะมี 2 แบบ คือ 

  1. การทดสอบด้วยการวิ่งสายพาน บนลู่วิ่ง (Treadmill) 
  2. ทดสอบด้วยการปั่นจักรยาน (Stationary bike cycling) 

ก่อนเริ่มทำการทดสอบ ผู้ถูกทดสอบจะได้รับการตรวจร่างกายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ  จากนั้นจะได้รับการติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ บนร่างกาย และสวมหน้ากากครอบเพื่อวิเคราะห์การหายใจ สามารถทำการทดสอบ VO2 Max ได้จากการวิ่งบนลู่วิ่ง (Treadmill) และการปั่นจักรยาน ซึ่งมีโปรแกรมการวิ่งและปั่นที่เหมาะสม เพื่อให้ร่างกายมีการออกกำลังหรือใช้แรงในระดับที่เพิ่มความหนักขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงขีดจำกัดอย่างช้า ๆ สำหรับกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจ แพทย์จะให้ทำการทดสอบโดยวิ่งบนลู่วิ่งเช่นกัน เพื่อดูคลื่นหัวใจและค่า การทำงานของหัวใจ และนำมาออกแบบโปรแกรมการออกกำลังกายที่เหมาะสมและปลอดภัย 

VO2 Max เหมาะกับใครบ้าง? 

  • บุคคลทั่วไป  
  • นักกีฬาอาชีพ 
  • นักวิ่ง นักปั่นจักรยาน  
  • ผู้สนใจการออกกำลังกาย 
  • ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง หรือเคยมีภาวะหัวใจล้มเหลว 
  • ผู้ที่มีปัญหาด้านระบบทางเดินหายใจและปอด 
  • ผู้ที่มีภาวะอ้วน น้ำหนักตัว หรือ BMI เกิน 

vo2 max คือค่าอะไร

ข้อดีของการตรวจ VO2 Max 

  1. การตรวจ VO2 Max พร้อมการตรวจคลื่นหัวใจ เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่จะช่วยวัดขีดจำกัดของสมรรถภาพร่างกาย และนำข้อมูลที่ได้ จากทีมงานผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ ไปพัฒนาศักยภาพหรือเพิ่มประสิทธิภาพของร่างกายอย่างตรงจุด ในแนวทางที่ถูกต้อง เหมาะสม ปลอดภัย 
  2. ผู้เข้ารับการทดสอบทราบถึงขีดสมรรถนะสูงสุดของตัวเอง ซึ่งสามารถนำข้อมูลไปออกแบบโปรแกรมการออกกำลังกายหรือการฝึกซ้อม วางแผนการแข่งขัน เพื่อเพิ่มศักยภาพของร่างกายในอนาคตได้ 

ผลลัพธ์ที่ได้ เมื่อเข้ารับการตรวจ VO2 Max

  1. ช่วยเพิ่มสมรรถนะสูงสุดให้กับตนเองและป้องกันการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา 
  2. ผู้ถูกทดสอบจะทราบค่าระดับความฟิตของร่างกายเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการออกแบบโปรแกรมการออกกำลังกายที่เหมาะสมในแต่ละบุคคล เพื่อใช้ในการเพิ่มความฟิตของร่างกายได้ต่อไปในอนาคต 
  3. ทำให้นักกีฬาและบุคคลทั่วไป สามารถนำข้อมูลที่ได้นำไปออกแบบโปรแกรมการออกกำลังกายหรือฝึกซ้อม โดยทางทีมงานจะแปลผลค่าต่างๆที่เกิดขึ้น ณ จุดเวลาไปเป็นอัตราการเต้นของหัวใจ (heart rate) ให้กับผู้รับการทดสอบ เพื่อนำไปใช้กำหนดเป้าหมายเองที่บ้านได้ง่าย ๆ
  4. ช่วยตอบปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักกีฬาในระหว่างฝึกซ้อมหรือแข่งขัน ว่ามาจากความผิดปกติ หรือความแตกต่างของสมรรถนะของร่างกาย เพื่อนำไปใช้ปรับแผนการฝึกซ้อมต่อไป

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง