Skip to content

ความเสี่ยงโรคมะเร็งใกล้ตัวจากพันธุกรรม

หน้าแรก  >  บทความเกี่ยวกับสุขภาพ

มะเร็งนับเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของมนุษย์ สาเหตุของการเกิดมะเร็งเกิดขึ้นได้จากปัจจัยต่างๆ เช่น การติดเชื้อไวรัสบางชนิด การรับประทานอาหารหรือการได้รับสารพิษที่มีสารก่อมะเร็ง สารดังกล่าวสามารถทำให้สารพันธุกรรมภายในเซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงและเสียหายขึ้นได้ จนนำไปสู่การกลายพันธุ์ (Mutation) และพัฒนาไปเป็นมะเร็ง โดยปกตินั้นการเกิดมะเร็งไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของยีนเพียงยีนเดียว แต่เกิดจากความผิดปกติของยีนมากมายที่สะสมเป็นระยะเวลานานจนเกิดการพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด โดยยีนที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ยีนต้านมะเร็ง ยีนก่อมะเร็ง และยีนที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมแซมดีเอ็นเอ มะเร็งที่พบส่วนใหญ่มักอยู่ในประเภทมะเร็งที่เกิดขึ้นเอง (Sporadic Cancer) แต่มีมะเร็งบางชนิดที่สามารถสืบทอดทางพันธุกรรม (Hereditary Cancer) ซึ่งเกิดจากการได้รับยีนที่ผิดปกติมาจากบิดาหรือมารดา สามารถพบได้ประมาณ 10-15 เปอร์เซนต์ มะเร็งประเภทนี้จึงจัดเป็นปัจจัยเสี่ยงชนิดหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังเมื่อมีคนในเครือญาติเป็นมะเร็ง

โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมาพบแพทย์เมื่อมีอาการของมะเร็ง ซึ่งมักจะอยู่ในระยะท้ายของโรคแล้ว เนื่องจากในระยะเริ่มต้นของมะเร็งมักไม่ปรากฏอาการ ดังนั้นหากเราสามารถตรวจพบความผิดปกติได้ในระยะแรกก็จะสามารถทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆและมีโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้มากกว่าปล่อยให้มะเร็งลุกลามในระยะท้าย ปัจจุบันนี้มีวิธีการตรวจทางพันธุกรรม ซึ่งเป็นการตรวจหาความผิดปกติของยีนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดและการรักษามะเร็ง โดยสามารถตรวจพบได้ในระยะต้นหรือก่อนจะเกิดมะเร็งทำให้แพทย์สามารถคาดการณ์ ประเมินความเสี่ยง หรือวินิจฉัยมะเร็ง และสามารถนำไปสู่การวางแผนเพื่อป้องกัน หรือรักษามะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์กับผู้ป่วยมากที่สุด

ที่มา : ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ

 

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง