Skip to content

11 เมษายน วันพาร์กินสันโลก

หน้าแรก  >  บทความเกี่ยวกับสุขภาพ

หากเอ่ยถึงโรคพาร์กินสัน คนส่วนใหญ่คงนึกถึงคนที่มีอาการสั่นตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น มือสั่น ตัวหรือศีรษะสั่นมาเป็นอันดับแรก แต่อันที่จริงแล้วอาการหรือปัญหาหลักทางการเคลื่อนไหวของโรคพาร์กินสันนั้น ยังประกอบไปด้วยอาการทางการเคลื่อนไหวที่สำคัญอื่นๆ อีก คือ

การเคลื่อนไหวช้า เป็นอาการที่พบในผู้ป่วยทุกราย โดยอาจมีอาการได้ตั้งแต่ตอนที่เริ่มการเคลื่อนไหว หรือขณะที่กำลังเคลื่อนไหวหรือประกอบกิจกรรมต่างๆอยู่

อาการแข็งเกร็ง เป็นอาการที่ทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวลำบากมากขึ้น ทำสิ่งต่างๆ ได้ไม่ถนัด และอาการมักเริ่มที่ร่างกายข้างใดข้างหนึ่งก่อน

การทรงตัวไม่มั่นคง เดินเซล้มได้ง่าย การเดินหรือการยืนที่ผิดปรกติไป เช่น ตัวงองุ้มไปด้านหน้า เดินซอยเท้าถี่

อาการสั่น มักมีอาการให้เห็นในขณะที่ผู้ป่วยเผลอหรืออยู่ในขณะพัก เช่น นั่งดูโทรทัศน์ นั่งสนทนากับผู้อื่น

โดยเมื่อแรกเริ่มมีอาการของโรคพาร์กินสันนั้น ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมีอาการทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น และปัญหาหลักทางการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยแต่ละรายก็อาจแตกต่างกันไป เช่น ผู้ป่วยบางรายอาจมีความลำบากในการดำเนินชีวิตประจำวันจากการเคลื่อนไหวที่ช้าลง ในขณะที่บางรายอาจมีปัญหาที่กระทบต่องานหรืออาชีพจากอาการสั่น เป็นต้น

นอกจากนี้ปัญหาที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันเป็นอย่างมากและมักถูกมองข้ามไป คือ อาการที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากปัญหาการเคลื่อนไหว เช่น ปัญหาเรื่องการนอนหลับ ภาวะสมองเสื่อม อาการทางจิตเวช ภาะซึมเศร้า วิตกกังวล อาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องผูก กลืนลำบาก ปัญหาทางระบบปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะกลั้นไม่อยู่ หรือปัสสาวะบ่อย ปัญหาเรื่องการดมกลิ่น รวมไปถึงอาการปวดที่พบได้ทั้งในรูปแบบของการปวดเส้นประสาท ปวดกล้ามเนื้อ ปวดจากการบิดเกร็ง หรือปวดโดยไม่ทราบสาเหตุ

โดยในปัจจุบัน พบว่าบางปัญหาสามารถมีอาการนำมาก่อนที่ผู้ป่วยจะเริ่มเกิดปัญหาทางเคลื่อนไหวได้เป็นเวลาหลายปี แม้กระทั่งตัวผู้ป่วยเองก็อาจไม่ทราบว่าปัญหาเหล่านั้นแท้จริงแล้วเกิดจากตัวโรคพาร์กินสัน เช่น ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการท้องผูกเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุก่อนที่จะเริ่มมีอาการสั่นมาเป็นสิบปี หรือ มีอาการนอนละเมอมานานก่อนที่จะมีปัญหาการเคลื่อนไหวช้า เป็นต้น

อาการที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทั้งหมดจากโรคพาร์กินสันที่กล่าวมานั้น เกิดจากความเสื่อมของสมอง ระบบประสาท และสารสื่อประสาทที่ชื่อว่าโดปามีน (dopamine) ลดต่ำลง โดยอายุที่เพิ่มมากขึ้นเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและบุคคลในครอบครัวเป็นอย่างมาก การตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง การเริ่มต้นการรักษาที่รวดเร็ว การตรวจติดตามอาการอย่างต่อเนื่องในระยะยาว โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางระบบประสาทจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง



หากสังเกตว่ามีอาการหรือปัญหาต่างๆข้างต้นร่วมกัน จึงควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางศูนย์สมองและระบบประสาท รพ.กรุงเทพพัทยา ปรึกษาด่วนที่ LINE: BPH Brain

 

นัดหมายแพทย์ หรือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นายแพทย์ปิยะณัฐ วงศ์วรรณ อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท (ผู้เชี่ยวชาญด้านการเคลื่อนไหวผิดปกติ)

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง