Skip to content

ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ และการตรวจการนอนหลับ

ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ หรือ Obstructive Sleep Spnea คืออะไร

ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ Obstructive sleep apnea OSA คือภาวะการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนต้นขณะหลับ ทำให้ทางเดินหายใจส่วนต้นยุบตัวตีบแคบลง ส่งผลให้ลมหายใจผ่านได้น้อยกว่าปกติ หรือไม่สามารถผ่านเข้าออกได้แม้จะใช้แรงในการหายใจเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดภาวะพร่องออกซิเจนและเกิดภาวะคาร์บอนไดออกไซด์คั่งในเลือด เมื่อถึงระดับหนึ่งร่างกายจะมีกลไกการป้องกันตนเองด้วยการทำให้สมองเกิดการตื่นตัว (arousal) เพื่อให้กล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนต้นกลับมาตึงตัวเปิดทางเดินหายใจให้กว้างเพียงพอที่จะหายใจใหม่ได้อีกครั้ง

การศึกษาทางระบาดวิทยาของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นพบว่า ถ้าใช้เกณฑ์ในการวินิจฉัยที่ AHI > 5 ครั้ง/ชม. นั้น จะพบความชุกของภาวะดังกล่าวในประชากรตะวันตกสูงมากถึงร้อยละ 24.0 ในเพศชาย และร้อยละ 9.0 ในเพศหญิง ส่วนการศึกษาในประเทศไทย พบความชุกของภาวะดังกล่าวที่ร้อยละ 15.4 ในเพศชาย และร้อยละ 6.3 ในเพศหญิง

นอนกรน จากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

ปัจจัยเสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ พบได้บ่อยในผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ หรือมีลักษณะทางกายวิภาคที่ทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจง่ายหว่าปกติ เช่น กล้ามเนื้อของเพดานอ่อนหย่อน ต่อมทอนซิลขนาดใหญ่ หรือขากรรไกรมีขนาดเล็กกว่าปกติ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะไม่ได้สังเกตถึงความผิดปกติในขณะหลับของตนเอง บ่อยครั้งที่ผู้พบความผิดปกติเป็นคู่สมรสหรือ คนใกล้ชิด

อาการของผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

อาการของภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับที่สำคัญได้แก่

  • นอนกรน
  • ง่วงนอนหรือรู้สึกเหนื่อยอ่อนเพลียมากในเวลากลางวัน
  • นอนหลับไม่สนิท
  • นอนกระสับกระส่ายมาก
  • สะดุ้งตื่นกลางดึก เพราะสำลักเหมือนขาดอากาศหายใจ
  • รู้สึกคอแห้งหรือเจ็บคอเมื่อตื่นนอน
  • ปวดศีรษะหลังตื่นนอนตอนเช้า
  • บุคลิกภาพหรือสมาธิเปลี่ยนไป
  • หลงลืมบ่อย
  • หงุดหงิดง่ายหว่าปกติ
  • เหงื่อออกตอนกลางคืน
  • เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

วิธีที่แพทย์วินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

แพทย์สามารถวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับได้จากประวัติการนอน และการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติระหว่างการนอนหลับ (Polysomnography, PSG) เป็นการตรวจการนอนหลับโดยมีเจ้าหน้าที่ตรวจการนอนหลับคอยเฝ้าดูอาการของผู้ป่วย โดยตรวจในห้องปฏิบัติการ (Sleep lab) เพื่อบันทึกความผิดปกติที่เกิดขึ้นตลอดคืน และควรแปลผลโดยเจ้าหน้าที่ตรวจการนอนหลับและแพทย์ เพื่อจะได้ข้อมูลที่ครบถ้วนและแม่นยำกว่าการอ่านโดยเครื่อง

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ แก้ยังไง

การตรวจการนอนหลับ (Polysomnography/ Sleep Test) มีวัตถุประสงค์ดังนี้

    1. เพื่อวิเคราะห์การทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกายระหว่างการนอนหลับ เช่น ระบบการหายใจ ระดับออกซิเจนในเลือด การทำงานของคลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้าหัวใจ และกล้ามเนื้อต่าง ๆ
    2. เพื่อศึกษาพฤติกรรมที่ผิดปกติบางอย่างที่เกิดขึ้นขณะหลับสำหรับการวินิจฉัยโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ โดยเฉพาะโรคหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea; OSA) รวมถึงการกระตุกของกล้ามเนื้อต่างๆ เป็นต้น
    3. เพื่อนำผลการตรวจที่ได้มาตรฐาน (Polysomnogram) ไปใช้ในการวินิจฉัยและประเมินระดับความรุนแรงของโรคภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea; OSA) ซึ่งจะมีผลต่อการวางแผนและการตัดสินใจทางเลือกในการรักษา

การทำหัตถการ การตรวจการนอนหลับ (Polysomnography / Sleep Test)

เป็นการตรวจหาความผิดปกติของการนอนหลับ ในผู้ที่นอนกรน ผู้ที่มีการอุดกั้นของการหายใจหรือเกร็งกระตุกขณะหลับ การตรวจนี้จะประกอบด้วย

  • การตรวจวัดคลื่นสมอง เพื่อวัดระดับความลึกของการนอนหลับ
  • การตรวจวัดการทำงานของกล้ามเนื้อขณะหลับ เช่น กล้ามเนื้อตาเพื่อตรวจสอบความเคลื่อนไหวในแต่ระดับของการนอน กล้ามเนื้อคางเพื่อตรวจสอบภาวะกรน กล้ามเนื้อขาเพื่อตรวจสอบการกระตุกของขา
  • การตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจในขณะหลับ
  • การตรวจวัดลมหายใจที่ผ่านเข้าออกจากจมูกและปาก ตลอดจนการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้ออก และกล้ามเนื้อท้อง ข้อมูลเหล่านี้จะถูกบันทึกไว้ตลอดคืน เพื่อให้แพทย์ประเมินความรุนแรงของโรคต่อไป
  • การวัดความอิ่มตัวของระดับออกซิเจนในเลือดแดงขณะหลับ
ตรวจการนอนหลับ พัทยา ชลบุรี

(ภาพแสดงการติดอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับการตรวจการนอนหลับ)

การวิเคราะห์ความผิดปกติของการนอนหลับ

ผลการตรวจหาความผิดปกติของการนอนหลับ สามารถใช้การวินิจฉัยโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ ได้แก่ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea; OSA) ภาวะชักขณะหลับ (Sleep-related seizure disorders) การกระตุกของกล้ามเนื้อต่าง ๆ (Sleep-related movement disorders) เช่น ภาวะขากระตุก (periodic limb movement disorder) ภาวะง่วงนอนง่ายผิดปกติในเวลากลางวัน เช่น โรคเหงาหลับ (Narcolepsy) ซึ่งอาจจะต้องทำ Sleep study ร่วมกันระหว่าง PSG และ MSLT ในการวินิจฉัยโรค ความผิดปกติของการนอนหลับที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคไต ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หลอดเลือดสมองตีบ/ตัน โรคอ้วน ภาวะเครียด เป็นต้น

Sleep Apnea Health Assessment

New call-to-action

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน กุมารแพทย์โรคระบบหายใจและการนอนหลับ
ศูนย์กุมารเวช  โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง