Skip to content

รู้ทันภาวะหมดไฟในการทำงาน (burnout syndrome)

หน้าแรก  >  บทความเกี่ยวกับสุขภาพ

หมดไฟ เบิร์นเอาท์ ทำยังไงดี

ภาวะหมดไฟ (burnout syndrome) คืออะไร ?

ภาวะหมดไฟคือภาวะการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจที่เกิดจากความเครียดเรื้อรังในการทำงาน ซึ่งมีอาการหลักๆ ประกอบด้วย

  1. รู้สึกสูญเสียพลังงาน หรือมีภาวะอ่อนเพลีย
  2. มีความรู้สึกต่อต้านและมองงานของตนเองในทางลบ ขาดความรู้สึกในความตั้งใจที่จะประสบความสำเร็จ
  3. รู้สึกเหินห่างจากคนอื่นไม่ว่าจะเป็นผู้ร่วมงาน หรือลูกค้า รวมถึงขาดความผูกพันกับสถานที่ทำงาน

คนทำงานอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหมดไฟ

หากรู้สึกว่างานของตนมีลักษณะดังต่อไปนี้

  1. ภาระงานหนัก และปริมาณงานมาก รวมถึงงานมีความซับซ้อน ต้องทำในเวลาเร่งรีบ
  2. ขาดอำนาจในการตัดสินใจ และมีปัญหาการเรียงลำดับความสำคัญของงาน
  3. ไม่ได้รับการตอบแทน หรือรางวัลที่เพียงพอต่อสิ่งที่ได้ทุ่มเทไป
  4. รู้สึกไร้ตัวตนในที่ทำงาน หรือไม่เป็นส่วนหนึ่งของทีม
  5. ไม่ได้รับความยุติธรรม ขาดความเชื่อใจ และการเปิดใจยอมรับกัน
  6. ระบบบริหารในที่ทำงานที่ขัดต่อคุณค่า และจุดมุ่งหมายในชีวิตของตนเอง

ภาวะหมดไฟ

ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหากภาวะหมดไฟไม่ได้รับการจัดการ

ภาวะหมดไฟอาจส่งผลด้านต่าง ๆ ดังนี้

  1. ด้านร่างกาย: อาจพบอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ
  2. ด้านจิตใจ: บางรายอาจสูญเสียแรงจูงใจ หมดหวัง รู้สึกหมดหนทางที่จะช่วยให้ดีขึ้น ส่งผลให้มีอาการของภาวะซึมเศร้าและอาการนอนไม่หลับได้ หากอาการรุนแรงจะนำไปสู่โรคนอนไม่หลับเรื้อรัง/ฝันร้าย
  3. ผลต่อการทำงาน: อาจขาดงานบ่อย ประสิทธิภาพการทำงานลดลง อาจคิดเรื่องลาออกในที่สุด

หากเกิดภาวะหมดไฟจะจัดการอย่างไรดี ?

5 กลยุทธ์ในการต่อสู้กับภาวะหมดไฟจากการทำงาน/ความเหนื่อยหน่ายในงาน

1. สำรวจตัวเอง

ขั้นตอนแรกคือการสำรวจตัวเราองว่ากำลังประสบกับความเหนื่อยหน่ายในงานหรือไม่การรับรู้ว่ากำลังประสบกับความเหนื่อยหน่ายในการทำงานเป็นขั้นตอนแรกที่จำเป็น โดยมีข้อคำถามดังต่อไปนี้คือ

  • ประสบความเครียดอย่างรุนแรง โดยมีอาการอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เนื่องจากการทำงานหรือไม่
  • กลัวที่จะไปทำงานทุกวันหรือไม่ ?
  • กังวลเกี่ยวกับการทำงาน แม้ว่าจะเป็นเวลาที่อยู่บ้าน ในเวลาว่างหรือไม่ ?
  • เคยรู้สึกดูถูก มองในทางลบอย่างรุนแรง เช่น เหยียดหยามต่องานและเพื่อนร่วมงาน หรืออยู่ห่างกับเพื่อนร่วมงานหรือไม่ ?
  • รู้สึกไม่สามารถทำงานที่เคยเป็นเรื่องง่าย ได้หรือไม่?
  • พบปัญหาทางร่างกายมากขึ้นเช่นปวดหัวมากขึ้นหรือไม่?

หากพบ เพียง 1 ใน 6 ข้อ นั่นแปลว่า เราสามารถรับรู้อาการของความเหนื่อยหน่ายในงานได้แล้ว และหากพบ 2 ข้อขึ้นไป นั่นคือ เรากำลังจะเข้าสู่ภาวะเหนื่อยหน่ายจากการทำงาน ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว มีทางออก โดยสามารถพิจารณาวิธีดำเนินการได้ดังต่อไปนี้

ภาวะหมดไฟในการทำงาน burnout syndrome

2. พยายามนอนให้มากขึ้น

การนอนน้อยเกินไป เป็นปัจจัยสำคัญต่อการทำนายความเหนื่อยหน่ายในงาน การนอนหลับที่ดีขึ้น เป็นสัญญาณสำคัญที่จะทำให้ร่างกายคนเราสามารถฟื้นตัวจากความเหนื่อยหน่ายและพร้อมที่จะกลับไปทำงาน

3. ออกกำลังกาย (หัวใจและหลอดเลือด) อย่างสม่ำเสมอ

การออกกำลังกายที่ถึงระดับการทำงานของหัวใจและหลอดเลือดนั้น ได้รับการยืนยันจากผลการศึกษาวิจัยว่า สามารถลดอาการเหนื่อยหน่ายอย่างมีนัยสำคัญในเวลาเพียง 4 สัปดาห์

4.ทำสมาธิ

การทำสมาธิแบบฝึกสติ เป็นเทคนิคที่ได้รับการยืนยันทางการแพทย์มายาวนาน ที่สามารถช่วยให้เรารับมือกับปัญหาได้ในทุกสถานการณ์ ซึ่งโปรแกรมฝึกสติ / ทำสมาธินั้น ปัจจุบันสามารถเข้าถึงง่ายและปฏิบัติได้ง่าย

5. ฝึกหายใจ

การหายใจอย่างมีสติ ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการทำสมาธิ โดยหายใจเข้าและหายใจออก ตั้งสติเพ่งความสนใจอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก (ใช้ไดอะแฟรมหรือกล้ามเนื้อหน้าท้อง โดยหายใจเข้านับ 1 ถึง 8 และหายใจออก นับถึง 1 ถึง 8 ค่อยผ่อนลมออกทางปากช้าๆ) เป็นต้น

ภาวะหมดไฟในการทำงานไม่ใช่โรคซึมเศร้า แต่ถ้าหากคนทำงานเริ่มมีอาการเศร้าหดหู่ เบื่อหน่ายสิ่งรอบตัว รู้สึกทุกข์ทรมานกับการใช้ชีวิต หรือมีความคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ ควรสงสัยว่าอาจเป็นโรคซึมเศร้าแนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ


อ้างอิง

กรมสุขภาพจิต

แหล่งข้อมูล

Burn-out an “occupational phenomenon”: International Classification of Diseases (who.int)

Psychology Today

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง