ภาวะหมดไฟ (burnout syndrome) คืออะไร ?
ภาวะหมดไฟคือภาวะการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจที่เกิดจากความเครียดเรื้อรังในการทำงาน ซึ่งมีอาการหลักๆ ประกอบด้วย
- รู้สึกสูญเสียพลังงาน หรือมีภาวะอ่อนเพลีย
- มีความรู้สึกต่อต้านและมองงานของตนเองในทางลบ ขาดความรู้สึกในความตั้งใจที่จะประสบความสำเร็จ
- รู้สึกเหินห่างจากคนอื่นไม่ว่าจะเป็นผู้ร่วมงาน หรือลูกค้า รวมถึงขาดความผูกพันกับสถานที่ทำงาน
คนทำงานอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหมดไฟ
หากรู้สึกว่างานของตนมีลักษณะดังต่อไปนี้
- ภาระงานหนัก และปริมาณงานมาก รวมถึงงานมีความซับซ้อน ต้องทำในเวลาเร่งรีบ
- ขาดอำนาจในการตัดสินใจ และมีปัญหาการเรียงลำดับความสำคัญของงาน
- ไม่ได้รับการตอบแทน หรือรางวัลที่เพียงพอต่อสิ่งที่ได้ทุ่มเทไป
- รู้สึกไร้ตัวตนในที่ทำงาน หรือไม่เป็นส่วนหนึ่งของทีม
- ไม่ได้รับความยุติธรรม ขาดความเชื่อใจ และการเปิดใจยอมรับกัน
- ระบบบริหารในที่ทำงานที่ขัดต่อคุณค่า และจุดมุ่งหมายในชีวิตของตนเอง
ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหากภาวะหมดไฟไม่ได้รับการจัดการ
ภาวะหมดไฟอาจส่งผลด้านต่าง ๆ ดังนี้
- ด้านร่างกาย: อาจพบอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ
- ด้านจิตใจ: บางรายอาจสูญเสียแรงจูงใจ หมดหวัง รู้สึกหมดหนทางที่จะช่วยให้ดีขึ้น ส่งผลให้มีอาการของภาวะซึมเศร้าและอาการนอนไม่หลับได้ หากอาการรุนแรงจะนำไปสู่โรคนอนไม่หลับเรื้อรัง/ฝันร้าย
- ผลต่อการทำงาน: อาจขาดงานบ่อย ประสิทธิภาพการทำงานลดลง อาจคิดเรื่องลาออกในที่สุด
หากเกิดภาวะหมดไฟจะจัดการอย่างไรดี ?
5 กลยุทธ์ในการต่อสู้กับภาวะหมดไฟจากการทำงาน/ความเหนื่อยหน่ายในงาน
1. สำรวจตัวเอง
ขั้นตอนแรกคือการสำรวจตัวเราองว่ากำลังประสบกับความเหนื่อยหน่ายในงานหรือไม่การรับรู้ว่ากำลังประสบกับความเหนื่อยหน่ายในการทำงานเป็นขั้นตอนแรกที่จำเป็น โดยมีข้อคำถามดังต่อไปนี้คือ
- ประสบความเครียดอย่างรุนแรง โดยมีอาการอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เนื่องจากการทำงานหรือไม่
- กลัวที่จะไปทำงานทุกวันหรือไม่ ?
- กังวลเกี่ยวกับการทำงาน แม้ว่าจะเป็นเวลาที่อยู่บ้าน ในเวลาว่างหรือไม่ ?
- เคยรู้สึกดูถูก มองในทางลบอย่างรุนแรง เช่น เหยียดหยามต่องานและเพื่อนร่วมงาน หรืออยู่ห่างกับเพื่อนร่วมงานหรือไม่ ?
- รู้สึกไม่สามารถทำงานที่เคยเป็นเรื่องง่าย ได้หรือไม่?
- พบปัญหาทางร่างกายมากขึ้นเช่นปวดหัวมากขึ้นหรือไม่?
หากพบ เพียง 1 ใน 6 ข้อ นั่นแปลว่า เราสามารถรับรู้อาการของความเหนื่อยหน่ายในงานได้แล้ว และหากพบ 2 ข้อขึ้นไป นั่นคือ เรากำลังจะเข้าสู่ภาวะเหนื่อยหน่ายจากการทำงาน ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว มีทางออก โดยสามารถพิจารณาวิธีดำเนินการได้ดังต่อไปนี้
2. พยายามนอนให้มากขึ้น
การนอนน้อยเกินไป เป็นปัจจัยสำคัญต่อการทำนายความเหนื่อยหน่ายในงาน การนอนหลับที่ดีขึ้น เป็นสัญญาณสำคัญที่จะทำให้ร่างกายคนเราสามารถฟื้นตัวจากความเหนื่อยหน่ายและพร้อมที่จะกลับไปทำงาน
3. ออกกำลังกาย (หัวใจและหลอดเลือด) อย่างสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายที่ถึงระดับการทำงานของหัวใจและหลอดเลือดนั้น ได้รับการยืนยันจากผลการศึกษาวิจัยว่า สามารถลดอาการเหนื่อยหน่ายอย่างมีนัยสำคัญในเวลาเพียง 4 สัปดาห์
4.ทำสมาธิ
การทำสมาธิแบบฝึกสติ เป็นเทคนิคที่ได้รับการยืนยันทางการแพทย์มายาวนาน ที่สามารถช่วยให้เรารับมือกับปัญหาได้ในทุกสถานการณ์ ซึ่งโปรแกรมฝึกสติ / ทำสมาธินั้น ปัจจุบันสามารถเข้าถึงง่ายและปฏิบัติได้ง่าย
5. ฝึกหายใจ
การหายใจอย่างมีสติ ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการทำสมาธิ โดยหายใจเข้าและหายใจออก ตั้งสติเพ่งความสนใจอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก (ใช้ไดอะแฟรมหรือกล้ามเนื้อหน้าท้อง โดยหายใจเข้านับ 1 ถึง 8 และหายใจออก นับถึง 1 ถึง 8 ค่อยผ่อนลมออกทางปากช้าๆ) เป็นต้น
ภาวะหมดไฟในการทำงานไม่ใช่โรคซึมเศร้า แต่ถ้าหากคนทำงานเริ่มมีอาการเศร้าหดหู่ เบื่อหน่ายสิ่งรอบตัว รู้สึกทุกข์ทรมานกับการใช้ชีวิต หรือมีความคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ ควรสงสัยว่าอาจเป็นโรคซึมเศร้าแนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ
อ้างอิง
แหล่งข้อมูล
Burn-out an “occupational phenomenon”: International Classification of Diseases (who.int)