Skip to content

กินเจอย่างไรให้ได้บุญและปลอดภัย พร้อมเฝ้าระวังผักสด ผักแห้ง รวมทั้งผักดองที่อาจปนเปื้อนสารอันตรายตกค้าง โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

หน้าแรก  >  บทความเกี่ยวกับสุขภาพ

อาหารเจ เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปเนื่องจากการรับประทานพืชผัก งดเว้นเนื้อสัตว์ ทำให้กระเพาะได้พักจากการย่อยเนื้อสัตว์ได้รับวิตามิน รวมทั้งโปรตีนจากถั่วชนิดต่างๆ นอกจากสุขภาพดีแล้ว ผู้ที่ถือศีลกินเจยังจะได้รับผลดีด้านจิตใจอีกด้วย

เพื่อให้การกินเจถูกหลักได้รับอาหารที่มีคุณค่ามีคุณประโยชน์ต่อร่างกายอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ จึงควรรับประทานอาหารเจที่มีคุณค่าทางอาหารครบ 5 หมู่ และรับประทานอาหารเจให้หลากหลายชนิด ไม่ควรรับประทานอาหารเจชนิดเดียวเป็นเวลานานๆ ซึ่งที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดย สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ห่วงใยสุขภาพของประชาชนและต้องการให้ประชาชนมีพฤติกรรมการบริโภคที่ถูกต้องและสนับสนุนผู้ประกอบการให้ผลิตอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณภาพและรับผิดชอบต่อสังคม โดยได้เฝ้าระวังคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารเจในช่วงเทศกาลกินเจอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2556 และในปี 2558 นี้ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างอาหารเจจากตลาดเยาวราช รวมทั้งสิ้น 68 ตัวอย่าง แยกเป็น

  • อาหารประเภทผักดอง จำนวน 21 ตัวอย่าง ได้แก่ ผักกาดดอง หัวไชโป้ว และกานาฉ่าย เพื่อตรวจสอบหาสารกันรา สารบอร์แรกซ์ และวัตถุกันเสีย (กรดเบนโซอิค)
  • อาหารเจทั่วไปที่ทำมาจากแป้งสาลีหรือบุก จำนวน 14 ตัวอย่าง ได้แก่ หมี่กึ่งสำเร็จรูป ลูกชิ้นเจต่างๆ เพื่อตรวจสอบสารบอร์แรกซ์
  • อาหารเลียนแบบเนื้อสัตว์ที่ระบุว่าเป็นอาหารเจที่แบ่งทั่วไปที่ไม่ฉลาก จำนวน 9 ตัวอย่าง เช่น ทอดมันเจ ก้ามปูเทียมเจ หอยจ้อเจ ไส้กรอกจูเนียร์เจ เต้าหู้ปลาสามเหลี่ยมเจ ลูกชิ้นกุ้งเจ ก้ามปูเจ ลูกชิ้นเจ เต้าหู้และปลาเจ เพื่อตรวจหา DNA เนื้อสัตว์จำเพาะ
  • และผักที่นิยมบริโภคในช่วงเทศกาลกินเจมาตรวจสอบยาฆ่าแมลง ได้แก่ คะน้า แครอท และผักโขมที่จำหน่ายในตลาดในกรุงเทพและปริมณฑล จำนวน 24 ตัวอย่าง มาทำการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ

ผลจากการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ผักดอง พบวัตถุกันเสียเกินค่ามาตรฐาน จำนวน 13 ตัวอย่าง โดยพบมากสุดในหัวไชโป้ว รองลงมาก คือ ผักกาดดอง และกานาฉ่าย แต่ตรวจไม่พบสารกันราและบอร์แรกซ์ทุกตัวอย่าง อาหารเจทั่วไปที่ทำมาจากแป้งสาลีหรือบุก ตรวจไม่พบผงกรอบทุกตัวอย่าง อาหารเลียนแบบเนื้อสัตว์ที่ไม่ฉลากทุกตัวอย่างตรวจพบ DNA เนื้อสัตว์ และผักสด (ตรวจโดยไม่ปอกเปลือกและไม่ล้าง) ตรวจพบสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชตกค้าง 2 ตัวอย่าง ในคะน้า 1 ตัวอย่าง และแครอท 1 ตัวอย่าง โดยพบในปริมาณที่ยอมรับได้หรือปริมาณที่ปลอดภัย อย่างไรก็ดี เพื่อความปลอดภัยก่อนที่จะนำพืชผักและผลไม้มาบริโภคจะต้องล้างทำความสะอาด เพื่อช่วยลดลดปริมาณสารพิษตกค้าง

สำหรับฟองเต้าหู้ ซึ่งเป็นอาหารอีกประเภทหนึ่งที่นิยมนำมาปรุงเป็นอาหารเจ ที่เคยมีข่าวฟองเต้าหู้ปลอมทำจากพลาสติกจำหน่ายในตลาดนั้น สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้ตรวจตัวอย่าง ฟองเต้าหู้ที่มีผู้ร้องเรียนและที่ผู้ประกอบการผลิตฟองเต้าหู้นำส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ จำนวน 5 ตัวอย่าง พบว่า ตรวจพบDNAของถั่วเหลืองซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของในการผลิตฟองเต้าหู้และไม่พบพลาสติก และ DNA ของข้าวสาลี ข้าว มันฝรั่ง และข้าวโพด แสดงว่าเป็นฟองเต้าหู้แท้ข่าวดังกล่าวจึงไม่เป็นความจริงตามที่มีการแชร์ต่อกันทางสื่อต่างๆ และขอให้ผู้บริโภคอย่าได้วิตกกังวลและควรหลีกเลี่ยงการรับประทานหรือซื้ออาหารที่แปรรูปและมีรสชาติเหมือนเนื้อสัตว์ มากจนเกินไป เพื่อให้เทศกาลกินเจนี้ได้เจที่บริสุทธิ์ สุขกาย อิ่มใจและได้บุญ

ทั้งนี้ขอแนะวิธีการลดสารพิษตกค้างในพืชผักและผลไม้โดยการล้างให้สะอาด ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ ดังนี้

  1. แยกส่วน ตัดแต่งโดยผักมีก้านหรือใบซ้อนกัน ควรแยกออกเพื่อทำความสะอาดทั่วถึง
  2. ล้างน้ำเบื้องต้นโดยการเริ่มล้างดินหรือสิ่งสกปรกที่มองเห็นได้ออกก่อน
  3. แช่ผัก ลดสารพิษโดยนำผักมาแช่น้ำสะอาดทิ้งไว้ 10 นาที โดยอาจเติมสารบางชนิด เช่นน้ำส้มสายชู หรือ เกลือป่น อัตราส่วน1 ช้อนโต๊ะผสมน้ำ 4 ลิตรลดได้ร้อยละ 27-38, น้ำด่างทับทิม อัตราส่วน 20-30 เกล็ดผสมน้ำ 4 ลิตรลดได้ร้อยละ 35–43, น้ำปูนใส ลดได้ร้อยละ 34-52, น้ำซาวข้าว ลดได้ร้อยละ 29–38 ส่วนผักที่บริโภคแบบปอกเปลือกให้ปอกเปลือกก่อนนำไปแช่ในน้ำยา
  4. ล้างน้ำสะอาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแช่โดยการเติมสารบางชนิดข้างต้นลงไป ควรนำมาล้างด้วยน้ำสะอาดก่อนนำไปบริโภคอย่างปลอดภัย

ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ http://www.dmsc.moph.go.th/dmsc/news_detail.php?cid=1&id=1074

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง