Skip to content

ป้องกันโรคปอดตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ด้วยการตรวจสมรรถภาพปอด

การตรวจสมรรถภาพปอด (Pulmonary Function Tests) เป็นการตรวจที่สำคัญและมีประโยชน์อย่างยิ่งในกระบวนการวินิจฉัย ประเมินและติดตามผลการรักษาโรคระบบการหายใจ เช่น โรคหืด, โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, โรคปอดจากการทำงาน เป็นต้น นอกจากนี้การตรวจสมรรถภาพปอด ยังสามารถบ่งถึงการเสื่อมของการทำงานของปอดก่อนที่อาการแสดงทางคลินิกจะเริ่มปรากฏ เนื่องจากปอดเป็นอวัยวะที่มีความสามารถสำรองสูง อาการเหนื่อยจึงมักปรากฏหลังจากพยาธิสภาพในปอดเกิดขึ้นมากแล้ว โดยการตรวจสมรรถภาพปอดเป็นการตรวจที่ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ป่วยอย่างมากในการออกแรงเป่าอย่างเต็มที่ (maximal effort) การสูดลมและการเป่าต้องทำ ทางปากซึ่งไม่ใช่สิ่งที่คุ้นเคยสำหรับคนส่วนใหญ่ นอกจากนั้นจังหวะในการสูดลมและการเป่ามีความสำคัญมากเช่นเดียวกัน ผู้ควบคุมการตรวจ (technician) จึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจ ความชำนาญ และประสบการณ์ ในการตรวจ ผลการตรวจจึงจะเป็นที่น่าเชื่อถือ

วิธีสไปโรเมตรีย์(Spirometry)


เป็นการตรวจวัดปริมาตรและอัตราการไหลของอากาศที่หายใจเข้าและออกจากปอด โดยให้ผู้ป่วยใช้แรงหายใจเข้าและออกให้สุดลมหายใจผ่านเครื่องสไปโรมิเตอร์ (Spirometer) ในบางรายต้องมีการตรวจหลังการสูดยาขยายหลอดลมซ้ำอีกรอบ เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของหลอดลม โดยความผิดปกติที่ตรวจพบ จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม

  1. Obstructive หมายถึง มีการอุดกั้นของหลอดลม เช่น ในผู้ที่เป็นโรคหืด โรคถุงลมโป่งพองจากการสูบบุหรี่ โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง
  2. Restrictive หมายถึง ความยืดหยุ่นของปอดลดลง ทำให้ความจุของปอดลดลง เช่น ผู้ที่มีโรคของเนื้อปอด ผู้ที่โครงสร้างกล้ามเนื้อ หรือกระดูกที่ช่วยในการหายใจผิดปกติ
  3. Combine หมายถึง ผู้ที่ตรวจพบมีความผิดปกติทั้ง 2 อย่างร่วมกัน

ใครบ้างที่ควรได้รับการตรวจสมรรถภาพปอดเป็นประจำทุกปี

  • ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีควันบุหรี่ สารเคมี หรือฝุ่นละออง
  • ผู้ที่มีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น อาการหายใจลำบาก อาการเหนื่อย อาการไอหายใจมีเสียงวี๊ด
  • ผู้ที่ทำงานในพื้นที่อับอากาศ การทำงานบนที่สูง ซึ่งต้องอาศัยระบบการทำงานของระบบหายใจที่มีประสิทธิภาพ
  • ผู้ที่ทำงานสัมผัสสารเคมีที่มีผลต่อสมรรถภาพปอด
  • ผู้ที่ต้องสวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นหรือสารเคมีชนิดแนบแน่น เช่น N95

เตรียมตัวอย่างไรก่อนไปตรวจสมรรถภาพปอด

  • ไม่ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีก่อนการตรวจ
  • ไม่สูบบุหรี่อย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนการตรวจ
  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันที่มีการตรวจ
  • ควรงดยาขยายหลอดลมตามที่แพทย์แนะนำ
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อหนักอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนตรวจ
  • หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่รัดบริเวณทรวงอกและหน้าท้อง

ข้อห้ามในการทำ Spirometry

  1. ไอเป็นเลือด
  2. ภาวะลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอดที่ยังไม่ได้รับการรักษา
  3. ระบบหลอดเลือดหรือหัวใจทำงานไม่คงที่ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ที่ยังไม่ได้รับการรักษา หรือควบคุมได้ไม่ดี ความดันโลหิตต่ำ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือลิ่มเลือดอุดตันในปอดที่เพิ่งหาย
  4. เส้นเลือดแดงโปง (Aneurysm) ในทรวงอก ท้อง หรือสมอง
  5. เพิ่งได้รับการผ่าตัดตา เช่น ผ่าตัดลอกต้อกระจก
  6. เพิ่งได้รับการผ่าตัดช่องอกหรือช่องท้อง
  7. ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเช่น วัณโรคปอดระยะติดต่อ
  8. สตรีมีครรภ์ (ยกเว้นในบางรายที่จำเป็น)

ภาวะแทรกซ้อนจาก Spirometry

แม้ว่าการตรวจ Spirometry จะเป็นการตรวจที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่อาจพบภาวะแทรกซ้อนได้บ้าง ดังต่อไปนี้

  1. ความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ เป็นต้น
  2. เวียนศีรษะ มึนงง และในบางรายอาจมีอาการหมดสติได้
  3. อาการไอ
  4. หลอดลมตีบ โดยเฉพาะในผู้ป่วยหืดหอบ หรือปอดอุดกั้นเรื้อรังที่ยังควบคุมอาการได้ไม่ดี
  5. เจ็บหน้าอก
  6. ภาวะลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอด
  7. ขาดออกซิเจนจากการหยุดให้ชั่วคราวระหว่างการตรวจ
  8. การติดเชื้อ

คำแนะนำการปฏิบัติตัวก่อนตรวจ

  1. งดใช้ยาขยายหลอดลม (ยาพ่นชนิดออกฤทธิ์สั้น เช่น Ventolin, Berodual อย่างน้อย 4 – 6 ชั่วโมง และยารับประทานและยาพ่นชนิดออกฤทธิ์ยาว เช่น Seretide, Symbicort, Spiriva อย่างน้อย 12 ชั่วโมง ) โดยขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์
  2. หลีกเลี่ยงอาหารมื้อใหญ่อย่างน้อย 2 ชั่วโมง โดยที่ไม่ต้องงดน้ำและอาหาร ก่อนตรวจ
  3. ไม่ออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีก่อนตรวจ
  4. ไม่ควรสวมเสื้อผ้าที่รักทรวงอกและท้อง
  5. วัดส่วนสูง ชั่งน้ำหนัก
  6. นำฟิล์มเอกซเรย์ปอดมาด้วยถ้ามี
  7. มาก่อนแพทย์นัด ครึ่งชั่วดมง ถึง หนึ่งชั่วโมง
อายุรกรรม

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง