แผลร้อนในเป็นสิ่งที่ทำให้เจ็บและสร้างความรำคาญในปาก และแม้แผลนี้จะหายได้เองภายในไม่กี่สัปดาห์ แต่หลายคนก็ประสบปัญหานี้ได้บ่อย ๆ จึงควรรู้จักสาเหตุและวิธีการบรรเทาอาการด้วยตัวเองเบื้องต้น
ลักษณะของร้อนในหรือแผลในปาก
โดยส่วนใหญ่ร้อนในจะมีลักษณะเป็นแผลเปื่อยรูปวงกลมหรือวงรี ตรงกลางเป็นสีขาวหรือเหลือง ตรงขอบมักเป็นสีแดง ร้อนในหรือแผลในปากแบบนี้สามารถเกิดขึ้นบนลิ้นหรือใต้ลิ้น บริเวณโคนเหงือก กระพุ้งแก้ม ด้านในของริมฝีปาก หากมีแผลจะรู้สึกเจ็บแสบ บางกรณีก่อนเกิดแผลจริง 1-2 วันอาจรู้สึกเจ็บซ่า ๆ เล็กน้อย ในตำแหน่งเดียวกัน
วิธีการบรรเทาและรักษาร้อนใน
โดยปกติแผลร้อนในสามารถดีขึ้นภายใน 2-3 วันและจะหายไปได้เองภายในไม่กี่สัปดาห์ แต่แผลร้อนในก็สามารถบรรเทาหรือรักษาได้ด้วยยาที่จำหน่ายหน้าเคาท์เตอร์หรือตามร้านขายยาทั่วไป และการลดปัจจัยที่ทำให้เกิดการระคายเคืองแผลต่าง ๆ เช่น
- ใช้ยาทาแก้ร้อนใน สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ตัวยามักประกอบไปด้วยเบนโซเคน (Benzocaine) และลิโดเคน (Lidocaine) อยู่ในรูปเจล หรือขี้ผึ้ง
- บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ หากไม่ได้ทายาสามารถบ้วนปากด้วยน้ำเกลือทุก ๆ 2 ชั่วโมง และหลังรับประทานอาหาร
- เลี่ยงอาหารรสจัด และผลไม้ที่มีกรด เช่น อาหารรสเผ็ด ผักผลไม้รสเปรี้ยว
- แปรงฟันอย่างระมัดระวัง รวมการถึงใช้แปรงสีฟันที่ไม่แข็งเกินไป และใช้ยาสีฟันที่ไม่ระรายเคือง
ร้อนในหรือแผลในปากเกิดจากอะไร ?
แผลร้อนในสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยภายในช่องปาก เช่น แปรงฟันแรงเกินไป กัดกระพุ้งแก้มโดยไม่ได้ตั้งใจ อุบัติเหตุจากกีฬา ฯลฯ
- เนื้อเยื่อในช่องปากไวต่อการระคายเคืองจากสารทำให้ให้เกิดฟองในยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปาก (Sodium Lauryl Sulfate)
- เนื้อเยื่อในช่องปากไวต่อการระคายเคืองจากอาหารบางชนิด เช่นอาหารรสจัด และผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว
- ระคายเคืองจากอุปกรณ์ทันตกรรมภายในช่องปาก เช่น เครื่องมือจัดฟัน ฟันปลอมที่ไม่เข้าที่
- ขาดสารอาหารบางชนิด เช่น วิตามินบี 12 (vitamin B-12) กรดโฟลิก (folic acid) สังกะสี (zinc) ธาตุเหล็ก (iron)
- เนื้อเยื่อในช่องปากตอบสนองต่อการแพ้แบคทีเรียบางชนิด
- เกิดจาก Helicobacter pylori แบคทีเรียชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร
- เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงประจำเดือน
- ความเครียด
มีแผลร้อนในแบบไหนควรไปพบแพทย์ ?
- แผลร้อนในขนาดใหญ่ผิดปกติ
- แผลเกิดขึ้นซ้ำ ๆ และแผลใหม่เกิดก่อนที่แผลเก่าจะหาย
- แผลหายช้า หรือเป็นนานมากกว่า 2 สัปดาห์
- หากอาการเจ็บไม่หายไปหลัจากบรรเทาด้วยวิธิอื่น ๆ แล้ว
- อาการเจ็บแผลรบกวนการรับประทานและการดื่ม
- มีไข้สูงร่วม
แผลร้อนในเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย ๆ หากลองบรรเทาอาการด้วยตัวเองเบื้องต้นแล้วไม่ได้ผล หรือแผลมีแนวโน้มรุนแรงและซับซ้อนขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ
หากมีข้อสงสัย ต้องการทำนัดปรึกษาทีมศูนย์อายุรกรรม สามารถติดต่อได้ที่ทุกช่องทางการติดต่อของโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา
Reference,
Cleveland Clinic. (2022). Canker Sores. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/10945-canker-sores
Mayo Clinic. (2018). Canker Sore. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/canker-sore/symptoms-causes/syc-20370615