Skip to content

อาการและสัญญาณเริ่มต้นของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

10 อาการเตือนโรคหัวใจและหลอดเลือด

ขึ้นชื่อว่าโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคนี้เป็นปัญหาสุขภาพชนิดร้ายแรง และสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของโลก การสะสมพฤติกรรมหรือจากภาวะบางอย่างจะช่วยเร่งให้เกิดการอุดตันในเส้นเลือดจนหัวใจไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ การรู้ทันสาเหตุและหากสามารถสังเกตอาการของโรคนี้ได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้เข้าสู่การรักษาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบคืออะไร

Coronary Artery Disease หรือ โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นโรคที่ทำให้หลอดเลือดไม่สามารถส่งเลือดไปยังหัวใจได้อย่างปกติเนื่องการตีบแคบของหลอดเลือด ซึ่งมักมีสาเหตุมาจาก Plaque หรือคราบหินปูนจากไขมันในเลือดเกาะตัวกันจนขวางทางไหลของเลือด เมื่อเลือดส่งไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้น้อยลงก็ส่งผลให้เกิดอาการเหนื่อยหอบ เจ็บหน้าอก โรคหลอดเลือดหัวใจสามารถอยู่ในร่างกายเป็นโดยที่เจ้าตัวไม่ทันสังเกต ก้อน Plaque จากไขมันในเลือดจะเกาะตัวกันเพิ่มขึ้นจนอาจทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือ หัวใจวาย

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบมีอาการอย่างไร

10 อาการเตือนโรคหัวใจและหลอดเลือด

เมื่อเกิด Plaque ภายในหลอดเลือดจะทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ดี ส่งผลให้มีอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • เจ็บหน้าอก หรือปวดแน่นหน้าอก โดยเฉพาะเวลาที่ต้องออกแรงหรือออกกำลังกาย อาการเจ็บหน้าอกมักจะบรรเทาลงเมื่อหยุดทำกิจกรรมไปสักระยะ
  • หายใจถี่ หรือรู้สึกหายใจติดขัด
  • เหนื่อยหอบ จากการที่หัวใจสูบฉีดเลือดได้ยากขึ้น
  • วิงเวียนศีรษะ

ในบางคนอาจมีอาการที่เสี่ยงต่อภาวะหัวใจวาย เช่น

  • เจ็บหน้าอก และอาจปวดร้าวลามไปที่คอ ขากรรไกร แขน หลัง
  • ปวดแสบปวดร้อนตรงลิ้นปี่หรือท้องส่วนบน (Heartburn)
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • เหงื่อออกมาก
  • หมดสติ

หลอดเลือดหัวใจตีบเกิดจากสาเหตุใด

ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นโรคที่มักจะพบในคนที่อายุมาก ในเพศชาย เพศหญิงวัยหมดประจำเดือน และในกลุ่มคนที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ แต่นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมการใช้ชีวิต โรคหรือภาวะบางอย่างที่เป็นปัจจัยเสี่ยง ซึ่งเราควรใส่ใจเพื่อรักษาสุขภาพหัวใจเอาไว้ เช่น

  • โรคความดันโลหิตสูง (High blood pressure) ความดันโลหิตสูงบ่งบอกว่าหัวใจทำงานหนักมากขึ้นในการสูบฉีดเลือด ความดันเลือดสูงในระยะยาวจะทำความเสียหายต่อหลอดเลือดโดยตรง ทำให้รอยโรคก่อตัวง่ายขึ้น
  • โรคเบาหวาน (Diabetes) เบาหวานเกิดจากการสร้างฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ หรือเนื้อเยื่อไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงเกินไปจนไปทำลายหลอดเลือดและเส้นประสาท
  • ภาวะไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemia) ไขมันในเลือดสูงหรือมีค่าคอเลสเตอรอลรวมในเลือดสูงเกินไป เป็นสาเหตุหนึ่งของ Plaque ที่เกาะกันในหลอดเลือด ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
  • โรคอ้วน (Obesity) คนที่มีไขมันสะสมในร่างกายมาก ๆ อาจส่งผลเสียต่อร่างกายทั้งการมีไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ซึ่งหลาย ๆ ปัจจัยของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมีจุดเริ่มต้นมาจากโรคอ้วน

ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้สามารถลดลงได้ด้วยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ การพักผ่อนที่มีคุณภาพ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดีลดความเสี่ยงโรคและภาวะต่าง ๆ ได้อีกมากไม่ใช่แค่โรคหลอดเลือดหัวใจ

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ รักษาหายไหม

การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

คนส่วนใหญ่มักพบความผิดปกติของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ จากการตรวจสุขภาพประจำปี และไม่เคยมีอาการแสดงมาก่อน ซึ่งถือเป็นความโชคดีเพราะจะได้รับการรักษาตั้งแต่ช่วงที่อาการยังไม่รุนแรง แต่บางคนที่ไม่เคยตรวจสุขภาพประจำปี อาจเจอโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในตอนที่เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือจากภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งมีสาเหตุจากไขมันและหินปูนเกาะสะสมตามทางเดินหลอดเลือดจนตีบหรืออุดตัน

ทั้งสองกรณีแพทย์มักจะรักษาทางยาก่อนเป็นอันดับแรก หากอาการรุนแรงกว่านั้นหรือไม่ดีขึ้น อาจพิจารณาใช้วิธีการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน (Balloon angioplasty) แต่หากไม่สามารถใช้วิธีการรักษาทั้งทางยาและบอลลูนขยายหลอดเลือดได้ แพทย์อาจจะพิจารณาใช้วิธีการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (Bypass surgery)

  • การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน (Balloon angioplasty) วิธีการรักษานี้จะทำในบริเวณที่มีการตีบตันเพื่อให้เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจอีกครั้ง โดยแพทย์จะใส่หลอดที่มีลักษณะยาว ขนาดเล็ก และปลายข้างหนึ่งมีบอลลูน ซึ่งยังไม่พองตัวเข้าไปในเส้นเลือดจนถึงตำแหน่งที่เกิดการตีบหรืออุดตันจึงถูกทำให้พองตัวและขยายหลอดเลือดบริเวณที่ตีบ แล้วจึงนำบอลลูนออก ในปัจจุบันแพทย์ยังนิยมใส่ขดลวดค้ำยันหลอดเลือดซึ่งมีลักษณะเป็นตาข่ายโลหะในจุดที่ขยายหลอดเลือดเพื่อป้องกันการกลับมาตีบซ้ำ (Vascular recoil)
  • การรักษาโรคหัวใจด้วยการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Bypass Grafting) หรือที่เรียกกันว่า “การผ่าตัดบายพาส” ใช้หลักการเดียวกับการตัดถนนใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรที่หนาแน่น ซึ่งก็คือหลอดเลือดที่มีปัญหาตีบตัน การผ่าตัดบายพาสจะนำหลอดเลือดดำที่ขา หลอดเลือดแดงที่ผนังหน้าอกหรือหลอดเลือดแดงที่แขนมาตัดต่อคร่อมหลอดเลือดที่ตีบหรืออุดตัน เพื่อทำทางเดินเลือดใหม่โดยไม่ต้องผ่านหลอดเลือดที่อุดตัน การทำบายพาสสามารถทำได้มากกว่า 1 จุด ในเส้นเลือดเดียวกัน

สรุปโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น การรักษาในปัจจุบันจึงมีวิวัฒนาการไปมาก มีการใช้การผ่าตัดแผลเล็กเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ตามการป้องกันตั้งแต่โรคยังไม่เกิดขึ้นก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และไม่ต้องเสียเงินเวลามารักษา ดังนั้นจึงควรดูแลสุขภาพ และหมั่นตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง

หากมีข้อสงสัยสามารถทำนัด สอบถามข้อมูลหรือปรึกษากับทีมศูนย์หัวใจ ได้ที่ทุกช่องทางการติดต่อของโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา


Reference,

Cleveland Clinic. (2023). Coronary Artery Disease. Retrieved September 14, 2023, from https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/16898-coronary-artery-disease

Mayo Clinic. (2022). Coronary Artery Disease: Symptoms & Causes. Retrieved September 14, 2023, from https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/coronary-artery-disease/symptoms-causes/syc-20350613

ตรวจสุขภาพหัวใจ

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง