Skip to content

ห้องสวนหัวใจโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา

ห้องสวนหัวใจโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา เรามีทีมแพทย์ และทีมสหสาขาวิชาชีพ ที่มีความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดคอยให้บริการท่านตลอด 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ ด้วยประสบการณ์ที่เปิดให้บริการเป็นระยะเวลามากกว่า 17 ปี หากท่านมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเราสามารถเปิดหลอดเลือดหัวใจที่อุดตันด้วยเวลาที่รวดเร็วที่สุด 36 นาที (มาตรฐานในการเปิดหลอดเลือดหัวใจ หากน้อยกว่า 90 นาทีผู้ป่วยจะมีโอกาสรอดชีวิตสูง) และอัตราตายต่ำกว่ามาตรฐานสากล *** ยิ่งเปิดหลอดเลือดที่อุดตันได้เร็ว ท่านก็มีโอกาสรอดชีวิตได้สูง ***

angiography a

  • การฉีดสีตรวจหลอดเลือดหัวใจ ( CAG : Coronary Angiogram) เป็นการตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยการสอดสายสวนที่มีขนาดเล็กประมาณ 2 มิลลิเมตร ผ่านผิวหนังบริเวณข้อมือหรือขาหนีบ แล้วผ่านทางหลอดเลือดแดงไปจนถึงหลอดเลือดหัวใจ แล้วฉีดสารทึบรังสีเข้าไปเพื่อดูการไหลเวียนของเลือด และตรวจหาความผิดปกติต่างๆ แพทย์สามารถมองเห็นเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจได้โดยตรงว่ามีการตีบแคบหรืออุดตันมากน้อยเพียงใด การตีบแคบหรืออุดตันเกิดขึ้นกี่จุด ซึ่งช่วยในการประเมินและวางแผนการรักษาได้ เช่น การทำบอลลูนหัวใจ กการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจบายพาส การรับประทานยา เป็นต้น การฉีดสีตรวจหลอดเลือดหัวใจจะใช้ยาชาเฉพาะที่เท่านั้น และช้เวลาในการตรวจประมาณ 30นาที ถึง 1 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับ ลักษณะทางกายภาพของหลอดเลือด ขณะตรวจท่านสามารถมองผ่านทางจอภาพได้ตลอดเวลา และเมื่อตรวจเสร็จเรียบร้อย ท่านจะทราบผลการตรวจทันที และใช้เวลาพักอยู่ในโรงพยาบาลเพียง 1 วัน

  • การขยายหลอดเลือดและใส่ขดลวดค้ำยันหลอดเลือดหัวใจ มีขั้นตอนเบื้องต้นเหมือนกับการฉีดสีตรวจหลอดเลือดหัวใจ เพียงแต่ใช้สายนำหลอดเลือดที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางด้านในใหญ่กว่าสายตรวจที่ใช้ในการฉีดสี เมื่อปลายสายนำอยู่ในส่วนต้นของหลอดเลือดหัวใจแล้ว แพทย์จะใส่เส้นลวดขนาดเล็กผ่านสายนำเข้าไปจนกระทั่งปลายเส้นลวดผ่านเลยจุดตีบแคบของหลอดเลือดหัวใจ หลังจากนั้นแพทย์จะใช้เส้นลวดเป็นแกนช่วยนำสายชนิดพิเศษที่มีบอลลูนติดอยู่ตรงปลาย ใช้ภาพเอกซ์เรย์ที่เห็นบนจอช่วยในการวางตำแหน่งบอลลูนให้ตรงกับจุดที่มีการตีบแคบของหลอดเลือด แล้วใช้แรงดันทำให้บอลลูนกางออก แรงดันของบอลลูนจะผลักรอยตีบของหลอดเลือดหัวใจให้เปิดกว้าง และเพื่อลดการตีบกลับซ้ำ แพทย์จะใส่ขดลวดชนิดเคลือบยาเข้าไปค้ำยันหลอดเลือด ทำให้เลือดที่มีออกซิเจนไหลผ่านหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจได้มากขึ้น อาการเจ็บแน่นหน้าอกก็จะทุเลาลงและหายไป

กลุ่มอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Acute coronary syndrome : ACS)

เป็นความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจที่ขาดออกซิเจนมาเลี้ยง สาเหตุเกิดจากการมีคราบไขมันหรือลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดหัวใจ ทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบแคบและอุดตันในที่สุด ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตสูง ดังนั้นการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาด้วยความรวดเร็ว จะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้

ปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุ

โรคความดันโลหิตและไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ โรคเบาหวาน ความอ้วน ความเครียด การไม่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ผู้ชายอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือหญิงอายุ 50 ปีขึ้นไปหรือวัยหลังหมดประจำเดือน และผู้มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ และอาการใจสั่น

myocardial infarction

อาการของกลุ่มอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก อึดอัด หรือเจ็บหนักๆ เหมือนมีอะไรมาทับ หรือรัดบริเวณกลางหน้าอกใต้กระดูกหน้าอก อาจมีร้าวไปบริเวณคอ กราม ไหล่ และแขนทั้ง 2 ข้างโดยเฉพาะข้างซ้าย อาการเป็นมากขณะออกกำลัง อาการทุเลาลง เมื่อนั่งพัก หรืออมยาใต้ลิ้น โดยอาการที่เป็นรุนแรงเฉียบพลัน หรือเจ็บขณะพัก นานกว่า 20 นาที หรือเจ็บเค้นอกรุนแรงขึ้น กว่าเดิม และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เหงื่อออก หน้ามืดเป็นลม คลื่นไส้อาเจียน

การตรวจวินิจฉัย

  1. การตรวจร่างกาย ฟังเสียงหัวใจ
  2. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)
  3. การตรวจเลือดหาเอ็นไซม์ที่แสดงถึงการที่มีกล้ามเนื้อหัวใจตาย เช่น Troponin-T, Troponin-I, CK-MB
  4. การตรวจเอ็กซเรย์ปอด
  5. การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram)

heart attack

การรักษากลุ่มอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

การรักษากลุ่มอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการอุดตัน หากหลอดเลือดอุดตัน 100% ผู้ป่วยจะต้องได้รับการรักษาด้วยการเปิดหลอดเลือดหัวใจที่อุดตันอย่างรวดเร็ว เป้าหมายสำคัญ คือควรเปิดหลอดเลือดที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายภายใน 6 ชั่วโมง หลังจากมีอาการเจ็บเค้นอก หรืออย่างช้าไม่เกิน 12 ชั่วโมงเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง รวมทั้งภาวะหัวใจหยุดเต้น ส่วนกรณีที่หลอดเลือดหัวใจตีบจะมีการประเมินความเสี่ยงของโรคเพื่อลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย

การรักษาในปัจจุบันมี 3 วิธีได้แก่ การใช้ยาละลายลิ่มเลือด การขยายหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจโดยใช้สายสวนชนิดพิเศษ ทำบอลลูนหรือการใช้ขดลวดค้ำยันร่วมด้วย และการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจบายพาส ซึ่งผู้ป่วยต้องรับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาล ในห้อง CCU เพื่อติดตามดูแลการเต้นของหัวใจอย่างใกล้ชิด นอนพักบนเตียง และได้รับยาต่างๆ เช่น ยาขยายหลอดเลือด ยาลดการทำงานของหัวใจ ยาต้านการเกาะตัวของเกร็ดเลือด ยาลดไขมัน ยาละลายลิ่มเลือด เป็นต้น

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง