Skip to content

การตรวจสุขภาพประจำปี

หน้าแรก  >  บทความเกี่ยวกับสุขภาพ

การดำรงชีวิตในปัจจุบัน ต้องเผชิญกับปัญหามลพิษต่างๆมากมาย ซึ่งอาจสะสมอยู่ในร่างกายโดยที่เราไม่ทันรู้ตัว การหลบซ่อนของอาการบางอย่างที่ไม่แสดงออกมาให้เห็น บางครั้งทำให้เกิดโรคที่เป็นอันตรายอย่างคาดไม่ถึงขั้นกับตัวเรา เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง หรือโรคสมอง แต่ละโรคมักไม่ค่อยแสดงอาการเบื้องต้นให้ได้รู้มากนัก พบอีกทีอาจสายเกินแก้แล้วเราจะดูแลตัวเองได้อย่างไร เพื่อให้รอดพ้นจากอันตรายเหล่านี้ การตรวจสุขภาพประจำปี จึงเป็นอีกทางหนึ่งในการป้องกันและดูแลตนเองได้อย่างดี เป็นเสมือนสัญญาณที่คอยเตือนให้ชีวิตปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บ

การตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อบ่งบอกถึงสุขภาพของคุณ ที่ครอบคลุมอวัยวะที่สำคัญของร่างกายประกอบไปด้วย

  • ตรวจนับเซลล์เม็ดเลือด (CBC) ดูความสมบูรณ์และจำนวนของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดซึ่งอาจตรวจพบภาวะโลหิตจาง หรือภาวะผิดปกติของเม็ดเลือดขาว เช่น การติดเชื้อหรือมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ในระยะก่อนแสดงอาการ
  • ตรวจน้ำตาลในเลือด(Blood Sugar) เพื่อดูความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ซึ่งหากตรวจพบได้ก่อนแสดงอาการ จะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และควบคุมอาหารตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม และอาจลดภาวะแทรกซ้อนของโรคได้ ตรวจไขมันในเลือด(Cholesterol และ Triglyceride) หากพบว่าสูงกว่าปกติจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เส้นเลือดสมองตีบ ความดันโลหิตสูง
  • การทำงานของไต เพื่อตรวจดูการทำงานของไต โดยวิเคราะห์หาค่า ยูเรียไนโตรเจน (BUN) ครีอะนิติน (Creatine) ซึ่งสารเหล่านี้เป็นของเสียที่เกิดจากกระบวนการเผาผลาญสารอาหารในร่างกายซึ่งขับถ่ายออกทางไต
  • การทำงานของตับ ตรวจดูเอ็นไซม์ของตับเพื่อดูสภาพของตับว่ามีการอักเสบหรือความผิดปกติของตับ การตรวจวัดระดับโปรตีนในเลือดเพื่อดูความผิกปกติที่อาจบ่งชี้ถึงสภาวะทุพโภชนาการและการตรวจวัดระดับสาร Bilirubin ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะเหลือง (ดีซ่าน)
  • สารบ่งชี้มะเร็ง มีทั้งสารบ่งชี้ของมะเร็งตับ มะเร็งระบบทางเดินอาหาร มะเร็งปากมดลูก มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งชนิดอื่นๆ
  • เอกซเรย์ทรวงอก (Chest X-RAY) ซึ่งโรคที่พบได้จากการตรวจเอกซเรย์ คือ วัณโรค ถุงลมโป่งพอง เนื้องอกในปอด โรคหัวใจและหลอดเลือด

นอกจากนี้ยังมีการตรวจพิเศษอื่นๆ ได้แก่ อัลตราซาวน์ช่องท้องส่วนบน อัลตราซาวน์ช่องท้องส่วนล่าง ตรวจคลื่นหัวใจไฟฟ้าขณะออกกำลังกาย และการตรวจวัดการได้ยินอย่างละเอียด การรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงมีชีวิตยืนยาว ควรประกอบด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะร่างกายคนเราย่อมเสื่อมไปตามกาลเวลา อย่ารอให้เกิดโรคก่อนแล้วค่อยหาทางรักษา เพียงสละเวลาตรวจสุขภาพตัวเองสักนิด เพื่อชีวิตที่มีความสุข

โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลสุขภาพ หรือโทร.1719

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง