โรคไขมันพอกตับ (Fatty Liver Disease) คือภาวะที่มีการสะสมของไขมันในเซลล์ตับมากเกินไป โดยการเกิดนั้นสัมพันธ์กับภาวะน้ำหนักเกินและไขมันในเลือดสูงหรือน้ำตาลในเลือดสูง ภาวะนั้อาจไม่มีอาการในระยะแรกแต่หากไม่ได้รับการดูแล จะนำไปสู่การสะสมของพังผืด (Fibrosis)ที่เกิดจากการซ่อมแซมความเสียหายภายในตับและเมื่อพังผืดสะสมในปรมาณมากก็จะนำไปสู่ภาวะตับแข็ง (Cirrhosis)ในอนาคต รวมทั้งยังเพิ่มความความเสี่ยงของการเกิดภาวะมะเร็งตับ(Liver Cancer)อีกด้วย
สาเหตุของโรคไขมันพอกตับ
1. การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป: การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากและเป็นเวลานานสามารถทำให้เกิดการสะสมของไขมันในตับ
2. ปัจจัยที่ไม่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์:
- โรคอ้วน: ผู้ที่มีดัชนีมวลกาย (BMI) สูงเกินมาตรฐานมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดไขมันพอกตับ
- เบาหวานชนิดที่ 2: ภาวะดื้อต่ออินซูลินสัมพันธ์กับการสะสมไขมันในตับ
- ไขมันในเลือดสูง: ระดับไตรกลีเซอไรด์สูงหรือคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) สูง
- ความดันโลหิตสูง: ความดันโลหิตที่สูงเกินมาตรฐาน
- การรับประทานอาหารที่มีพลังงานสูง: การบริโภคอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูงเป็นประจำ
อาการของโรคไขมันพอกตับ
ในระยะแรก ผู้ป่วยมักไม่มีอาการชัดเจน แต่เมื่อโรคพัฒนาขึ้น อาจมีอาการดังนี้:
- อ่อนเพลีย
- รู้สึกไม่สบายหรือแน่นท้องด้านขวาบน
- ตับโต (ตรวจพบโดยแพทย์)
หากโรคพัฒนาจนถึงระยะตับแข็ง อาจมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น ตัวเหลือง ตาเหลือง และท้องมาน

เมื่อไหร่ต้องพบแพทย์
เมื่อผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยมีภาวะไขมันพอกตับมีความจำเป็นต้องได้รับการประเมินความรุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการตรวจวัดปริมาณพังผืดในตับว่ามีมากน้อยเพียงใด แม้จะยังไม่มีอาการก็ตาม ดังนั้นจึงควรได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจเพิ่มเติมต่อไป ส่วนใหญ่วินิจฉัยจากภาพถ่ายรังสี โดยการตรวจอัลตร้าซาวน์เพื่อดูลักษณะของตับที่มีการสะสมของไขมันร่วมกับการตรวจค่าเอนไซม์ตับว่ามีการอักเสบหรือไม่ การตรวจเพิ่มเติมแพทย์พิจารณาดังนี้
1. การตรวจเลือด
- การตรวจการทำงานของตับ
- การตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบ Bและ C
- การตรวจเพื่อหาโรคร่วมต่างๆ เช่น ระดับน้ำตาลและน้ำตาลสะสมในเลือด,การตรวจวัดระดับไขมันในเลือดเป็นต้น
2. การตรวจวัดพังผืด
ปัจจุบันมีการตรวจประเมินพังผืดเรียกว่าการตรวจ Fibroscan หรือ Transient elastography วัตถุประสงค์เพื่อตรวจวัดความยืดหยุ่นของตับและนำไปแปลผลเป็นค่าปริมาณพังผืดในตับต่อไป สามารถทำได้ง่าย รวดเร็ว และไม่มีความเจ็บปวด โดยการใช้หัวตรวจแตะบริเวณผิวหนังของผู้ป่วยและส่งคลื่นเสียงสะท้อนไปยังบริเวณตับ
3. การเจาะชิ้นเนื้อตับ(Liver Biopsy)
ปัจจุบันใช้ค่อนข้างน้อย เนื่องจากมีเครื่องมืออื่นที่สามารถทดแทนโดยไม่ต้องทำการเจาะให้เกิดความเจ็บปวด แต่ในบางรายที่ไม่สามารถสาเหตุที่ชัดเจนของภาวะตับอักเสบอาจพิจารณาทำการเจาะชิ้นเนื้อตับเพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์ห้องปฏิบัติการ

การรักษาโรคไขมันพอกตับ
ปัจจุบันยังไม่มียาที่ได้รับการรับรองเฉพาะสำหรับการรักษาโรคไขมันพอกตับ การจัดการโรคมุ่งเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการรักษาปัจจัยเสี่ยง ดังนี้:
- การลดน้ำหนัก: การลดน้ำหนักอย่างค่อยเป็นค่อยไปสามารถลดการสะสมของไขมันในตับและลดการอักเสบได้
- การออกกำลังกายสม่ำเสมอ:
- การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์: หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง เน้นผัก ผลไม้ และธัญพืชไม่ขัดสี
- การควบคุมโรคประจำตัว: จัดการโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูงอย่างเหมาะสม
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์: เพื่อป้องกันการทำลายตับเพิ่มเติม
การป้องกันโรคไขมันพอกตับ
- รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ: ป้องกันการสะสมของไขมันในตับ
- ออกกำลังกายเป็นประจำ: เสริมสร้างการเผาผลาญและลดไขมันสะสม
- รับประทานอาหารที่สมดุล: ลดการบริโภคอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์: ลดความเสี่ยงต่อการเกิดไขมันพอกตับ
- ตรวจสุขภาพประจำปี: เพื่อเฝ้าระวังและตรวจพบภาวะไขมันพอกตับในระยะแรก
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมเป็นกุญแจสำคัญในการป้องกันและรักษาโรคไขมันพอกตับ
