ว่ากันว่าตับเปรียบเสมือนเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ใจกลางโรงงานอุตสาหกรรม ทำหน้าที่สารพัดอย่างเพื่อให้ระบบอยู่ในภาวะปกติ การรักษาสภาพตับให้ปกติจึงเป็นการรักษาระบบในร่างกายให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ทว่าเราอาจไม่รู้จักหน้าที่ตับมากพอจนละเลยการดูแลสุขภาพ ยิ่งไปกว่านั้นพอตับมีหน้าที่หลายอย่างตับก็เสี่ยงโรคตับและประสบปัญหาหลายอย่างได้เช่นเดียวกัน
ทำความรู้จักตับ อวัยวะสุดสำคัญที่ปล่อยให้พังไม่ได้
ตับเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่มากกว่า 500 อย่างเพื่อให้มนุษย์เราสามารถดำรงชีพในชีวิตประจำได้ นอกจากนี้ตับยังทำหน้าที่คล้ายต่อม คือ มีหน้าผลิตโปรตีนและฮอร์โมนบางชนิดที่จำเป็นต่อร่างกายเรา ตับมีรูปทรงคล้ายกรวย บ้างก็ว่าเหมือนธงทรงสามเหลี่ยม มีน้ำหนักประมาณ 1.3 ถึง 1.5 กิโลกรัมโดยเฉลี่ย เนื่องจากน้ำหนักและขนาดขึ้นอยู่กับส่วนสูงและน้ำหนักของร่างกาย ซึ่งตับนับว่าเป็นอวัยวะภายในที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย ในภาวะปกติตับจะอยู่บริเวณด้านขวาของร่างกายใต้กระดูกซี่โครง แต่ในผู้ที่มีภาวะอวัยวะกลับด้าน (situs inversus) ตับจะอยู่ฝั่งซ้าย
การทำงานและหน้าที่ของตับ
เราสามารถนิยามกระบวนการทำงานอย่างกว้าง ๆ ได้ทั้งการขับการขจัดของเสียออกจากเลือด การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และการสร้างสารอาหารที่จำเป็น โดยแต่ละกระบวนการล้วนแล้วแต่เป็นหน้าที่ที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตทั้งสิ้น ซึ่งหน้าที่ที่สำคัญทั้งหลายนั้นมีระบบการทำงานเด่น ๆ ของตับที่สามารถจำแนกได้ดังนี้
ตับทำหน้าที่ “สร้าง”
- สร้างอัลบูมิน (Albumin) อัลบูมินเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่เป็นสารรักษาการไหลเวียนของของเหลวในระบบไหลเวียนเลือด ทำหน้าที่ดึงสารชนิดน้ำต่าง ๆ ที่รั่วออกจากกระแสเลือดให้กลับเข้ามา รวมถึงเป็นตัวช่วยลำเลียงฮอร์โมน วิตามิน และเอนไซม์สำคัญสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
- สร้างน้ำดี (Bile) น้ำดีเป็นของเหลวในร่างกายอย่างหนึ่ง มีทำหน้าสำคัญในการช่วยย่อยไขมัน และช่วยดูดซึมไขมันในลำไส้เล็ก
ตับทำหน้าที่ “ควบคุม”
- ควบคุมกรดอะมิโน (Amino Acids) ในกระบวนการสร้างโปรตีน จำเป็นต้องอาศัยกรดอะมิโน ตับจะทำหน้าที่ควบคุมและกักเก็บระดับกรดอะมิโนในเลือดให้พอดีกับกระบวนการสร้างโปรตีน
- ควบคุมการแข็งตัวของเลือด (Blood Clotting) กระบวนการแข็งตัวของเลือดเป็นกระบวนการสำคัญในการสร้างลิ่มเลือด ซึ่งเป็นกลไกของการห้ามเลือด และสารที่ช่วยให้เลือดตัวจะต้องสร้างจากวิตามินเค (Vitamin K) และวิตามินเคเป็นสิ่งที่ดูดซึมได้จากน้ำดีที่ตับเป็นผู้สร้าง
ตับทำหน้าที่ “รักษา”
- รักษาวิตามินและแร่ธาตุ (Stores Vitamins and Minerals) ตับกักเก็บวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดใว้ใช้ในยามจำเป็นเช่น วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี วิตามินเค วิตามินบี12 ธาตุเหล็กและธาตุทองแดง
- รักษาระดับน้ำตาลกลูโคส (Processes Glucose) ตับทำหน้าที่กักเก็บน้ำตาลกลูโคสส่วนเกินในเลือดเอาไว้ในรูปของไกลโคเจน และเมื่อร่างกายต้องการพลังงานอย่างรวดเร็ว ตับก็จะเปลี่ยนไกลโคเจนที่เก็บไว้กลับมาเป็นกลูโคสให้ร่างกายได้นำไปใช้เป็นพลังงาน
ตับทำหน้าที่ “กรอง”
- กรองเลือด (Filters Blood) ตับเป็นตัวกรองสารพิษและของเสียต่าง ๆ ออกมาจากเลือดที่มาจากกระเพาะอาหารและลำไส้ส่งไปยังระบบขับถ่าย เช่นสารพิษจำพวก แอมโมเนีย แอลกอฮอล์ คาร์บอนเตตราคลอไรด์ และคลอโรฟอร์ม
- กรองเชื้อโรค (Resists Infections) ในกระบวนการกรองเลือด นอกจากการขับสารพิษออกไปยังระบบขับถ่ายแล้ว ตับยังกรองและกำจัดแบคทีเรียออกจากเลือดด้วย
ภาวะและโรคที่เกี่ยวข้องกับตับ
ตับเป็นอวัยวะที่ซับซ้อนและมีการทำงานหลายอย่าง ตับที่สุขภาพดีจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากตับได้รับความเสียหรือได้รับผลกระทบบางอย่างอาจก่อให้เกิดโรคตับหรือภาวะที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ยิ่งตับเสียหายจนไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ก็จะส่งผลกระทบไปยังระบบที่เกี่ยวข้อง เกิดเป็นปัญหาสุขภาพที่ส่งต่อกันเป็นทอด ๆ ซึ่งความเสียหายในตับอาจเกิดจากกลุ่มโรคต่อไปนี้
- โรคตับที่เกิดขึ้นจากการใช้หรือบริโภคสิ่งที่เป็นพิษต่อตับ เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป การรับหรือสัมผัสสารเคมีบางชนิด การใช้ยาบางชนิดเกินขนาดที่แนะนำ หรือใช้ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคตับชนิดต่าง ๆ เช่น โรคตับจากแอลกอฮอล์ alcohol-related liver disease (ARLD หรือ ALD) โรคตับแข็ง โรคไขมันพอกตับ
- โรคมะเร็งตับ เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในตับ สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยที่มาจากแอลกอฮอล์และปัจจัยอื่น ๆ
- โรคตับที่ได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ยกตัวอย่างเช่น ภาวะเหล็กเกิน หรือ hemochromatosis (Iron overload) ภาวะทองแดงคั่งในร่างกาย (Wilson disease)
- โรคตับจากระบบภูมิคุ้มกัน โรคตับในกลุ่มนี้เกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ส่งผลกระทบต่อเนื้อเยื่อและเซลล์ในตับ เช่น โรคตับอักเสบจากภูมิคุ้มกัน โรคท่อน้ำดีอักเสบชนิดปฐมภูมิ
- โรคตับจากการติดเชื้อ เช่น โรคไวรัสตับอักเสบเอ โรคไวรัสตับอักเสบบี โรคไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งโรคเหล่านี้อาจนำไปสู่การเป็นโรคตับแข็ง และนอกเหนือจากไวรัสตับอักเสบยังมีโรคพยาธิใบไม้ตับที่อาจส่งผลให้ท่อน้ำดีอักเสบ
7 วิธีรักษาตับให้สุขภาพดี ให้ทำหน้าที่ได้เต็มประสิทธิภาพ
เนื่องจากตับที่สุขภาพดีจะสามารถทำหน้าที่มีประสิทธิภาพ และการตรวจค่าตับหรือ liver function จะช่วยให้เรารู้เท่าทันสุขภาพตับของเรา แต่วิธีที่เบสิกที่สุดในการรักษาสุขภาพตับก็คือการรักษาสุขภาพร่างกายโดยรวมของร่างกาย เพราะการมีสุขภาพร่างกายที่ดีจะลดความเสี่ยงต่อความเสียหายในอวัยวะต่างในร่างกาย ไม่ใช่แค่ตับ อย่างไรก็ตามโรคตับหรือความเสียหายที่ตับ อาจมีสาเหตุจากพฤติกรรม โรค และภาวะบางอย่าง การเสริมสร้างสุขภาพตับให้ดีจึงมีข้อแนะนำดังนี้
- ออกกำลังเป็นประจำ เป็นการรักษาสุขภาพขั้นพื้นฐานที่เสริมสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อและอวัยวะต่าง ๆ รวมถึงตับด้วย
- ทานอาหารเพื่อสุขภาพ เช่นเดียวกับการออกกำลังกาย อาหารที่ดีต่อสุขภาพจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง โดยเฉพาะอาหารที่ไขมันต่ำจะช่วยลดการสะสมไขมันพอกตับได้
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเสพติด ใช้ยาผิดวัตถุประสงค์ หรือใช้ยาเกินขนาด ถึงแม้ตับจะสามารถขับสารส่วนเกินจากออกจากร่างกายได้ แต่การใช้ยาเหล่านี้ในระยะยาวอาจสร้างความเสียต่อการทำงานของตับและสุขภาพด้านอื่น ๆ ได้
- ควบคุมปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่นเดียวกับการขับของเสียจากยา แม้ตับจะสามารถขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย แต่ในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้ตับทำงานหนักและอาจไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ อาจเกิดการสะสมทำให้เป็นโรคตับ
- มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เช่น โรคไวรัสตับอักเสบบีและซี
- เลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น มีดโกน แปรงสีฟัน หรือของใช้ส่วนตัวอื่น ๆ ที่อาจทำให้ติดเชื้อทางเลือดได้
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรค ปัจจุบันมีวัคซีนไวรัสตับอักเสบเอและไวรัสตับอักเสบบี นอกจากนี้ยังมีวัคซีนป้องกันโรคที่อาจส่งผลต่อตับเช่น โรคไข้เหลือง และโรคมาลาเรีย โดยเฉพาะที่ผู้ต้องเดินทางไปต่างประเทศบ่อย ๆ สามารถติดต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อปรึกษาในการฉีดวัคซีน
ตับเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่หลายอย่างในระบบต่าง ๆ ซึ่งการที่ตับจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพก็ต้องอาศัยสุขภาพที่ดี แม้ตับจะเก่งแค่ไหนแต่สารพิษบางอย่างที่มากเกินไปก็อาจสร้างปัญหาให้ตับได้ไม่ใช่น้อย ๆ ยิ่งหากร้ายแรงจนกลายเป็นโรคตับชนิดต่าง ๆ คงจะดีเสียกว่าถ้าเราสร้างสุขภาพตับที่ดีตั้งแต่เนิ่น ๆ
หากมีข้อสงสัยสามารถทำนัด สอบถามข้อมูลหรือปรึกษากับทีมศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ ได้ที่ทุกช่องทางการติดต่อของโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา