ขึ้นชื่อว่ามะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นมะเร็งชนิดที่ตรวจพบได้บ่อยไม่แพ้มะเร็งชนิดอื่น ๆ การลุกลามยังส่งผลร้ายต่อการทำงานของระบบทางเดินอาหารและสามารถลามไปยังอวัยวะใกล้เคียงได้ ก่อนจะปล่อยให้มะเร็งกัดกินร่างกายไปเรื่อย ๆ หากสังเกตุอาการ สัญญาณเตือนจากร่างกายและพบแพทย์ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคทางเดินอาหารตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะสามารถตรวจคัดกรองและรักษาโรคได้ไวคลายกังวลว่าโรคจะร้ายแรงมากขึ้น
ทำความเข้าใจโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
เซลล์มะเร็งคือการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในระดับพันธุกรรม สามารถเจริญเติบโตได้หลายอวัยวะทั่วร่างกาย และแน่นอนว่าเซลล์มะเร็งสามารถเจริญเติบโตที่กระเพาะอาหารได้ จึงเรียกโรคมะเร็งชนิดนี้ว่า “มะเร็งกระเพาะอาหาร (gastric cancer หรือ stomach cancer)” มะเร็งชนิดนี้สามารถเกิดได้ทุกพื้นที่ของเยื่อบุกระเพาะอาหาร พัฒนาระยะโรคอย่างช้า ๆ และลุกลามเข้าไปภายในผนังกระเพาะอาหาร จนสามารถแพร่กระจายทะลุไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงเช่น ตับและตับอ่อน
การรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหารมักให้ผลลัพธ์ที่ดีในผู้ป่วยหลายราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ป่วยตรวจเจอก้อนมะเร็งในระยะที่ยังเป็นก้อนขนาดเล็กไม่ร้ายแรง แต่เคสที่ร้ายแรงและรักษาได้ยากมักเป็นเคสที่มะเร็งกระเพาะอาหารได้ลุกลามทะลุผนังกระเพาะอาหารไปยังอวัยวะที่อยู่ใกล้ ๆ กันแล้ว
มะเร็งกระเพาะอาหารมีอาการอย่างไรบ้าง ?
มะเร็งกระเพาะอาหารไม่ได้มีอาการที่ชัดเจนเสมอไปในระยะแรก ๆ แต่มักมีอาการที่ชัดเจนเมื่อลุกลามในระยะที่ร้ายแรง อาการที่เป็นสัญญาณโรคจากมะเร็งกระเพาะอาหารบางอย่างจะคล้ายคลึงกับโรคชนิดอื่น แพทย์จะวินิจฉัยอาการต่าง ๆ และหาต้นเหตุของอาการนั้นเพื่อวางแผนรักษา ในส่วนของอาการที่อาจมีสาเหตุมาจากโรคมะเร็งกระเพาะอาหารมักประกอบไปด้วย
- แสบร้อนกลางอก และอาหารไม่ย่อย
- น้ำหนักลดผิดปกติ
- ปวดท้อง
- ไม่อยากอาหาร
- มีภาวะกลืนลำบาก
- อ่อนเพลียเหนื่อยล้า
- คลื่นใส้อาเจียน หรืออาเจียนเป็นเลือดมีอุจจาระสีดำ
- ท้องอืด หรือรู้สึกมีแก๊สในกระเพาะเป็นประจำหลังทานอาหาร
- รู้สึกอิ่มแม้ทานอาหารเพียงนิดเนียว
อย่างที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้า มะเร็งกระเพาะอาหารสามารถลุกลามไปยังอวัยวะที่ใกล้เคียงได้ ซึ่งหากเป็นโรคมะเร็งถึงระยะนั้นแล้วผู้ป่วยอาจมีอาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะนั้น ๆ ได้เช่น หากมะเร็งลุกลามไปถึงต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง คนไข้อาจรู้สึกว่ามีก้อนบางอย่างอยู่ใต้ผิวหนัง หากมะเร็งลุกลามไปถึงตับอาจทำให้เกิดอาการตัวเหลืองตาขาวซีดเหลือง (ดีซ่าน) หากมะเร็งลุกลามไปในช่องท้องอาจมีของเหลวในช่องท้องทำให้ท้องบวม เป็นต้น
สาเหตุของมะเร็งกระเพาะอาหาร
การศึกษาเกี่ยวกับโรคมะเร็งกระเพาะอาหารปัจจุบันยังไม่ได้มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใดเป็นพิเศษ จุดเริ่มต้นของมะเร็งกระเพาะอาหารส่วนใหญ่คือเกิดความเสียหายบางอย่างที่เยื่อบุภายในกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจรวมถึงการติดเขื้อบางชนิดในกระเพาะอาหาร การเป็นกรดไหลย้อนบ่อยและมีระยะเวลายาวนาน การประทานอาหารเค็มจัด เป็นต้น อย่างไรก็ตามคนที่ทั้งมีหรือเป็น 1 ใน 3 สาเหตุนั้นก็ไม่ได้เป็นโรคมะเร็งกระเพาะเสมอไป
การแพร่กระจายของมะเร็งกระเพาะอาหารเริ่มจากเซลล์ในเยื่อบุกระเพาะอาหารเกิดความเสียหาย เป็นสาเหตุให้เซลล์เกิดความเปลี่ยนแปลงใน DNA ซึ่ง DNA ในเซลล์มีโครงสร้างที่คอยสั่งการกระบวนการทำงานของเซลล์ ความเปลี่ยนแปลงใน DNA จำทำให้โครงสร้างนั้นสั่งการให้เซลล์เพิ่มจำนวนอย่างรวดและดำรงชีพต่อไปแม้เซลล์ปกติจะตายไปตามวงจรชีวิต ด้วยเหตุนี้ทำให้เซลล์มะเร็งเริ่มแพร่กระจายลุกลามไปตามเนื้อเยื่อต่าง ๆ ทั่วกระเพาะอาหารไปจนถึงช่องท้อง ซึ่งก้อนเซลล์ที่ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จะกลายเป็นเนื้องอก
ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งกระเพาะอาหาร
แม้สาเหตุของการเกิดมะเร็งกระเพาะอาจจะไม่ชัดเจน แต่จากสถิติทางการแพทย์ ความเกี่ยวข้องกันบางอย่างของพฤติกรรมและสภาพร่างกาย สามารถเป็นปัจจัยเสี่ยงโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้เช่น
- คนที่สูบบุหรี่
- คนที่มีโรคกรดไหลย้อนเรื้อรัง (GERD)
- การรับประทานอาหารเค็มจัด และอาหารแปรรูป
- ขาดการรับประทานอาหารจำพวกผักและผลไม้
- มีภาวะกระเพาะอาหารอักเสบจากการติดเชื้อ Helicobacter pylori ในกระเพาะอาหาร
- คนที่มีผลตรวจหรือเคยตรวจเจอติ่งเนื้อที่ไม่ใช่เซลล์มะเร็งในกระเพาะอาหาร
- คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
- ตนหรือคนในครอบมีกลุ่มอาการที่เสี่ยงโรคมะเร็งกระเพาะอาหารหรือโรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ เช่น กลุ่มอาการ Lynch syndrome กลุ่มอาการ Polyposis syndrome ในเด็ก กลุ่มอาการ Peutz-Jeghers syndrome และกลุ่มอาการ Familial adenomatous polyposis เป็นต้น
มะเร็งกระเพาะอาหารตรวจวินิจฉัยอย่างไรบ้าง ?
การพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพหรือคัดกรองโรคมะเร็ง แพทย์จะซักประวัติสอบถามเกี่ยวกับอาการที่เป็น และอาจมีการทดสอบเพิ่มเติมกรณีที่มีอาการชนิดที่เป็นปัจจัยเสี่ยงโรคต่าง ๆ การตรวจโรคมะเร็งกระเพาะอาหารนั้นมีหลายวิธี และหลายเทคโนโลยีขึ้นอยู่กับผู้ป่วยและแพทย์ว่าสามารถใช้การตรวจคัดกรองแบบไหนถึงจะเหมาะสม ซึ่งมะเร็งกระเพาะอาหารสามารถตรวจเจอได้จากกระบวนการดังต่อไปนี้
- การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน หรือ Gastroscopy เป็นการตรวจที่ใช้บ่อยในกรณีของการคัดกรองมะเร็งกระเพาะอาหาร ขั้นตอนการตรวจแพทย์จะใช้ท่อติดกล้อง (Endoscopy) ที่มีลักษณะยืดหยุ่น ส่งลำกล้องเข้าไปทางปากจนสามารถส่องภายในกระเพาะอาหารเพื่อหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในกระเพาะอาหาร หากแพทย์พบติ่งเนื้อหรือสิ่งแปลกปลอมแพทย์ก็สามารถใช้เครื่องมือตัดติ่งเนื้อขนาดเล็กบนลำกล้องตัดติ่งเนื้อนั้น ๆ มาตรวจวิเคราะห์เพิ่มเติมได้
- การตรวจผ่านการส่องกล้องด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรือ Endoscopic Ultrasound เป็นการตรวจด้วยการถ่ายภาพจากคลื่นเสียงสามารถแสดงให้เห็นชั้นของกระเพาะอาหาร มักใช้เพื่อตรวจดูระยะของมะเร็ง ผลตรวจสามารถแสดงให้เห็นว่ามะเร็งกระเพาะอาหารเริ่มลุกลามจากเนื้อเยื่อในกระเพาะอาหารไปถึงชั้นผนังกระเพาะอาหารมากแค่ไหน
- การตรวจเทคโนโลยีรังสีวิทยา เป็นการตรวจหามะเร็งและระยะของมะเร็งในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายรวมถึงมะเร็งกระเพาะอาหารด้วยเทคโนโลยีรังสีเช่น การทำ CT-Scan การทำ MRI การทำ PET Scan โดยเฉพาะหากแพทย์แนะนำให้ทำร่วมกับการกลืนแป้งเพื่อทดสอบความผิดปกติของทางเดินอาหาร การทดสอบทางรังสีต่าง ๆ จะช่วยให้แพทย์สามารถวิเคราะห์พิจารณาความผิดปกติได้เฉพาะจุดและสังเกตุระยะของโรคได้
- การตรวจเลือด ในที่นี้หมายถึง การตรวจเลือดเพื่อตรวจวัดสภาพร่างกายในด้านต่าง ๆ ตามจุดประสงค์ของการตรวจเลือดชนิดนั้น เนื่องจากการตรวจเลือดไม่สามารถบอกว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้โดยตรง แต่ผลตรวจเลือดที่ไม่ดีมักมีความหมายว่าอวัยวะที่เกี่ยวข้องอาจกำลังเกิดความเสียหายบางอย่าง ยกตัวอย่างเช่น การตรวจเลือดวัดค่าเอนไซม์ในตับแล้วพบว่าค่าตับผิดปกติอาจมีสาเหตุมาจากความเสียหายของตับ หรือตับอาจได้รับผลกระทบจากการลุกลามของมะเร็งกระเพาะอาการ เป็นต้น อย่างไรก็ตามผลตรวจเลือดที่ไม่ดีไม่ได้หมายความว่าเป็นมะเร็งเสมอไป เพื่อการหาสาเหตุที่แน่ชัดแพทย์อาจแนะให้ตรวจโรคเพิ่มเติมเมื่อเจอค่าตรวจเลือดผิดปกติ นอกจากนี้ในระยะที่มะเร็งกระเพาะอาหารลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ บางกรณีที่ไม่สามารถตัดชิ้นเนื้อมาทดสอบได้แพทย์อาจใช้การตรวจเลือด circulating tumor DNA test เป็นการตรวจเพื่อหา DNA ของเซลล์มะเร็งที่อยู่ในกระแสเลือดเพื่อวางแผนรักษา
สรุปมะเร็งกระเพาะอาหารอันตรายมากแค่ไหน?
ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารหรือมะเร็งชนิดอื่น ๆ การรักษามักมีโอกาสหายได้ในระยะเริ่มต้น ดังนั้นการที่จะเข้ากระบวนการรักษาตั้งแต่ระยะที่ไม่อันตรายจำเป็นต้องอาศัยการคัดกรองมะเร็ง หากสามารถทำเป็นประจำทุกปีได้ก็จะสามารถตรวจจับโรคได้เร็ว ลดความเสี่ยงไม่ให้มะเร็งลุกลามจนร่างกายทรุดโทรม แต่ที่สำคัญไม่แพ้การตรวจคัดกรองมะเร็งคือการดูแลตัวเอง รักษาสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
หากมีข้อสงสัยสามารถทำนัด สอบถามข้อมูลหรือปรึกษากับทีมศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ ได้ที่ทุกช่องทางการติดต่อของโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา