Skip to content

กรดไหลย้อนคืออะไร ? รู้จัก GERD โรคไกล้ตัวที่หลายคนมองข้าม

อาการแสบร้อนกลางอก และแสบช่องคอจากกรดไหลย้อน

เมื่อเรารับประทานอาหาร เราทราบกันดีว่าเส้นทางที่ปกติของการลำเลียงสิ่งที่รับประทานจากปากไปกระเพาะอาหาร ต้องผ่านอวัยวะที่ตรงช่วงลำคอและอกเรียกว่า “หลอดอาหาร”เสียก่อน แต่ด้วยสาเหตุหลาย ๆ อย่าง เราอาจรู้สึกว่าแสบ ๆ ร้อน ๆ กลางอก อาการนั้นรู้จักกันดีในชื่อ “กรดไหลย้อน” ทั้งรบกวนและสร้างความไม่สบายกาย และถ้าหากเป็นอาการนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า อาจถึงเวลาที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อนจะก่อให้เกิดโรคที่ร้ายเกินกว่าที่เราคาดคิด

กรดไหลย้อนเป็นอาการแบบไหน สาเหตุเกิดจากอะไร?

กรดไหลย้อนเป็นภาวะที่น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปบริเวณหลอดอาหาร (Acid Reflux) ซึ่งอยู่ใกล้กับตำแหน่งหัวใจทำให้รู้สึกแสบร้อนบริเวณช่วงอก (Heartburn) แสบร้อนบริเวณลำคอหรือคอหอย อาการนี้เป็นอาการที่เกิดได้ง่าย พบได้ทั่วไปโดยเฉพาะช่วงหลังทานอาหารมื้อใหญ่ และเมื่อนอนราบทันทีหลังรับประทานอาหาร

โดยปกติแล้ว เมื่อเรารับประทานอาหาร อาหารจะถูกลำเพียงผ่านหลอดอาหาร ลำเลียงจากปากสู่กระเพาะอาหาร และที่บริเวณหลอดอาหารส่วนล่างติดกับกระเพาะอาหารจะมีกล้ามเนื้อที่เรียกว่า กล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง ทำหน้าที่คอยหดตัวและขยายตัวเพื่อเปิดทางให้อาหารและน้ำเคลื่อนที่ลงไปในกระเพาะอาหาร

ส่วนการที่กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนหลอดอาหารขึ้นมานั้นเกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดดังกล่าว เกิดการขยายตัวผิดจังหวะโดยเฉพาะตอนที่นอนราบหรืองอตัว ทำให้เพิ่มโอกาสทำให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปยังบริเวณหลอดอาหารมากขึ้น และเนื่องจากเนื้อเยื่อบริเวณหลอดอาหารไม่ได้ทนต่อการกัดกร่อนของกรดในกระเพาะ กรดจากระเพาะอาหารจึงทำให้เกิดการระคายเคืองอักเสบ และทำให้รู้สึกแทบร้อนกลางอก

อาการแสบร้อนกลางอกเนื่องจากกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อนเรื้อรัง (GERD) คืออะไร ?

กรดย้อนเป็นอาการที่พบได้ทั่วไปสามารถเกิดขึ้นกับทุกคนทุกเพศทุกวัย เมื่อเกิดขึ้นแล้วอาการแสบร้อนกลางอกจะหายไปในไม่กี่นาที ในบางคนที่แสบร้อนมาก ๆ อาจใช้เวลา 1-2 ชม. หรือจนกว่าอาหารจะย่อย โดยปกติกรดไหลย้อนจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว แต่หากเป็นอาการนี้ซ้ำ ๆ บ่อย ๆ เป็นมากกว่า 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ นั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคกรดไหลย้อนเรื้อรัง Gastroesophageal reflux disease (GERD) ผู้เป็นโรคนี้จะมีอาการแสบร้อนกลางอก (Heartburn) จากกรดไหลย้อน เช่นเดียวกันกับอาการที่พบได้ทั่วไป แต่โรคกรดไหลย้อนเรื้อรัง (GERD) เป็นภาวะที่น่าเป็นห่วงมากกว่า

อาการของโรคกรดไหลย้อนเรื้อรัง (GERD)

อาการหลัก ๆ ของโรคกรดไหลย้อนเรื้อรัง (GERD) คืออาการแสบร้อนกลางอก (Heartburn) ซึ่งอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยดังนี้

  • สำรอกอาหาร รู้สึกถึงรสขมของน้ำดีและรสเปรี้ยวจากกรดในกระเพาะ
  • ปวดตรงท้องส่วนบน หรือทรวงอก
  • กลืนลำบาก
  • รู้สึกถึงก้อนในลำคอ

หากเป็นกรดไหลย้อนตอนกลางคืนอาจมีอาการดังต่อไปนี้

  • ไออย่างต่อเนื่อง
  • กล่องเสียงอักเสบ
  • อาจเกิดอาการหอบ หรือผู้ที่เป็นโรคหอบหืดอาจมีอาการที่แย่ลง

ภาวะแทรกซ้อนและอันตรายจากโรคกรดไหลย้อนเรื้อรัง (GERD)

ทั้งกรดไหลย้อนและโรคกรดไหลย้อนเรื้อรัง (GERD) หากเป็นแล้วหายในระยะเวลาไม่นาน ปกติแล้วไม่เป็นอันตรายรุนแรง หรือถึงขั้นเสียชีวิตชีวิต แต่หากเป็นกรดไหลย้อนเรื้อรัง (GERD) ในระยะยาวมีโอกาสเกิดปัญหาสุขภาพที่อันตรายได้ เช่น

  • หลอดอาหารอักเสบ (Esophagitis) การระคายเคืองและการอักเสบของเยื่อบุหลอดอาหารจากการกัดกร่อนของกรดไหลย้อน ในระยาวอาจส่งผลให้เกิดการอักเสบรุนแรงถึงขั้นเป็นแผลเลือดออก ส่งผลให้เกิดอาการปวดแสบ ปวดร้อนกลางอก และกลืนลำบาก
  • หลอดอาหารตีบ (Strictures) ในบางรายที่เป็นกรดไหลย้อนเรื้อรัง การอักเสบอาจทำให้เป็นแผลเป็น (Scar) ในหลอดอาหาร และทำให้หลอดอาหารตีบแคบลง รบกวนการลำเลียงอาหารและน้ำไปยังกระเพาะอาหาร
  • ภาวะเยื่อบุหลอดอาหารเปลี่ยนสภาพ (Barrett’s esophagus) ภาวะนี้คือการที่เซลล์เยื่อบุหลอดอาหารเปลี่ยนสภาพเพื่อรองรับการกัดกร่อนจากกรดไหลย้อน ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นราว ๆ 10% ในคนที่เป็นกรดไหลย้อนเรื้อรัง (GERD) ยาวนานมากกว่า 1 ปี เซลล์เยื่อบุหลอดอาหารที่เปลี่ยนแปลงไปอาจมีความผิดปกติ และมีความเสี่ยงที่เซลล์เปลี่ยนสภาพไปเป็นเซลล์มะเร็ง ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งหลอดอาหาร
  • มะเร็งหลอดอาหาร (Esophageal cancer) เซลล์มะเร็งที่พัฒนาบริเวณหลอดอาหารเกิดขึ้นได้ 2 ชนิดหลัก ๆ คือ มะเร็งชนิดต่อม (Adenocarcinoma) บริเวณหลอดอาหารส่วนล่าง และมะเร็งผิวหนังชนิดสความัสเซลล์ (Squamous cell carcinomas) บริเวณหลอดอาหารส่วนกลางและส่วนบน ซึ่งมะเร็งที่หลอดอาหารส่วนล่างเป็นชนิดที่สามารถเกิดจากภาวะเยื่อบุหลอดอาหารเปลี่ยนสภาพจากการกัดกร่อนของกรดในกระเพาะอาหารได้ (Barrett’s esophagus)

การปรับพฤติกรรมและการรักษาอาการกรดไหลย้อน

โดยปกติอาการแสบร้อนกลางอกจากกรดไหลย้อนมักหายได้เอง ในผู้ที่เป็นกรดไหลย้อนบ่อย อาจรักษาด้วยยาจากเภสัชกรตามร้านขายยา แต่หากเป็นกรดไหลย้อนเรื้อรัง (GERD) มีอาการมากว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือเป็นเป็นซ้ำ ๆ ในหลายสัปดาห์ ทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เบื้องต้นแพทย์อาจรักษาด้วยยาสำหรับโรคกรดไหลย้อนโดยเฉพาะ พร้อมกับการแนะนำให้ปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันเช่น

  • ลดน้ำหนัก รักษาสุขภาพ เนื่องจากไขมันสะสมที่หน้าท้องอาจมีส่วนในการดันกระเพาะอาหารซึ่งมีโอกาสทำให้กรดไหลย้อน
  • เลี่ยงการใส่เสื้อรัดรูป ผัดที่รัดหน้าท้องอาจส่งผลให้กล้ามเนื้อหูรูดทำงานได้แย่ลง
  • เลิกบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่มีส่วนที่ทำให้หูรูดหลอดอาหารส่วนล่างด้อยประสิทธิภาพลง
  • ไม่นอนราบหลังทานอาหารทันที ควรรออย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง ช่วยลดโอกาสเป็นกรดไหลย้อนได้
  • เริ่มนอนด้วยการตะแคงซ้าย เมื่อเข้านอนหากเริ่มด้วยการตะแคงซ้ายจะช่วยลดโอกาสเป็นกรดไหลย้อนขณะนอนราบนอนได้
  • ชันหัวเตียง หมายถึง การทำให้เตียงหรือฟูกนอนชันขึ้น 6-9 นิ้ว เพื่อให้ร่างกายท่อนบนตั้งแต่ช่วงเอวยกสูงขึ้นช่วยลดโอกาสเป็นกรดย้อนได้ ซึ่งไม่ใช่การหนุนหมอนให้หัวสูง เพราะจะทำให้หัวยกสูงแต่ลำตัวยังนอนราบ

แม้กรดไหลย้อนจะเป็นปัญหาที่เล็กน้อย ไม่สบายอกไม่สบายตัว แต่เมื่อมีอาการอย่างต่อเนื่อง ปัญหาน้อย ๆ อาจก่อโรคที่อันตรายยิ่งกว่าแสบร้อนกลางอก หากสังเกตอาการแล้วพบว่าเป็นกรดไหลย้อนบ่อยผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางแก้ไข

หากมีข้อสงสัยสามารถทำนัด สอบถามข้อมูลหรือปรึกษากับทีมศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ ได้ที่ทุกช่องทางการติดต่อของโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา

ตรวจกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่ 

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง